นับตั้งแต่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในโลกการเงิน ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น จนพฤติกรรมการใช้เงินสดลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะ Gen Z จะเห็นได้จากเวลาผู้บริโภคซื้อของมักจะถามว่าสแกนจ่ายได้ไหม และนี่เองที่เป็นเหตุให้ตลาด E-Payment เติบโตแบบก้าวกระโดด จนมีหลายแบรนด์กระโดดเข้าสู่สนามการแข่งขันนี้กันอย่างคึกคัก
อย่างล่าสุดคือ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาติ (ttb) ได้ปั้นแอป “ttb smart shop” มาเจาะกลุ่มธุรกิจโดยเฉพาะ จนปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 10,000 ราย และตั้งเป้าปีหน้าจะเติบโตขึ้นเท่าตัว จึงน่าสนใจว่าในฐานะผู้เล่นน้องใหม่ ttb จะใช้หมัดเด็ดอะไรขยายฐานลูกค้า Brand Buffet พามาศึกษากลยุทธ์การเจาะตลาดของ ttb กับ “คุณศรัณย์ ภู่พัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ และ “คุณกนกพร จูฑา” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจ ทีเอ็มบีธนชาต
10 ปี ตลาด E-Payment โต 18 เท่า
จุดเริ่มต้นของการเข้ามาบุกตลาดนี้ คุณศรัณย์ เล่าว่า เริ่มมาจากการเห็นพฤติกรรมการใช้เงินสดของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาทำธุรกรรมการเงินผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น จากข้อมูลของ Visa พบว่า 8 ใน 10 ของผู้บริโภคสามารถใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพกเงินสดได้นานถึง 9 วัน สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคใช้เงินสดน้อยลงเรื่อยๆ บวกกับเห็น Pain Point ของคนทำธุรกิจทุกวันนี้ต้องเจอความยุ่งยากในการบริหารจัดการการรับเงินมากมาย หลังโควิดจึงตัดสินใจพัฒนาแอป ttb smart shop มาให้บริการ โดยเน้นเจาะลูกค้าธุรกิจเป็นหลัก
ผลปรากฏว่า ลูกค้าตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 10,000 ราย โดยยอดลูกค้า Active อยู่ที่ 75% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 9.5% และปีนี้เติบโตเพิ่มขึ้น 55% โดยตั้งเป้าปีหน้าจะเติบโตขึ้นเป็นเท่าตัว”
คุณศรัณย์ ย้ำเป้าหมาย และบอกสาเหตุที่ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถเพิ่มการเติบโตเป็นเท่าตัวว่า มาจากการเติบโตของตลาด E-Payment ในไทยเพิ่มมากขึ้น จากผลสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่า และในปี 2023 การทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับปี 2020 โดยมีจำนวน QR Scan ทั้งประเทศกว่า 300 รายการต่อเดือน คิดเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท
และที่น่าสนใจคือ คนไทยครึ่งประเทศใช้บริการชำระเงินออนไลน์ โดยธุรกิจที่มีการชำระเงินผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น
อันดับ 1 อาหารและเครื่องดื่ม 79%
อันดับ 2 และ 3 คือ ร้านค้าปลีก และร้านสะดวกซื้อ 67%
อันดับ 4 ซูเปอร์มาร์เก็ต 64%
อันดับ 5 บริการขนส่ง 60%
เพราะมาทีหลัง จึงต้องสู้ด้วย “จุดยืน” และ “ฟีเจอร์” ที่แตกต่าง ตรงใจธุรกิจ
แม้ตลาด E-Payment จะเติบโตต่อเนื่อง แต่เมื่อมาดูการแข่งขันก็ค่อนข้างสูงเช่นกัน โดยปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาด 7 ราย ซึ่งคุณกนกพร ยอมรับว่า ttb smart shop ยังเป็นน้องใหม่ในตลาด และนั่นทำให้ ttb smart shop วางจุดยืนแตกต่างจาก E-Payment ในตลาด โดยไม่ได้เป็นแค่ “แอปพลิเคชันรับเงิน” แต่ต้องการเป็น “ผู้ช่วยธุรกิจบริหารจัดการร้านค้า” อย่างมีประสิทธิภาพครบวงจร เพื่อพาธุรกิจเติบโตและแข่งขันได้
เมื่อวางตัวเป็นผู้ช่วยบริหารจัดการร้านค้า ttb จึงนำ Pain Point ที่ธุรกิจต้องเจอมาเป็นหลักคิดในการออกแบบฟีเจอร์ จึงทำให้ฟีเจอร์ของ ttb smart shop ออกมาแตกต่าง และตอบสนองการใช้งานของธุรกิจด้วย โดยเจ้าของธุรกิจจะได้รับเงินเข้าบัญชีทันที เมื่อลูกค้าสแกนชำระเงินสำเร็จ โดยไม่ต้องรอสิ้นวัน ทั้งยังแสดงข้อมูลการขายแบบเรียลไทม์ และสำหรับธุรกิจที่มีหลายสาขา สามารถจะเห็นยอดเงินชัดเจนแยกรายสาขา รวมถึงนำ Big Data มาทำ Analytic Report เพื่อสร้างรายงานเชิงลึกให้ธุรกิจสามารถนำไปใช้วางแผนธุรกิจได้ทันท่วงที
“ปกติหากธุรกิจจะใช้ฟังก์ชันเหล่านี้ ต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก แต่เราสามารถนำเทคโนโลยีมาพัฒนาฟีเจอร์เหล่านี้ให้สอดรับกับความต้องการใช้งานของเจ้าของธุรกิจได้ทั้งหมด”
คุณกนกพร เชื่อว่า ด้วยจุดเด่นของ ttb smart shop หากลูกค้าได้ลองใช้งาน จะเห็นความต่างและหันมาใช้งานมากขึ้น ดังนั้น ทิศทางการทำตลาดนับจากนี้ ttb จึงวางแผนขยายการรับรู้ถึงการใช้งานฟีเจอร์กับลูกค้ามากขึ้น พร้อมกับเปิดตัว “ปัง ปัง” ผู้ช่วยแสนฉลาด เพื่อเป็นตัวแทนในการสร้างการจดจำกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ มาเพิ่มเติมในแอปอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามูลค่าการทำธุรกรรมการเงินที่ทำผ่าน ttb smart shop ปีนี้จะอยู่ที่ 5,700 ล้านบาท
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE