HomeBig Featuredบทสรุป Subway ในไทย เกิดปัญหาอะไร – ทิศทางต่อไปเป็นเช่นไร

บทสรุป Subway ในไทย เกิดปัญหาอะไร – ทิศทางต่อไปเป็นเช่นไร

แชร์ :


กลายเป็นดราม่าที่ทำให้ผู้บริโภคตกอกตกใจและงงงวยกันยกใหญ่เมื่อ Subway เผยแพร่แถลงการณ์ในโซเชียลมีเดีย ระบุว่า “เนื่องจากตอนนี้เราได้รับข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพอาหาร วัตถุดิบขาด กระดาษห่อ ไม่มีพิมพ์ลาย Subway  กระดาษห่อลาย Subway สีเลอะติดอาหาร ขนมปังไม่ใช่ของ Subway และ อื่น ๆ เข้ามาเป็นจำนวนมาก จากการตรวจสอบพบว่าลูกค้าไปใช้บริการจากร้าน Subway ที่ถูกยกเลิกสิทธิ์ Franchise ไปตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ไปแล้ว”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

และนี่คือข้อสรุปของเรื่องราวดังกล่าว

1. Subway ก่อตั้งขึ้นในปี 1965 ในเมืองบริดจ์พอร์ต รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้ก่อตั้งคือ Fred DeLuca ในขณะที่เขามีอายุเพียง 17 ปี โดยเขาได้ขอคำปรึกษาจาก Dr. Peter Buck นักฟิสิกส์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นเพื่อนของครอบครัว เกี่ยวกับวิธีหาเงินเพื่อใช้ในการศึกษามหาวิทยาลัย Dr. Buck จึงให้ไอเดียเรื่องการเปิดร้านแซนด์วิช พร้อมให้เงินกู้จำนวน 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วย DeLuca เปิดร้านแซนด์วิชชื่อว่า “Pete’s Super Submarines”ร้านแซนด์วิชดังกล่าวได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค จนในปี 1968 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “Subway” และเริ่มขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ในช่วงทศวรรษ 1970s

2. จุดเด่นของ Subway ก็คือ ลูกค้าสามารถเลือกส่วนผสมเอง (customizable) ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาอาหารจานด่วนที่สามารถปรับแต่งได้ตามรสนิยมและเน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้น นอกจากนี้ Subway ยังมีสโลแกนที่ติดตลาดคือ “Eat Fresh” ที่เน้นความสดใหม่ของวัตถุดิบ โดยเฉพาะผักที่ใช้ในแซนด์วิช ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับฟาสต์ฟู้ดอื่น ๆ นั่นทำให้แบรนด์ Subway ได้รับความนิยมอย่างมาก กระทั่งปี 1984 Subway เริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยเปิดสาขาแรกในบาห์เรน ด้วยระบบ “กระจายสิทธิ์แฟรนไชส์” เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวในการขยายสาขา รวมทั้งความเข้าใจในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมและรสนิยมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ปัจจุบันนี้ Subway มีสาขามากกว่า 37,000 แห่งขายใน 100 ประเทศ 

 

ภาพจาก FB : Subway Thailand

 

3. ในประเทศไทย Subway เริ่มดำเนินธุรกิจตั้งแต่ปี 2546 โดยการเปิดสาขาแรกที่ถนนสีลม ภายใต้การจัดการของบริษัท ฟู้ด ฟอร์เวิร์ด  จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์แฟรนไชส์ของ Subway ในประเทศ อย่างไรก็ตาม โมเดลแฟรนไชส์ของ Subway ที่กระจายการถือสิทธิ์ให้ผู้ลงทุนรายย่อยหลายรายทั่วโลก แต่การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยกลับไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เนื่องจากความคุ้นเคยของคนไทยกับอาหารเช้าประเภทแซนด์วิชยังไม่สูงเท่ากับประเทศตะวันตก รวมถึงความนิยมในร้านอาหารจานด่วน (QSR) ประเภทอื่น ๆ ที่แข็งแกร่งกว่า ส่งผลให้ Subway ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และอีกประเด็นสำคัญก็คือ จุดเด่นของ Subway ที่ให้ลูกค้าเลือกสรรวัตถุดิบด้วยตัวเอง กลับก่อให้เกิดความยุ่งยากในการสั่ง ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน 

4. ต่อมาในปี 2565 Subway ได้ลงนามข้อตกลงมาสเตอร์แฟรนไชส์ใหม่ กับ บริษัท About Passion ตั้งเป้าหมายจะเปิดสาขาเพิ่มอีกกว่า 700 แห่งทั่วประเทศภายใน 10 ปีข้างหน้า โดยแผนการขยายตัวนี้มุ่งเน้นการเพิ่มช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงง่ายขึ้น ทั้งร้านรูปแบบ Grab & Go, ไดรฟ์ทรู และคีออสก์ เพื่อตอบรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

5. กระทั่ง เดือนเมษายน ปี 2566 บริษัท PTG Energy ทุ่ม 35 ล้านบาท ซื้อสิทธิ์การบริหาร Subway ในประเทศไทย โดยบริษัทลูกชื่อ บริษัท โกลัค จำกัด มีเป้าหมาย แก้ Pain Point เรื่องที่ลูกค้าคนไทยรู้สึกว่า “สั่งยาก” ด้วยการนำเสนอสูตรเมนูยอดนิยม 9 รายการ ลดทอนขั้นตอนให้ลูกค้าและพนักงาน แต่ถ้าลูกค้าที่ต้องการ customize เมนูเอาเองก็ทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังตั้งเป้าหมาย ปูพรม 500 ทำเล อาศัยพื้นที่ทั้งในและนอกปั๊ม PT ที่มีศักยภาพ วางเป้าหมายขยายสาขาปีละ 50 สาขาต่อปี 

6. เรื่องราวที่เกิดขึ้นทำให้ทราบว่าได้เกิดปัญหาระหว่าง Franchisee รายเดิมที่ไม่ได้ต่อสัญญากับผู้ถือสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในประเทศไทยโดยตรง แต่กลับดำเนินธุรกิจต่อ จึงทำให้ร้านที่ให้บริการมีวัตถุดิบบางอย่างขาดไป 

 

 

7.สำหรับสาขาที่เป็นแฟรนไชส์ของ Subway อย่างถูกต้อง มีราว 50 กว่าสาขา ขณะที่สาขาที่ทางเพจ Subway Thailand เผยแพร่ว่ามีลิสต์รายชื่อสาขาที่ปัจจุบันสิ้นสุดการเป็นผู้รับแฟรนไชส์กว่า 105 สาขา 

8. ทาง บ. โกลัค ระบุว่าจะดำเนินคดีกับผู้รับแฟรนไชส์ที่สิ้นสุดแล้ว พร้อมแจ้งว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการให้ร้านที่หมดสัญญายุติการใช้เครื่องหมายการค้า Subway โดยเร็วที่สุด

9.แม้จะมีเรื่องราววุ่นวายเกิดขึ้น แต่ บ.โกลัค ในฐานะของเจ้าของสิทธิ์ (Franchisor) Subway ในประเทศไทย ก็ยังเดินหน้าขยายสาขาใหม่อย่างต่อเนื่องราว 50 สาขาต่อปี ภายใต้แนวคิด “Fresh Forward 2.0” ด้วยงบลงทุนเฉลี่ย 5 ล้านบาทต่อสาขา หรือคร่าวๆ ก็คิดเป็นเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาทต่อปี พร้อมวางเป้าขึ้นแท่น TOP 3 ตลาด QSR ในไทยภายใน 3 ปี และยังตั้งเป้าระยะยาวที่ 500 สาขาภายใน 10 ปี 

10.หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของการเจาะตลาดคือ การขยายสาขารูปแบบใหม่ ที่เน้นบรรยากาศสดใสขึ้น และยังเปิดโอกาสให้นำเอกลักษณ์วัฒนธรรมไทยมาผสมผสานในการออกแบบ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ได้ใช้รูปแบบดังกล่าวในการเปิดให้บริการ โดยได้เปิดตัวเป็นสาขาแรกที่ CW Tower และยังเตรียมเปิดตัวตู้ Vending Machine เข้ามาเพิ่มเติมอีกด้วย

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

รูปภาพ/วิดีโอจาก Number 24 x Shutterstock Thailand พาร์ทเนอร์ชัตเตอร์สต็อกอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย
www.number24.co.th
#Number24xShutterstock


แชร์ :

You may also like