HomeBrand Move !!หมูเด้งฟีเวอร์ ดันยอดเรียก Grab ไปเขาเขียวพุ่ง 267% Butterbear ยอดสั่งโต 1200%

หมูเด้งฟีเวอร์ ดันยอดเรียก Grab ไปเขาเขียวพุ่ง 267% Butterbear ยอดสั่งโต 1200%

แชร์ :

แกร็บ (grab) ผู้ให้บริการซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยข้อมูลสถิติ “ที่สุดแห่งปี 2024” ครอบคลุมทั้งธุรกิจการเดินทางและเดลิเวอรีในประเทศไทย พบกระแส “หมูเด้งฟีเวอร์” ดันยอดเรียกรถไปสวนสัตว์เขาเขียวเพิ่มขึ้น 267% ขณะที่กระแสไวรัลของหมีเนยดันยอด Butterbear พุ่งเป็นประวัติการณ์

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ที่สุดในบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน

ปี 2567 เป็นปีที่แกร็บระบุว่า บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ยังคงเติบโต รับอานิสงส์ “ท่องเที่ยวคึกคัก-หมูเด้งฟีเวอร์-ไลน์อัพอีเวนท์” โดยมียอดใช้บริการสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะบริการใหม่อย่าง GrabCar SAVER ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเพื่อนำเสนอทางเลือกใหม่สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเรียกรถในราคาที่ประหยัดลง โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึงกว่า 400% ในหัวเมืองหลัก

นอกจากนั้น กระแส “หมูเด้ง” ที่กลายเป็นขวัญใจของคนทั่วโลก ไม่เพียงช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวในประเทศ แต่ยังดันยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ที่เดินทางไปสวนสัตว์เปิดเขาเขียวให้เติบโตขึ้นกว่า 267% ด้วย

ข้อมูลจากแกร็บพบด้วยว่า นโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็น “World Class Event Hub” ทำให้ปีนี้มีความคึกคักของวงการอีเวนท์ ไม่ว่าจะเป็น งานประชุมและนิทรรศการ งานแฟร์ รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินไทยและเทศ ซึ่งส่งผลให้ยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ไปงานเหล่านี้เติบโตขึ้นถึง 25% โดยเฉพาะการเดินทางไปราชมังคลากีฬาสถาน ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อิมแพ็คอารีนา และไบเทค บางนา

ยอดเรียกรถจากสนามบินโต 67%

อีกหนึ่งข้อมูลน่าสนใจคือการที่ต่างชาติใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ไป “สนามบิน แหล่งช้อปปิ้ง และเที่ยวเมืองรอง” โดยยอดใช้บริการที่สนามบินต่าง ๆ เติบโตขึ้นกว่า 67% และ 5 ชาติที่ใช้บริการมากที่สุด คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม

ห้างสรรพสินค้าและแหล่งช้อปปิ้งยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเดินทางไป โดย 5 สถานที่ยอดฮิต คือ ไอคอนสยาม (ICONSIAM) เซ็นทรัลเวิลด์ (CentralWorld) สยามพารากอน (Siam Paragon) ถนนข้าวสาร และตลาดนัดจตุจักร นอกจากนี้ อีกหนึ่งห้างที่มาแรงที่สุด คือ เอ็มสเฟียร์ (EMSPHERE) ไลฟ์สไตล์มอลล์ใจกลางสุขุมวิท ซึ่งเพิ่งเปิดตัวในปีที่ผ่านมา

ด้านจังหวัดเมืองรองยังได้รับความนิยมต่อเนื่องจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล สะท้อนผ่านยอดใช้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ที่เติบโตขึ้นกว่า 90% โดยเฉพาะใน 5 เมืองน่าเที่ยวอย่างเชียงราย ตาก อุดรธานี อุบลราชธานี และพิษณุโลก

ฟีเจอร์มาแรง “จองรถล่วงหน้า ใช้รถอีวี”

ฟีเจอร์จองรถล่วงหน้า (Advance Booking) กลับมาได้รับความนิยมหลังแกร็บประกาศปรับโฉมใหม่ โดยสามารถจองรถล่วงหน้าได้ถึง 7 วันและมีประกันคุ้มครองสูงสุดถึง 800,000 บาท โดยผู้ใช้บริการส่วนใหญ่นิยมใช้บริการเพื่อเดินทางไปสนามบิน ไม่ว่าจะเป็น สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และกระบี่

นอกจากนั้น แกร็บยังระบุว่าคนไทยให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สะท้อนผ่านจำนวนผู้ใช้บริการที่ใช้ฟีเจอร์เลือกใช้รถอีวี (Grab EV Rides) เพิ่มขึ้นกว่า 200% โดยฟีเจอร์ดังกล่าวพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสค้นหารถ EV ในพื้นที่และช่วงเวลานั้นๆ เพื่อให้บริการเป็นตัวเลือกแรก

ที่สุดในบริการฟู้ดเดลิเวอรี

อาหารไทยยังคงครองใจผู้ใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี โดยเฉพาะเมนูสั่งง่ายในราคาสบายกระเป๋า ซึ่ง 5 เมนูขายดีแห่งปี คือ ส้มตำ ไก่ทอด ข้าวมันไก่ หมูปิ้ง รวมถึงเมนูที่ทำจากหมูอย่าง “ไข่พะโล้” และ “ข้าวขาหมู” ซึ่งมียอดสั่งในเดือนกันยายนเติบโตขึ้นกว่า 38% จากอิทธิพลของ “หมูเด้ง” นั่นเอง

ขณะที่กาแฟและชายังคงเป็นเมนูเครื่องดื่มขายดีตลอดปี นำโดย “อเมริกาโน่เย็น” กาแฟดำไม่ใส่น้ำตาลที่ตอบโจทย์คอกาแฟสายสุขภาพ โดยมียอดสั่งรวมทั้งปีถึง 5 ล้านแก้ว รองลงมา คือ “ชาไทย” โดยเฉพาะเมนู “เสลอปี้ชาไทย” สุดฮิตที่แทบทุกแบรนด์ส่งมาชิงตลาด ตามมาด้วยเอสเพรสโซ่เย็น ชาเขียวเย็น และชานมไข่มุก

กระแส “บัตเตอร์แบร์” แรงไม่หยุด

กระแสไวรัลของหมีเนยขวัญใจโซเชียลมาแรงไม่แผ่วตลอดทั้งปี ทำให้ยอดสั่งเมนูต่าง ๆ ของบัตเตอร์แบร์ (Butterbear) พุ่งเป็นประวัติการณ์โดยเติบโตกว่า 1,200% เช่นเดียวกับชาผลไม้พรีเมียมแบรนด์ดังจากประเทศจีนที่ตบเท้าเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น เจี้ยนชา (JIAN CHA) ชาจี (CHAGEE) และ ไนซือ (NaiXue) ก็ได้รับความนิยมจากคนไทยไม่ขาดสาย โดยมียอดขายเฉลี่ยเติบโตขึ้นถึง 10 เท่า โดยเฉพาะ “ชาองุ่นปั่นครีมชีส” ที่กลายเป็นไอเทมที่มาแรงที่สุดในปีนี้

เมนูเพื่อสุขภาพยังคงเป็นที่นิยมในกลุ่มฟู้ดดี้สายเฮลท์ตี้ ไม่ว่าจะเป็น อาซาอิโบลว์ที่ดังต่อเนื่องข้ามปี สลัดแร็ปผักล้น ไปจนถึงสมูตตี้เพื่อสุขภาพที่เป็นกระแสจาก “น้ำปั่น Erawon” จนกลายเป็นอีกหนึ่งเมนูฮิตติดลมบน โดยเฉพาะ Oh! Juice แบรนด์น้องใหม่จากโอ้กะจู๋ ที่ปั่นทั้งกระแสและยอดขายไปอย่างถล่มทลายจนเติบโตขึ้นกว่า 400% ภายในระยะเวลา 3 เดือน

ฟากของหวานอย่าง “ดูไบช็อกโกแลต” รวมถึงเมนูขนมหวานที่มีส่วนผสมของถั่วพิตาชิโอ กลายเป็นไอเท่มสุดฮอตแห่งปี โดยเฉพาะแบรนด์ The Rolling Pinn ที่มียอดขายถล่มทลายในช่วงครึ่งปีหลัง และทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นกว่า 20 เท่า

ฟีเจอร์มาแรง “สั่งเป็นกลุ่ม กินที่ร้าน”

สุดท้ายคือฟีเจอร์คำสั่งซื้อกลุ่ม (Group Order) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยมียอดสั่งอาหารเติบโตขึ้นสองเท่าหลังแกร็บฟู้ดอัปเกรดฟีเจอร์ให้สามารถสั่งอาหารร่วมกันได้สูงสุดถึง 10 คนและเพิ่มทางเลือกในการแบ่งจ่ายได้ถึง 3 ออปชัน และยังพบว่าเทรนด์การกินข้าวนอกบ้านดันให้ฟีเจอร์กินที่ร้าน (Dine Out) เติบโตขึ้น โดยมียอดใช้บริการเติบโตขึ้นกว่า 11 เท่าในไตรมาสสุดท้าย โดยเฉพาะในร้านบุฟเฟต์ ซึ่ง 3 ร้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ โม โม่พาราไดซ์ (Mo-Mo-Paradise) โคเอ็น (Kouen) และซูกิชิ (Sukishi)


แชร์ :

You may also like