สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดงานสัมมนา “Digital Nation: Making it Happen” เชิญกูรู ผู้บริหารชั้นนำ จากภาครัฐ เอกชน ผู้กำหนดนโยบาย และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม แลกเปลี่ยนมุมมอง และวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประจำปี 2567 ภายหลังผลการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทย โดยสถาบัน IMD ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ลดลง 2 อันดับ จากอันดับที่ 35 ในปี 2566 ลงไปอยู่อันดับที่ 37 ในปี 2567 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก
แนะรัฐลงทุนคน เพิ่มขีดแข่งขัน
ศาสตราจารย์อาร์ทูโร บริส (Prof. Arturo Blis) ผู้อำนวยการ World Competitiveness Center จาก International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Digital Competitiveness 2024:Thailand Towards the Digital Nation” ว่า ดิจิทัลเทคโนโลยีล้วนเป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ ในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดยการเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละประเทศเพื่อให้เห็นภาพรวมการใช้ดิจิทัล ขอบเขตของการเป็น Digital Nation ต้องมองจากหลายมิติ การขับเคลื่อนที่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจ และสุดท้ายคือการส่งต่อประโยชน์สู่ประชาชน โดยมี 3 ปัจจัยสำคัญคือ
1.ความรู้และทักษะของบุคลากรด้านดิจิทัล ส่งเสริมความรู้และพัฒนาคนให้เก่งขึ้น ปัจจุบันประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ คือ สิงคโปร์ เดนมาร์ค และเกาหลีใต้ ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ ครองอันดับ 1 ด้าน Digital Nation ทั้งด้านองค์ความรู้และด้านเทคโนโลยี
2. ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ปัจจุบันอันดับ 1 คือสิงคโปร์
3.ความพร้อมสำหรับอนาคต สิงคโปร์อยู่ในอันดับ 1 เช่นกัน
สำหรับประเทศไทย ผลการวิเคราะห์ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลประจำปี 2567 อยู่ในอันดับ 37 ลดลง 2 อันดับจากอันดับ 35 ในปี 2566 จาก 67 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป้าหมายของประเทศไทยที่จะขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นๆ เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของไทยมีความแตกต่างจากประเทศอื่น โดยต้องดูในเรื่องดิจิทัลโมเดลด้วยว่ามีจุดอ่อนหรือจุดแข็งอย่างไร ขณะที่ความพร้อมด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อยู่ลำดับที่ 23 ลดลง 8 อับดับ จากอันดับ 15 ในด้านความรู้ ปรับตัวขึ้นเป็น 40 จากอันดับ 41 ในปี 2566 และในด้านความพร้อมสำหรับอนาคต ปรับขึ้นเป็น 41 จากอันดับ 42 ในปี 2566
ข้อแนะนำการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลประเทศไทย รัฐบาลต้องลงทุนทั้งด้านบุคลากร พัฒนาด้านดิจิทัล เสริมสร้างคนเก่งเพื่อยกระดับประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเป็นกลไกหลักและทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อลดขั้นตอนให้สั้นลง เช่น กฎระเบียบ เพื่อเปิดประตูให้ประเทศไทยพัฒนาและขยับอันดับความสามารถของไทย
สำหรับในด้านทัศนคติและการตอบรับกับเทคโนโลยี นับว่าประเทศไทยทำได้ในระดับที่ดี จากข้อมูลการใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ในลำดับที่ 26 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ดีกว่า ขณะที่ด้านการบูรณาการระบบไอที ทั้งภาครัฐและเอกชนและการบริการ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ อาจจะต้องเร่งทำให้มากขึ้น ซึ่งในปีต่อไป จะเพิ่มในส่วน AI เข้ามาด้วย แม้จะค่อนข้างยากเพราะข้อมูลการใช้ AI ยังมีไม่มาก แต่หากรัฐบาลสามารถออกกฎหมายเพื่อสนับสนุนการใช้ AI จะช่วยขับเคลื่อนได้มาก
“เวลาที่เราพูดถึงประเทศไทย เปรียบเทียบกับฮ่องกง สิงคโปร์ ไทยมีจุดเข้มแข็งในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และความรวดเร็วคล่องตัวของบริษัทในการปรับตัวสู่ดิจิทัลเทคโนโลยี”
ส่วนในด้านการลงทุนและบุคลากร เป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องทำเพิ่มเติมรวมถึงการบูรณาการด้านไอที เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศสู่ Digital Nation โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการพัฒนาปรับปรุงทั้งด้านความรู้ทางเทคโนโลยีและความพร้อมมีการเติบโตที่ดีจะมีสะดุดลงในช่วงโควิดแต่ตัวเลขการพัฒนาที่ดีขึ้นทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยต้องให้ความสำคัญกับการปรับปรุงข้อกฎหมายและกฎระเบียบและเพิ่มงบการลงทุนของภาครัฐ
สร้าง Ecosystem เพิ่มขีดแข่งขัน
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน Center for Competitiveness สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า ในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ประเทศไทยยังมีความท้าทายอยู่หลายเรื่อง เช่น โครงสร้างพื้นฐานและความสามารถในการเข้าถึง คน (Talent) การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย และ e-government หรือ Digital Government
ประเทศไทยอาจมีโครงสร้างพื้นฐานหรือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ดีทั่วประเทศ แต่ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ด้าน Productivity เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัย หรือการป้องกันที่ต้องมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยี
ปัญหาเรื่องขาดแคลนคนที่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ประเทศไทยผลิตคนที่มีความรู้เกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ในจำนวนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับความต้องการที่มีอยู่ซึ่งอาจจะต้องดูถึงนโยบายและการส่งเสริมการเร่งผลิตคนในระดับประเทศนอกจากนี้ยังต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชนเพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานที่ผลิตออกมามีทักษะความสามารถที่ตรงกับความต้องการจริงๆ
ถัดมาคือเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล (Data Privacy) และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ไทยเพิ่งเริ่มดำเนินการและค่อยๆ บังคับใช้ สิ่งที่ยังขาดไปคือ การช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาได้เป็นผลสำเร็จ โดยเฉพาะด้านนโยบายการพัฒนาและการใช้งานเอไอ รวมไปถึงอินเซนทีฟให้องค์กรสามารถเร่งการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้องค์กรของไทยสามารถก้าวไปสู่ Manufacturing 4.0 ได้เป็นผลสำเร็จ
Digital Government เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญมากและต้องเร่งดำเนินการ ทำอย่างไรเพื่อให้การลงทุนต่างๆ ในภาครัฐเน้นไปที่การแก้ปัญหาการขาดประสิทธิภาพและเน้นผลิตภาพของภาครัฐโดยองค์รวมและได้ผลจริง ดาต้าเป็นปัญหาใหญ่ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ในหน่วยราชการต่างๆ มีมาตรฐานเดียวกัน ลดปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อน และสามารถแลกเปลี่ยนและใช้ข้อมูลร่วมกันได้ (interoperability) ป้องกันปัญหาความปลอดภัยทางไซเบอร์ข้อมูลรั่วไหลซึ่งต้องมีการลงทุนทั้งจากส่วนกลางและภายในองค์กรด้วย
Digital Transformation เป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ อนาคตประเทศไทยต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยสร้าง Ecosystem ด้านดิจิทัล และร่วมกันวางยุทธศาสตร์ สร้างคน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากร ภายใต้โลกที่เปลี่ยนเร็ว การปรับเปลี่ยนด้านนโยบายให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญ ทำอย่างไรจะกระตุ้นการขับเคลื่อนดิจิทัลเทคโนโลยีให้ทันการเปลี่ยนแปลงได้
ปรับ Mindset จัดการและบูรณาการนโยบาย
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า โลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงเร็ว รัฐต้องสร้าง Ecosystem เพื่อแก้ปัญหาด้านบุคลากร การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ต้องดี และสามารถพัฒนาได้ ที่สำคัญต้องปรับ Mindset ให้เข้าใจว่าโลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
“ถ้าเรายังพัฒนาในรูปแบบเดิม จะมีปัญหา ในโลกของ Cyber Security ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ ไม่ใช่ต้องเรียน 4 ปี สร้างบุคลากรให้มากขึ้น แม้แต่ในระบบราชการ ตอนนี้ก็ยังไม่มีบุคลากรที่มีความรู้จริงๆ ตรงนี้คือจุดสำคัญ ต้องเปลี่ยนแปลง สร้างแพลตฟอร์ม เปลี่ยนมายด์เซ็ต และร่วมกับเอกชน เพื่อสร้างคนให้มากขึ้น หากต้องการจะทำให้ระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีประสิทธิภาพ ต้องเปลี่ยนนโยบาย ถ้ารัฐเปลี่ยนความคิดมองว่าโลกไซเบอร์เปลี่ยนไปแล้ว ก็จะสามารถตอบโจทย์ได้ ซึ่งมองว่า การจัดการและบูรณาการนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่การจัดการเรื่อง Risk based Management มีบทบาทสำคัญ รัฐต้องวางนโยบายด้าน Cyber Security พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วย”
ผมว่าเทคโนโลยีกับดิจิทัล ดิสรัปกัน ดังนั้นการขับเคลื่อนและการจัดการนโยบายดิจิทัล เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก เช่นเดียวกับเรื่องคน ต้องทำ Digital Literacy และทำอย่างไรให้ใช้ประโยชน์จาก AI ได้มากที่สุดอย่างเต็มประสิทธิภาพ
หนุนหลักสูตร Cyber Security
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือ Cyber Security ขณะนี้เรามีกฎหมายบังคับเรื่องหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ บังคับหน่วยงานของรัฐว่าถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นต้องลดความเสี่ยงให้เร็วที่สุด มีแผนรับมือ และตอบสนองป้องกันระวัง ในแง่หน่วยงานรัฐ ทั้ง พ.ร.บ.ไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองส่วนบุคคลทิศทางแนวโน้มเริ่มดีขึ้นซึ่งในส่วนนี้เราต้องพัฒนาต่อเนื่องเช่นเพิ่มกฎเกณฑ์กติกาภายในกับส่วนของเทคโนโลยีที่เราพยายามส่งเสริมให้มีการลงทุนธุรกิจด้านนี้ทั้งด้านซอฟท์แวร์ทั้งในและต่างประเทศซึ่งสุดท้ายสิ่งที่เราอยากได้คือกลไกป้องกันและเฝ้าระวัง
อย่างไรก็ตามยังมีความเป็นห่วงภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้มี พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่มีกติกาการตรวจสอบก่อน ดังนั้นจึงต้องส่งเสริมยกระดับ โดยเริ่มในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs เริ่มจากยกระดับบุคลากรในองค์กร ซึ่งจากผลการประเมินตามดัชนีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (GCI) ประเทศไทยอันดับดีขึ้นมาก จากอันดับที่ 44 ล่าสุดมาอยู่ที่อันดับ 7 ของโลก เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายไซเบอร์ และ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล มีแต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์คือเน้นลงโทษกลุ่มแฮกเกอร์อย่างเดียวขณะที่กฎหมายใหม่ช่วยยกระดับประเทศเตรียมความพร้อมรับมือภัยไซเบอร์
“เราต้องมีกฎหมายส่งเสริมพัฒนาและสนับสนุนเพื่อสร้างความพร้อมประเทศ และเพื่อขยับสถานะประเทศ ลดปัญหาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ รัฐต้องลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของไซเบอร์ เราลงทุนพัฒนาหน่วยงาน ปรับและพัฒนาบุคลากร และโครงการเพื่อพัฒนาคน โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก ต้องเปลี่ยน Mindset เพื่อสร้างโอกาส สร้างแนวทางและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ”
การพัฒนาคนด้านไซเบอร์ต้องเตรียมทั้งดีมานด์ และซัพพลาย โดยในส่วนดีมานด์ ค่อนข้างชัด ขาดคน ขณะที่ด้านซัพพลาย จะเห็นว่ามีคนเข้าสู่ตลาดแรงงานส่วนนี้เพิ่มขึ้น โดยเราให้การสนับสนุนให้มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตร Cyber Security มากขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับความสนใจมากในขณะนี้
เพิ่มทักษะสร้างคนดิจิทัล
นายอริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งบริษัท Transformational มองว่าศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันไทยเป็นอย่างไร สิงคโปร์ อินเดีย เกาหลี เป็นประเทศที่โดดเด่นทางด้านเทคโนโลยี เพราะเป็นประเทศที่พัฒนาด้านดิจิทัลมานาน คนได้ถูกสร้าง Skill set ด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอินเดีย ขณะที่สิงคโปร์ โดดเด่นและยังเป็นฐานสำคัญของสำนักงานใหญ่ด้านเทค คนสิงคโปร์ถูกสร้างและพัฒนาให้มีทักษะด้านเทคโนโลยี และเป็นฐานการผลิตของบริษัทด้าน Tech
ขณะที่ไทย ไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตวิศวกรด้าน Tech เราจึงต้องหาโมเดลเพื่อช็อตคัท ให้ใกล้เคียงกับสิงคโปร์
“สิ่งที่เราขาดคือคนและความรู้อย่างลึกซึ้ง จะแก้ปัญหาอย่างไร เราต้องอิมพอร์ตคน ส่วนเรื่องการศึกษา ทำอย่างไรให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น AI มา ต้องเพิ่มองค์ความรู้ เพิ่มทักษะ ด้าน AI เพื่อสร้างคนให้มีทักษะด้านดิจิทัลมากขึ้น “
ในด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ ส่วนใหญ่จะมองว่าการลงทุนเรื่อง Cyber Security ไม่ได้สร้างรายได้ แต่ป้องกันความเสียหายได้ จึงจำเป็นต้องลงทุน Cyber Security เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างมหาศาลประเด็นสำคัญที่อยากนำเสนอคือการเปลี่ยนแปลงและความเข้าใจในเรื่องโลกของเทคโนโลยีต้องเริ่มจากคนนี่คือความท้าทายที่แท้จริงส่วนคนรุ่นเก่าต้องเข้าใจและเรียนรู้เทคโนโลยีให้ได้