คำกล่าวที่ว่า การมาถึงของ “Generative AI” กำลังจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานหลาย ๆ ตำแหน่ง และอาจทำให้เกิดการลดพนักงานครั้งใหญ่ทั่วโลกอาจไม่เกินจริง เห็นได้จากผลวิจัยของสถาบันยักษ์ใหญ่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น Accenture (ปี 2023) ที่ทำการศึกษาในหัวข้อ A New era of generative AI for Everyone และพบว่า 40% ของชั่วโมงการทำงานของมนุษย์ทุกวันนี้ สามารถถูก Gen AI เข้ามาทำแทนได้แล้ว
ขณะที่ผลการศึกษาของ World Economic Forum ในปี 2023 ก็พบว่า ปัจจุบันมีหลายอาชีพที่สามารถถูกปรับเป็นงานแบบ Automation ได้แล้วเช่นกัน โดยตัวอย่างมีตั้งแต่ เจ้าหน้าที่แคชเชียร์, พนักงานขายตั๋ว, พนักงานบัญชี, พนักงานคีย์ข้อมูล, พนักงานธนาคาร, พนักงานที่ดูแลด้านการจ่ายเงินเดือน ฯลฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายองค์กรที่ออกมาบอกว่า พวกเขาอยากจะนำพาพนักงานก้าวฝ่าคลื่น AI Disruption นี้ไปด้วยกันให้ได้ หนึ่งในนั้นก็คือ ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มาพร้อมความท้าทายขนาดใหญ่ นั่นคือ การมีพนักงานระดับหมื่นคน
ภารกิจในการ Retrain พนักงานจึงเกิดขึ้นในระดับที่หลายคนคาดไม่ถึง และผู้ที่จะมาเปิดเผยเบื้องหลังของภารกิจนี้ก็คือ คุณศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผ่านเวทีสัมมนา UNLOCK THE FUTURE by Brand Buffet : Equipped for 2025 โดยคุณศรินทร์รา กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของภารกิจนี้ว่า มาจาก “การเข้าใจวิสัยทัศน์ขององค์กรเป็นอันดับแรก”
ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนพนักงานเป็น Digital Citizen 4,000 คน
สิ่งที่ผู้บริหารทรู มองเห็นก็คือ ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง AI ซึ่งเป็นเทรนด์สุดฮิตที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการเป็นอย่างมาก และนั่นทำให้เกิดการแย่งชิงตัวผู้ที่มีทักษะ ซึ่งคนที่ลงมาแย่งชิงไม่ได้มีเพียงบริษัทในประเทศ แต่บริษัทต่างชาติก็ดึงดูดพนักงานเก่ง ๆ ไปได้เป็นจำนวนมาก
สิ่งที่ทรูทำ จึงเป็นการสร้าง Digital Citizen ของตนเองขึ้นมา โดยคุณศรินทร์รากล่าวว่า “ทรูมีพนักงานในองค์กรหมื่นกว่าคน เราตั้งเป้าว่า ในปี 2024 เราอยากสร้างให้เขาเป็น Digital Citizen 4,000 คน สิ่งที่เราทำคือเราอบรมคนของเราในด้านต่าง ๆ ได้แก่
- Data Analytics
- Customer Centricity
- Digital Marketing
- Simplification & Automation
- Business, Innovation, Agile
นอกจากนั้น ทรูยังมีการนำ Benchmark ระดับโลกมาประเมินว่าคนที่จะเป็น Digital Citizen ได้ต้องสอบผ่าน 70% ขึ้นไป และจากการวางระบบดังกล่าว ปี 2025 ทรูยังตั้งเป้าจะเทรนพนักงานให้เป็น Digital Citizen อย่างต่อเนื่องอีก 6,000 คน
กลยุทธ์จูงใจพนักงาน เริ่มจาก “อาสาสมัคร”
สำหรับการเทรนพนักงาน 4,000 คนที่มีตำแหน่งงานแตกต่างกัน ความรับผิดชอบแตกต่างกัน ฯลฯ ให้เป็น Digital Citizen นั้นเป็นเรื่องที่ท้าทายพอสมควร ซึ่งวิธีการจูงใจที่คุณศรินทร์รานำมาเปิดเผยนั้นพบว่ามาจากการทำความเข้าใจใน Human Need
“เรามองเรื่อง Human Need คนที่จะเปลี่ยนองค์กรได้ เขาจะต้องมี Strategic Mindset ต้องรู้ว่าองค์กรจะไปทางไหน เขาจะมีส่วนสร้างองค์กรให้สำเร็จอย่างไร และตัวเขาเองจะต้องพัฒนาอย่างไร สิ่งที่ทรูทำ เราทำแบบอาสาสมัคร ให้คนที่สนใจมาลองทำ โดยเราจะเทรนการใช้งาน AI ให้เขาอย่างดี แล้วให้เขากลับไปช่วยคนในแผนกของเขา แผนกเขาก็มีความสามารถมากขึ้น พอคนเห็นว่ามีประโยชน์ คนก็จะอยากมาเรียนเพิ่ม และสุดท้ายก็คือ พอคนของเรามีทักษะเหล่านี้ เขาจะเอาทักษะนี้ไปสร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร”
สร้างคนรุ่นใหม่ผ่าน True Next Gen
โปรแกรม True Next Gen เป็นโปรแกรมที่ออกแบบมาสำหรับค้นหา Tech Talent และ Business Talent โดยคนที่สมัครเข้าร่วมจะได้รับโอกาสในการทำงานใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูงของทรู และได้รับการฝึกหมุนเวียนไปในทุกกลุ่มธุรกิจตลอดระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งที่ผ่านมา พบว่า ทรูสามารถสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพไปแล้วกว่า 650 คน โดยสิ่งที่ทรูมองหาจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ True Next Gen ได้แก่
- การเป็นคนที่มีความอดทน ล้มแล้วลุกได้ อดทนที่จะทำสิ่งใหม่ ๆ มีความตั้งมั่นว่าต้องทำให้สำเร็จ
- มีความสามารถในการเรียนรู้สูง มีความสามารถในการจับใจความสำคัญ และมีความเก่งในเรื่องของตัวเลข – Logical
- เป็นคนรักการเรียนรู้
- เป็นผู้ที่มี Digital Literacy
เก่งคนเดียวไม่ได้ ต้องเก่งทั้งทีม
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการทำงานร่วมกัน หรือหากเป็นศัพท์ยุคใหม่ก็คือการ Collab ระหว่างแผนกภายในองค์กร
“ทรูมองว่า เราจะเก่งคนเดียวไม่ได้ เราต้องเก่งไปด้วยกัน นั่นคือ นอกจากต้องสร้างทีมที่มีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้อง collab กันได้ ถึงจะเกิดนวัตกรรม”
“นอกจากนั้น เรายังทำเรื่อง Venture Mindset หรือมายเซ็ทเถ้าแก่ โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ซึ่งเขาจะส่งอาจารย์มาสอนเราเรื่อง Product Design ฯลฯ อย่างเข้มข้นมาก ความสำเร็จจากโปรเจ็คนี้ ทำให้เราสามารถพัฒนานวัตกรรมได้ถึง 10 โปรดักท์ ที่พร้อมจะทำให้เกิดขึ้นจริงแล้ว”
เช่นเดียวกับพนักงานรุ่นใหม่ ที่ผู้บริหารทรูกล่าวถึงการทำงานว่า เคยส่งพนักงานใหม่ไปอยู่ที่หน้าร้านเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ และพบว่า พนักงานใหม่เหล่านี้กลับมาพร้อมกับนำเสนอแนวคิดในการพัฒนาโปรดักท์ใหม่ ๆ ให้กับทรูได้เป็นจำนวนมาก
“เราเชื่อว่า ทุกคนมีความเก่ง แต่เราจะดึงความเก่งของเขามาใช้งานได้อย่างไร ในฐานะองค์กรต้องพยายามช่วยให้เขาเอาความเก่งมาใช้ให้ได้ ใครเก่งเรื่องอะไร ต้องสามารถต่อยอดไปได้เรื่อย ๆ”
แม้จะเป็นยุค AI-First แต่องค์กรต้อง Put People-First
แม้จะเป็นยุคที่การแข่งขันสูง และเต็มไปด้วยความท้าทายต่าง ๆ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่องค์กรในยุคต่อไปขาดไม่ได้ก็คือ ความเห็นอกเห็นใจ โดยคุณศรินทร์รา ให้ทัศนะในจุดนี้ว่าา “แม้จะเป็นยุค AI-First แต่ทรู Put People-First ก่อน เราต้องเข้าใจคนก่อนจะไป AI”
“เมื่อเราเข้าใจคน และทำให้คนเข้าใจองค์กร เราจึงจะสามารถสร้างองค์กรที่ทุกฝ่ายก้าวไปพร้อมกันได้”
นอกจากนั้น ผู้บริหารทรูยังกล่าวถึงการให้คุณค่าขององค์กรที่ประกอบด้วย 4C ได้แก่
- Compassion การเห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
- Creditability ความน่าเชื่อถือ และเคารพในความคิดผู้อื่น
- Co-creation การทำงานร่วมกัน รับฟังไอเดียซึ่งกันและกัน
- Courage การกล้าพูดกล้าทำ กล้าปลี่ยนแปลง
จะเห็นได้ว่า การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้องค์กรเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตเป็นสิ่งที่องค์กรต้องออกแบบด้วยตัวเอง ซึ่งในมุมของทรู พบว่ามีตั้งแต่การสร้างทักษะใหม่ (Reskilling และ Upskilling) ให้พนักงานเป็น Digital Citizen เพื่อรองรับงานที่กำลังถูกดิสรัปด้วย AI ตลอดจนการสร้างคนเก่ง ๆ ขึ้นมาเป็นผู้นำผ่านโครงการ True Next Gen
ซึ่งทั้งหมดนี้ เราอาจต้องติดตามดูกันว่า ภารกิจการสร้างคนในยุค AI ของทรู จะนำไปสู่การขับเคลื่อนองค์กรในรูปแบบใด แต่เชื่อว่าอย่างน้อย พวกเขาจะพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคคตได้อย่างแน่นอน
ส่องสวัสดิการใหม่ “ทรูคอร์ป” จัดเต็มพื้นที่ฟิตเนส-NapRoom-สปา-ซาลอน-โยคะ – Brand Buffet