หลังจากประกาศความสำเร็จ กับก้าวแรกในการรณรงค์ให้ผู้บริโภค เกิดความรู้ความเข้าใจ และสร้างความคุ้นชินกับการ “แยกขยะอย่างถูกวิธี” เมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ “ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น เปลี่ยนคุณขุ่น เป็นคุณถัง” ในเดือนสิงหาคม 2567 บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด เดินหน้าโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น ปี 2 “เปลี่ยนคุณขุ่น เป็นคุณต้นไม้” ขยายกลุ่มเป้าหมายสู่กลุ่มธุรกิจร้านกาแฟทั่วประเทศ ตั้งเป้าเก็บแกลลอนนมที่ใช้แล้ว ซึ่งผลิตด้วยพลาสติกชนิด HDPE หรือ High Density Poly Ethylene จากร้านกาแฟที่เข้าร่วมโครงการให้ได้จำนวน 50,000 แกลลอน ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2567
“โครงการ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของบริษัทฯ ในการ เพิ่มคุณค่าชีวิต หรือ Enriching Life โดยมุ่งสร้างประโยชน์ และสร้างความยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจตลอดห่วงโซ่ โดยการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของเรา ในฐานะของผู้ผลิตที่ต้องตระหนักถึง กลไกการใช้งานทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดภาระที่จะสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติให้ได้มากที่สุด” นางสาวชาลินี พูนลาภมงคล รองผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และความยั่งยืน ซีพี-เมจิ กล่าว
ในฐานะผู้ผลิตนมสดพาสเจอร์ไรซ์ที่มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย ซีพี-เมจิ เล็งเห็นว่า ภาชนะพลาสติกที่เป็นบรรจุภัณฑ์หลักของนมสดพาสเจอร์ไรซ์ อาจสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมจากการย่อยสลายที่ใช้เวลานาน และการเก็บทิ้งที่ไม่ถูกต้อง โครงการ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้บริโภคในการแยกขยะ และสร้างความเข้าใจในเรื่องการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะขยะพลาสติกชนิดขวดขุ่น ที่ทำจากพลาสติกที่มีความทนทานสูงชนิด HDPE สามารถนำวนกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้สูงสุดถึง 10 ครั้ง โดยนำไปเป็นสารตั้งต้นในการผลิตภาชนะพลาสติกรูปแบบใหม่ๆ ลดการใช้เม็ดพลาสติกใหม่ในการผลิตได้สูงสุดถึง 20%
ปี 2566 บริษัทฯ เปิดตัวโครงการ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น พร้อมตั้งเป้าหมายเก็บคืนแกลลอนนมที่ใช้แล้ว 15,000 แกลลอนจากผู้บริโภค ด้วยการจัดจุดรับทิ้งตามพื้นที่ชุมชนขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร ก่อนนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเป็นเม็ดพลาสติก R-HDPE และนำไปเป็นสารประกอบสำหรับผลิตถังขยะพลาสติกใหม่จำนวน 500 ใบ
“โครงการในปีแรก เราสามารถลดการใช้พลาสติกใหม่ในการผลิตถังขยะไปได้ 1,000 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,031 กิโลกรัมคาร์บอน และถังขยะที่ผลิตขึ้นนี้เรานำกลับไปมอบให้กับจังหวัดสระบุรี เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องของการแยกขยะ และการรีไซเคิล”
ในปี 2567 ซีพี-เมจิ เดินหน้าต่อ และวางเป้าหมายของโครงการไปที่กลุ่มธุรกิจคู่ค้าร้านกาแฟทั่วประเทศไทยที่ใช้ผลิตภัณฑ์นมในการทำเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ร้านกาแฟช่วยกันส่งแกลลอนเข้าสู่การรีไซเคิลอย่างถูกวิธีให้ได้ครบ 50,000 แกลลอน ซึ่งซีพี-เมจิ จะคืนกลับเป็นการปลูกต้นกาแฟ จำนวนทั้งหมด 1,000 ต้นในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในจังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของโรงงาน ซีพี- เมจิ ตามเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
“การแยกขวดพลาสติก และนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล จำนวน 50,000 แกลลอนในปีนี้ ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้กว่า 7,200 กิโลกรัมคาร์บอน ในขณะที่ปลูกต้นไม้ สามารถนำมาคำนวนเพื่อเก็บค่าการกักเก็บคาร์บอน ได้ปีละ 21,772 กิโลกรัมคาร์บอน ทั้งนี้ผลสัมฤทธิ์ดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายการลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามโครงการ สระบุรีแซนด์บ๊อกซ์ หรือสระบุรีเมืองคาร์บอนต่ำ ตามนโยบายของส่วนราชการและจังหวัดสระบุรีต่อไป” รองผู้อำนวยการบริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด กล่าว
กิจกรรมการปลูกต้นกาแฟเพื่อลดโลกร้อน ณ สถานีวนวัฒนวิจัยพระฉาย จ. สระบุรี มีผู้เข้าร่วมงาน ทั้งประชาชน ข้าราชการ นักเรียน และบาริสต้า จากร้านกาแฟทั่วประเทศ รวมกว่า 500 คน จัดขึ้นเพื่อเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ฉลองความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของ ซีพี-เมจิ รีไซขุ่น ปี 2 เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยผู้บริหารของซีพี-เมจิ มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อนเป้าหมายการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการสร้างการตระหนักรู้เรื่องของการแยกขยะ และการรีไซเคิลขยะอย่างถูกวิธีต่อสาธารณชนในวงกว้าง
“ในเรื่องของการคัดแยกขยะ เพื่อนำไปสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธี เป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ และจากความสำเร็จของโครงการตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซีพี-เมจิจะเดินหน้าโครงการนี้ ในปีต่อๆ ไป ตามเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่นของเรา ในการเพิ่มคุณค่าชีวิตให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ” นางสาวชาลินี กล่าว
#ซีพีเมจิรีไซขุ่น #ซีพีเมจิรีไซขุ่นปี2 #เปลี่ยนคุณขุ่นเป็นคุณต้นไม้ #ซีพีเมจิรีไซขุ่นเพิ่มคุณค่าชีวิต