บมจ.การบินไทย ฟื้นตัวต่อเนื่อง สรุปผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ปี 2567 มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 45,828 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,820 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 37,008 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 23.8%
โดยมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 38,636 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่าย 29,289 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง 13,550 ล้านบาท คิดเป็น 35.1% ของค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว)
สรุปไตรมาส 3 มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 7,192 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาส 3 ของปี 2566 ซึ่งมีกำไร 7,719 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,829 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 10,119 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกำไรอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสุทธิ ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 12,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 707.4% ในขณะที่ปีก่อน กำไรสุทธิ 1,546 ล้านบาท
โดยมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 6,655 ล้านบาท
สรุปตัวเลขงวด 9 เดือน
สำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2567 การบินไทยมีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) ทั้งสิ้น 135,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีรายได้รวม 115,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2%
ขณะเดียวกันมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 111,617 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อนซึ่งมีค่าใช้จ่ายรวม 86,567 ล้านบาท คิดเป็น 28.9%
โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 24,193 ล้านบาท ต่ำกว่างวดเดียวกันของปี 2566 ที่กำไร 29,330 ล้านบาท หรือลดลง 17.5%
ทั้งนี้ มีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 14,233 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสุทธิเป็นรายได้รวม 5,273 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากปรับปรุงรายได้บัตรโดยสารที่หมดอายุ กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ และกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แต่มีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ส่วนใหญ่มาจากการบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินแบบแอร์บัส A380-800
ส่งผลให้การบินไทยมีกำไรสุทธิ 15,221 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 16,342 ล้านบาท หรือลดลง 6.9% มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบินรวมค่าเช่าเครื่องบินจากการใช้เครื่องบินที่เกิดขึ้นจริง (Power by the Hours) 25,056 ล้านบาท ลดลง 21% เทียบปีก่อน
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 การบินไทยมีเครื่องบินใช้งานทั้งสิ้น 77 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินลำตัวแคบ 20 ลำ และเครื่องบินลำตัวกว้าง 57 ลำ โดยมีการรับเครื่องบินลำตัวกว้างจากการเช่าดำเนินการเข้ามาในฝูงบิน จำนวน 2 ลำ ในช่วงเดือนตุลาคม 2567 รวมเครื่องบินที่รับเพิ่มในปีนี้ทั้งหมดจำนวน 9 ลำ
โดยมีอัตราการใช้เครื่องบินเฉลี่ย 13.0 ชั่วโมงต่อลำต่อวัน มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19.2% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) เพิ่มขึ้น 15.3% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 77.4% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 80.0% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.7%
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567 การบินไทยและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 263,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 24,752 ล้านบาท หรือ 10.4% หนี้สินรวมจำนวน 291,684 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 9,551 ล้านบาท หรือ 3.4% ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และบริษัทย่อยติดลบจำนวน 27,941 ล้านบาท ติดลบลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จำนวน 15,201 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่เป็นบวก
การบินไทยมีเงินสด ตั๋วเงินฝาก เงินฝากประจำที่มีระยะเวลาที่ครบกำหนดชำระมากกว่า 3 เดือน แต่ไม่เกิน 1 ปี และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดภายใน 1 ปี 82,587 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2567
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 การบินไทยได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3,531 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2568
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE