เนื่องด้วย กระทรวงพลังงาน โดย กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จัดกิจกรรมประกวดนวัตกรรมด้านพลังงานและพลังงานทดแทนภาคประชาชน เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา หัวข้อ “อยู่ดี ทวีผลิตผล” นวัตกรรมพลังงานสร้างสุขประชาชน เชิญชวนประชาชนทั่วไปที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ส่งผลงานการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสำหรับภาคครัวเรือน ชุมชนและภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย ที่มีองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน สามารถนำไปพัฒนาใช้งานได้จริง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทนวัตกรรมพลังงานด้านการส่งเสริมภาคครัวเรือน ชุมชน และประเภทนวัตกรรมพลังงานด้านการส่งเสริมภาคเกษตรกรรม ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 860,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและเกียรติบัตร เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม – 30 กันยายน 2567 ซึ่งมีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 89 ผลงาน แบ่งเป็นภาคครัวเรือน ชุมชน 50 ผลงาน และภาคเกษตรกรรม 39 ผลงาน โดยมีการประกาศผล 20 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมประกวดนวัตกรรมว่า ประการแรก เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 กระทรวงพลังงาน โดย พพ. ได้จัดกิจกรรมประกวดนวัตกรรมด้านพลังงานและพลังงานทดแทนภาคประชาชน หัวข้อ “อยู่ดี ทวีผลิตผล” นวัตกรรมพลังงานสร้างสุขประชาชน ประการที่สอง เป็นการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาด้านนวัตกรรมพลังงาน โดยเน้นในเรื่องพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน ทั้งในระดับครัวเรือน ชุมชน และภาคเกษตรกรรม และประการที่สาม เพื่อเชิดชูและสนับสนุนนักนวัตกรด้านพลังงานของไทย ให้สามารถพัฒนาต่อยอดผลงานไปสู่ระดับสากล ทั้งนี้ ผลงานที่ส่งเข้าประกวดล้วนมีความคิดสร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายประกอบ เอี่ยมสอาด ผู้อำนวยการกองถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยี พพ. ประธานคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การคัดเลือกและตัดสินการประกวดนวัตกรรมด้านพลังงานและพลังงานทดแทนภาคประชาชน ได้กล่าวถึงเกณฑ์การคัดเลือกผลงานในรอบแรก ประกอบด้วย ความสำคัญและความเป็นมาของนวัตกรรม วัตถุประสงค์ แผนงาน การนำไปใช้ประโยชน์ จุดเด่นของนวัตกรรมจะเกิดผลประโยชน์ลดการใช้พลังงานได้อย่างไร รวมถึงสามารถพัฒนาต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ ทั้งนี้ ผลงานที่ผ่านการคัดเลือก 20 ผลงานในรอบแรก
จะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับจุดเด่นและแนวทางการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงคำแนะนำด้านเทคนิคการนำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมและความน่าสนใจให้กับนวัตกรรมที่เข้าร่วมประกวด
ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก จำนวน 20 ผลงาน (ประเภทละ 10 ผลงาน) จะได้รับเงินทุนสนับสนุน ผลงานละ 25,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนานวัตกรรมพลังงานนั้น ๆ ให้ดียิ่งขึ้น และมานำเสนอผลงานรอบตัดสิน ในเดือนมกราคม 2568 ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 860,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและเกียรติบัตร รางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 รับเงินรางวัล 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 รับเงินรางวัล 30,000 บาท อีกทั้งในวันตัดสินรอบชิงชนะเลิศ ยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานด้านนวัตกรรมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานของทั้ง 20 ผลงานอีกด้วย
สำหรับผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก ประเภทนวัตกรรมพลังงานด้านการส่งเสริมภาคครัวเรือน ชุมชน 10 ผลงาน ได้แก่ ระบบจัดการพลังงานจากโซล่าเซลล์ในบ้านด้วยเทคโนโลยีไมโครคอนโทรลเลอร์, อิฐประหยัดพลังงาน Air Flow Block, เตาแก๊สพลังงานจากแกลบทดแทนแก๊สหุงต้ม (รุ่นปรับปรุงก้นหม้อไม่ดำ), พลังงานก๊าซชีวภาพจากมูลช้างและผลิตภัณฑ์กระดาษและปุ๋ยจากกากมูลช้าง, เครื่องกรอเส้นด้าย 4 in 1 ด้วยพลังงาน 2 ระบบ, เตาสองแควสองเด้ง, เครื่องสับและอบหัวมันสำปะหลังด้วยความร้อนจากเชื้อเพลิงชีวมวล, เครื่องอบอเนกประสงค์ระบบ Rotary ด้วยพลังงานความร้อนร่วมแบบ Hybrid, เครื่องกวนผสมและบรรจุสบู่รังไหมระบบเซ็ทแข็งตัวด้วยความเย็นจากแผ่น Peltier และบ้านผึ้งชันโรง
ประเภทนวัตกรรมพลังงานด้านการส่งเสริมภาคเกษตรกรรม 10 ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก ได้แก่ ชุดใบมีดตัดหญ้ารูปสามเหลี่ยมประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง, สมาร์ทฟาร์มกระบองเพชร, นวัตกรรมระบบลดความชื้นประสิทธิภาพสูงสำหรับผลผลิตทางการเกษตร, เรือรดน้ำอัตโนมัติพลังงานแสงอาทิตย์, ระบบควบคุมการรดน้ำอัตโนมัติ (Smart Farm) ด้วยเซ็นเซอร์และการประยุกต์ใช้ IoT LORA และ Solar cell ในวงจรเซ็นเซอร์และวาล์วน้ำ , เครื่องตัดหญ้าไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, กับดักแมลงโซล่าเซลล์แบบอัตโนมัติ, รถฉีดพ่นสารเคมีควบคุมระยะไกลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์, ชุดควบคุมมอเตอร์ซับมอร์สสูบน้ำเพื่อการเกษตร 2 พลังงานควบคุมผ่าน Smart Phone และฟาร์มกบพลังงานแสงอาทิตย์
นางนฤพรรณ สุธรรมเกษม ผู้แทนคณะกรรมการฯ ภาคเอกชน จากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวชื่นชมผลงานนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยี Smart Phone หรือ Smart Farm มาประยุกต์ใช้ในบริบทใกล้ตัว ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับครัวเรือนและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นวัตกรรมด้านพลังงานที่ส่งเข้าประกวดในครั้งนี้ สามารถเป็นต้นแบบให้กับครัวเรือนและชุมชน ช่วยส่งเสริมให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และช่วยเพิ่มผลผลิต ได้ภายใต้หัวข้อ “อยู่ดี ทวีผลิตผล” นวัตกรรมพลังงานสร้างสุขประชาชน พร้อมเน้นย้ำว่า ในปัจจุบันโลกต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม แต่การนำพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานมาประยุกต์ใช้นั้น ควรดำเนินการให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นางสาวมาณวิกา ปิ่นทองคำ ผู้แทนคณะกรรมการฯ จากธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ สามารถถ่ายทอดและส่งต่อไปยังผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้พลังงานทางเลือกถือเป็นแนวทางสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและโลกในระยะยาว โดยในปัจจุบัน พลังงานทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ และการนำขยะมาประยุกต์ใช้เป็นพลังงานทดแทน อันเป็นแนวทางที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สามารถติดตามรายละเอียดของกิจกรรมการประกวดนวัตกรรมด้านพลังงานและพลังงานทดแทนภาคประชาชน เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา หัวข้อ “อยู่ดี ทวีผลิตผล” นวัตกรรมพลังงานสร้างสุขประชาชน ได้ที่ https://theyoungenergydesigner.com/ และเพจเฟซบุ๊ก วารสาร’รักษ์พลังงาน