โดนัล ทรัมป์ คว้าชัยชนะ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 สำเร็จ และเป็นการ “กลับมาครั้งที่ 2” หลังจากพ่ายแพ้ให้กับโจ ไบเดนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 โดยศึกการเลือกตั้งครั้งนั้นยังนำไปสู่กรณีอื้อฉาวกับภาพของผู้ประท้วงจำนวนมากไปรวมตัวกันก่อเหตุจราจลที่กรุงวอชิงตันในวันที่ 6 มกราคม 2021 ด้วย
สำหรับประวัติของโดนัลด์ ทรัมป์ที่หลายคนรู้จักก็คือการเป็นนักธุรกิจในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์วัย 78 ปีที่มาพร้อมการพูดจาโผงผาง และมีตัวตนที่น่าสนใจ ซึ่งความเป็นนักธุรกิจของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ แต่เขายังทำรายการเรียลลิตี้โชว์อย่าง The Apprentice ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากมาแล้วด้วย
โดนัลด์ ทรัมป์สนใจและลงเล่นการเมืองอย่างเป็นทางการในศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาปี 2016 โดยสามารถเอาชนะฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครตได้สำเร็จ พร้อม ๆ กับข่าวอื้อฉาวในการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อประชาสัมพันธ์แคมเปญต่าง ๆ ของตนเอง ซึ่งกล่าวกันว่า เหตุการณ์ครั้งนั้นได้นำไปสู่ความแตกแยกของสังคมอเมริกันชนิดร้าวลึก
นอกจากนี้ หลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดี มีจุดยืนหลาย ๆ ข้อของเขาที่นำไปสู่ความขัดแย้งกับประเทศต่าง ๆ เช่น กรณีการกีดกันการค้ากับจีน ที่ทำให้แบรนด์อย่างหัวเว่ย (Huawei) และ ZTE ไม่สามารถทำตลาดในสหรัฐอเมริกาได้ รวมถึงมีการควบคุมตัวเมิ่ง หวันโจว ผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ยไว้ที่ประเทศแคนาดา จนทำให้สถานการณ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดอย่างเห็นได้ชัด
และในการเลือกตั้งปี 2020 ซึ่งมีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกานั้น ยังทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ถูกผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสัญชาติอเมริกัน เช่น Facebook, Twitter (ปัจจุบันคือ X.com), YouTube แบนออกจากแพลตฟอร์มจนต้องไปพัฒนาบริการของตนเองขึ้นมาแทนในชื่อ Truth Social ด้วย
อย่างไรก็ดี หลังจากผลการเลือกตั้งชี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 สำเร็จ ในอีกด้านหนึ่งก็มีรายงานว่า มูลค่าหุ้นของบริษัทที่พัฒนา Truth Social ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6% เลยทีเดียว
ทรัมป์คัมแบ็ก “ไทย” เจอทั้งโอกาสและความท้าทาย
ด้านความเห็นจากผู้คร่ำหวอดในแวดวงเศรษฐกิจอย่าง ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พ.ย. 2024 กำลังจะส่งผลให้เกิดความผันผวนและความเปลี่ยนแปลง ที่ท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2025 โดยในด้านบวกพบว่า
(1) เศรษฐกิจโลกจะรอดจากภาวะถดถอย เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจะกระตุ้นให้ธุรกิจในสหรัฐฯ เพิ่มการจ้างงานและปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตขึ้น
(2) ราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลงจากนโยบายส่งเสริมการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ และการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศในตะวันออกกลางและรัสเซีย เป็นผลดีต่อประเทศที่นำเข้าพลังงานอย่างไทยและจะช่วยลดค่าครองชีพของคนในประเทศ
(3) มีการย้ายฐานการลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น เพราะภาษีการค้าที่กำหนดต่อจีนจะกระตุ้นให้บริษัทจีนย้ายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น ช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล
ส่วนในด้านลบ ดร.อมรเทพ ให้ความเห็นว่า
(1) การส่งออกของไทยเสี่ยงโตช้า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และความกังวลว่าการค้าระหว่างประเทศจะหยุดชะงัก
(2) ต้นทุนกู้ยืมของรัฐบาลจะอยู่ระดับสูงตามความเสี่ยงทางการคลัง ไม่ใช่เพียงแต่ในสหรัฐฯ แต่รวมถึงไทยด้วย เพราะอัตราผลตอบแทนพันบัตรรัฐบาลมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน
(3) รายได้ภาคเกษตรของไทยเสี่ยงลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก กดดันให้อุปสงค์ในประเทศไทยอ่อนแอตาม
4 ประเด็นเศรษฐกิจต้องจับตา
นอกจากนั้น ดร.อมรเทพยังได้วิเคราะห์ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ที่น่าจับตาใน 4 ประเด็น ดังนี้
โลกาภิวัตน์ตีกลับ – การค้าโลกหยุดชะงัก
ภายใต้นโยบายภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์และข้อจำกัดทางการค้า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทรัมป์จะกำหนดภาษีนำเข้า 60% สำหรับสินค้าจีน ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศลดฮวบ บริษัทจีนจะเผชิญแรงกดดันหนักขึ้น เกิดการไหลออกของเงินทุน การย้ายฐานอุตสาหกรรม และบางบริษัทอาจย้ายมาไทย ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของจีน
สำหรับบริษัทจีนที่ดำเนินงานในไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอยู่แล้วไม่น่าจะถูกกระทบทางตรง ส่วนผู้ผลิตจีนที่โยกย้ายมาไทยเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องจักร
แม้การเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตของจีนในภูมิภาค แต่การย้ายฐานนี้จะไม่สามารถชดเชยการลดลงของการค้าของโลกได้ การค้าภูมิภาคจะชะลอลง เพราะเมื่อจีนส่งออกลดลง จีนจะลดการนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสช่วงชิงสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐฯ มากขึ้น หรือแย่งส่วนแบ่งการตลาดของจีนในสหรัฐฯ ที่ลดลง แม้ว่าไทยจะเผชิญภาษีนำเข้า 10% แต่สินค้าไทยจะยังคงมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯ
กรณีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คาดว่าส่งออกของไทยจะขยายตัวราว 1.0% แทนที่จะอยู่ที่ระดับ 2.6% ขณะที่กรณีแฮร์ริสชนะ ไทยต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยในฐานะผู้เล่นในภูมิภาคอาเซียนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใดต้องระมัดระวังในการจัดการด้านความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐฯ และจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการตกอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น
ไทยสามารถเพิ่มบทบาทในเวทีโลกโดยใช้แพลตฟอร์มอาเซียนเพื่อส่งเสริมการค้าขายและการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งใช้ความเข้มแข็งของอาเซียนดึงดูดการลงทุนต่างชาติ (FDI) ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากสหรัฐโดยใช้อาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรอง
นอกจากนี้ ไทยสามารถร่วมมือกับอาเซียนในการสกัดสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน ที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐานหรือมีจุดประสงค์ในการทุ่มตลาด จนกระทบ SMEs และทำให้ภาคการผลิตของไทยอ่อนแอลง
อย่าคิดว่าบาทจะแข็งลากยาว
กรณีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แม้ Fed อาจปรับลดดอกเบี้ยลงมากกว่าที่คาดไว้เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ รอดพ้นจากภาวะถดถอยจากสงครามการค้า ดอลลาร์สหรัฐน่าจะอ่อนค่าตามทิศทางดอกเบี้ยที่ลดลง แต่คาดว่าตลาดจะให้น้ำหนักกับความเสี่ยง รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อาจยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนที่สูงจะทำให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดเกิดใหม่และนำเงินกลับไปถือดอลลาร์สหรัฐฯ แทน ทำให้ดอลลาร์แข็ง บาทอ่อน โดยคาดว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงถึงระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปลายปี 2025 เงินบาทอ่อนค่าจะทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรและวัตถุดิบ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายตาม Fed เพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ แม้จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก ซึ่งธปท. อาจให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการควบคุมเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ การไหลออกของเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย จะเพิ่มความผันผวนทางการเงิน ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลและธุรกิจอยู่ในระดับสูง
ในทางตรงข้าม หากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง Fed จะทยอยปรับลดดอกเบี้ยตามทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลง นักลงทุนจะลดความสนใจในเงินดอลลาร์ลง เงินบาทน่าจะแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปลายปี 2025
เศรษฐกิจสหรัฐฯ รอดจากภาวะถดถอย
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่น่าเผชิญภาวะถดถอยในปี 2025 และอาจเติบโตได้เหนือระดับ 2.0% มากกว่ากรณีแฮร์ริสชนะเลือกตั้ง แต่คงโตได้ดีระยะสั้น เพราะนโยบายหลายอย่างของทรัมป์จะนำไปสู่การเติบโตที่ช้าลงในระยะกลางถึงระยะยาว รวมทั้งความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้นในปีถัดๆ ไป
นโยบายของทรัมป์ที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือการลดภาษีนิติบุคคล จาก 21% เป็น 15% ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจในสหรัฐฯ จ้างงานหรือเพิ่มค่าแรงขึ้น อันจะช่วยชดเชยค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้า
อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และจะทำให้ค่าแรงที่แท้จริง หรือค่าแรงที่ได้รวมคาดการณ์เงินเฟ้อไว้แล้ว กลับมาลดลงได้ในระยะต่อไป ในขณะที่ทรัมป์ไม่น่าจะปรับลดรายจ่ายภาครัฐแม้รายรับภาษีลดลง ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเกิดความไม่สมดุลทางการคลังในระยะยาว
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจะทรงตัวในระดับสูงกระทบต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนและการระดมทุนของภาคธุรกิจ ราคาสินค้าจึงปรับตัวสูงขึ้นทำให้เงินเฟ้อยังจะอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมาย แต่ที่ราคาสินค้าและบริการยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ก็เพราะอุปสงค์ในสหรัฐฯ จะยังแข็งแกร่งในปี 2025 จากมาตรการของทรัมป์
ราคาน้ำมันดิ่ง
ทรัมป์น่าจะสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐ และสหรัฐมีน้ำมันดิบสำรองในปริมาณมากพอจะใช้ในประเทศและส่งออกได้ โดยทรัมป์ไม่น่ากังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือภาวะโลกร้อน รวมทั้งมองว่าเทคโนโลยีในการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐฯ ที่ก้าวหน้าจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ อีกทั้งคนอเมริกันจะสามารถใช้พลังงานในราคาที่ถูกลงส่งผลดีต่อเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่น่าจะลดลงตาม
ขณะที่ภาคต่างประเทศ ทรัมป์จะเจรจาหาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศตะวันออกกลางและรัสเซียเพื่อยุติสงคราม เมื่อความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์คลี่คลายลง อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีเสถียรภาพจะทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกปรับตัวลดลง
สำหรับประเทศไทย ราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ทำให้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรจะลดลงตามต้นทุนพลังงานและปุ๋ย และปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรไทย ทำให้กำลังซื้อลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่ออุปสงค์ภายในประเทศให้อ่อนแอลง
ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเฉลี่ยที่ระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในกรณีที่ทรัมป์ชนะเทียบกับระดับ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในกรณีที่แฮร์ริสชนะ
เศรษฐกิจไทยใต้เงาทรัมป์
เศรษฐกิจไทยภายใต้นโยบายการค้าและนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ น่าจะมีความผันผวนมากกว่ากรณีของแฮร์ริส โดยเฉพาะจากความพยายามลดทอนอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะกดดันการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ สำนักวิจัยฯ มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2025 จะขยายตัวได้เพียง 2.5% ในกรณีของทรัมป์ เทียบกับ 3.2% ในกรณีของแฮร์ริส โดยคาดว่า นอกจากการส่งออกที่จะชะลอและกดดันการลงทุนภาคเอกชนให้เติบโตช้าลงแล้ว ความต้องการในประเทศจะอ่อนแอตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง โดยเฉพาะ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคการเกษตรทั่วประเทศ รวมทั้งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ชนบทจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลดลงของกำลังซื้อ แต่เชื่อว่าการบริโภคภาคเอกชนยังเติบโตได้ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและจากมาตรการแจกเงินของรัฐบาล
ในส่วนของมาตรการทางการเงิน มองว่า ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศและลดความเสี่ยงด้านภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ แม้การลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าและเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่อสินค้านำเข้ามากขึ้นก็ตาม สำนักวิจัยฯ มองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ระดับ 1.25% ในกรณีของทรัมป์ เทียบกับที่ระดับ 1.50% ในกรณีของแฮร์ริสนั่นเอง