จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือ Google Cloud เปิดตัว Generative AI ในชื่อ ‘ChulaGENIE’ คาดเปิดให้คณาจารย์และบุคลากรใช้งานได้ในเดือนมกราคม 2568 และเปิดให้นิสิตทุกคนใช้ภายในเดือนมีนาคม 2568
สำหรับชื่อ ChulaGENIE ย่อมาจาก ‘Chula’s Generative AI Environment for Nurturing Intelligence and Education’
โดยตัวโปรแกรมเปิดให้ผู้ใช้สามารถค้นหาและเลือกใช้โมเดล AI ต่าง ๆ ได้ เช่น ในระยะแรก ผู้ใช้สามารถใช้งาน Gemini 1.5 Flash หรือ Gemini 1.5 Pro (ของ Google) ได้ และในอนาคตอันใกล้ จะมีตัวเลือกในการใช้โมเดล Claude จาก Anthropic และโมเดล Llama จาก Meta ด้วย
ChulaGENIE ทำอะไรได้บ้าง
ส่วนความสามารถของ ChulaGENIE มีตั้งแต่การช่วยอธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่ายขึ้น, การสร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ การรองรับการอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อน (เช่น ไฟล์ตาราง, แผนภูมิ, ภาพประกอบ, ไฟล์ PDF หรือไฟล์เอกสารที่มีความไม่เกิน 1.4 ล้านคำ) เพื่อนำไปวิเคราะห์เชิงลึกได้ด้วย (เหมาะสำหรับนักวิจัยที่ต้องการสรุปวรรณกรรมทางวิชาการ หรือทำการวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่)
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “การจับมือกับ Google Cloud และเข้าใช้แพลตฟอร์ม Vertex AI ทำให้จุฬาฯ สามารถพัฒนา ChulaGENIE ได้ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแอปพลิเคชัน Generative AI สำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา”
ทั้งนี้ จุฬาฯ เตรียมเพิ่มฟังก์ชันใหม่บน ChulaGENIE ด้วย เช่น
- ตัวช่วยด้านการวิจัย ที่ถูกปรับแต่งในประเด็นเฉพาะ สำหรับช่วยอาจารย์และนิสิตในการเชื่อมโยง หรือค้นหาความเชื่อมโยงในงานวิจัย รวมถึงเสนอคำถามหรือสมมติฐานใหม่ ๆ ได้
- ตัวช่วยด้านการศึกษา ที่พัฒนาจากตำรา หรือฐานข้อมูลด้านการศึกษาและอาชีพ พร้อมข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อพิจารณาด้านจริยธรรม ช่วยให้นิสิตได้รับคำแนะนำที่ปรับให้เหมาะสมและเป็นเฉพาะบุคคลในการเลือกหลักสูตรและการวางแผนเส้นทางอาชีพได้
- ตัวช่วยด้านการบริหารและธุรการ ที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามในประเด็นต่าง ๆ เช่น การสมัครเรียน การลงทะเบียน ทุนการศึกษา การจัดการอาคารสถานที่ หรือการสนับสนุนด้าน IT เป็นต้น
มี Vertex AI ช่วยกรองเนื้อหา
ทางมหาวิทยาลัยเผยด้วยว่า มีการนำระบบกรองเนื้อหาของ Vertex AI และนโยบาย AI ของจุฬาฯ มาใช้ออกแบบ ChulaGENIE เพื่อป้องกันไม่ให้ตอบ หรือสร้างเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือเป็นอันตรายด้วย
รวมถึงป้องกันไม่ให้ ChulaGENIE เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจเช่นกัน
ส่วนของกาารใช้งาน พบว่า โมเดลดังกล่าวสามารถวิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่เพื่อค้นหาช่องว่างหรือจุดที่ควรปรับปรุงได้อีกด้วย และเพื่อให้การใช้งาน AI ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางสถาบันได้มีการจัดอบรมคอร์ส Google AI Essentials ให้กับบุคลากร คณาจารย์ และนักศึกษาโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งในปัจจุบันมีผู้สำเร็จหลักสูตรนี้แล้วกว่า 800 คน
คุณอรรณพ ศิริติกุล Country Director, Google Cloud ประเทศไทย กล่าวว่า “แพลตฟอร์ม Vertex AI ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ อย่างเช่น จุฬาฯ สามารถนำ Responsible AI ไปใช้ได้จริง การเปิดตัว ChulaGENIE อย่างรวดเร็วของจุฬาฯ เชื่อว่าจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการวิจัยและวิชาการ ซึ่งในท้ายที่สุดจะสร้างประโยชน์ให้กับสังคมไทยในระยะยาว”