HomeBrand Move !!ฮาคูโฮโดเผย “หมูเด้ง-หมีเนย” นำทัพ THAIDOM EFFECT เติมความสุขคนไทยในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว

ฮาคูโฮโดเผย “หมูเด้ง-หมีเนย” นำทัพ THAIDOM EFFECT เติมความสุขคนไทยในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว

แชร์ :

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) สรุปผลสำรวจประจำปี พ.ศ. 2567 พบกระแส THAIDOM EFFECT คือตัวช่วยหลักในการเติมความสุขให้คนไทยในยุคเศรษฐกิจชะลอตัว โดยมี “หมูเด้ง-หมีเนย” นำทัพ ขณะที่การใช้จ่ายของคนไทยตลอดทั้งปี 2567 ยังคงเทียบเท่ากับปี 2566 สะท้อนความรู้สึก “ไม่มั่นใจในเศรษฐกิจของประเทศ”

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ส่วนภาพรวมในเดือนธันวาคมนี้พบว่า การมีวันหยุดยาว เทศกาลปีใหม่ โปรโมชันส่งท้ายปีเก่าของแบรนด์ รวมถึงความหวังในการได้รับเงินโบนัสและเงินดิจิทัลเฟส 1 เป็นปัจจัยหนุนให้การใช้จ่ายสูงขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนตุลาคม และพบว่า เป็นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่ ๆ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า สำหรับเป็นของขวัญให้ทั้งตัวเองและคนที่รัก

“แฟนด้อม” ตัวช่วยฮีลใจคนไทย

คุณอรนลิน เรื่องสุรเกียรติ ผู้จัดการส่วนวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เผยถึงผลสำรวจดังกล่าวว่า ภาพรวมคะแนนแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 2567 นี้ถือได้ว่าเป็นตัวเลขคงที่ เมื่อเทียบจากผลสำรวจฉบับปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้น ประชาชนแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น ความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมไปถึงภัยพิบัติน้ำท่วม ทำให้ผู้บริโภคยังคงต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย ซึ่งในส่วนนี้เองก็กระทบไปถึงระดับความสุขของคนไทยที่อยู่ในระดับ เท่าเดิม เมื่อเทียบกับผลสำรวจปีที่ผ่านมาเช่นกัน

“อย่างไรก็ตาม เรามองเห็นความพยายามของคนไทยที่จะหาความสุขด้วยการใช้จ่ายเล็ก ๆ น้อยๆ หาสิ่งที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจ กระแสแฟนด้อมจึงกลายเป็นทางเลือกในการฮีลใจจากความเหนื่อยล้าของชีวิต และเป็นพลังสำคัญที่ทำให้คนไทยยังมีความหวังกับระดับความสุขที่คิดว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต”

เจาะลึกการใช้จ่ายตามช่วงอายุ

คุณอรนลิน กล่าวต่อไปว่า สำหรับการใช้จ่ายที่แบ่งตามช่วงอายุ พบว่า เป็นการใช้จ่ายแบบคลื่น (Wave Consumption) คือ ใช้สลับออม ซึ่งจะมีความสำคัญและมีความหมายที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงวัย ดังนี้

วัย 20 – 29 ใช้จ่ายกระจัดกระจาย – โดยพบว่ามีการใช้จ่ายกระจายตัวไปในเรื่องต่าง ๆ ตามความชอบและความสนใจของแต่ละบุคคล และมีแนวโน้มสำคัญในการเก็บเงินเพื่อใช้จ่ายในช่วงโปรโมชันใหญ่ทั้งกลางปีและสิ้นปี

วัย 30 -39 ใช้จ่ายเพื่อคุณภาพชีวิตในทุกวัน – คนในช่วงวัยนี้ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตในแต่ละวัน เน้นการใช้จ่ายไปที่สินค้าเพื่ออุปโภคและบริโภค ที่ทำให้ตนเองมีความสุขในทุกวัน

วัย 40 – 49 ใช้จ่ายเพื่อความสุขในบ้าน – เน้นการใช้จ่ายไปกับความเป็นอยู่เป็นหลัก ของใช้ในบ้าน เติมเต็มการอยู่บ้านให้มีความสุขมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือการจับจ่ายใช้สอยไปกับกิจกรรมและประเพณี เช่น เทศกาลตรุษจีน เทศกาลถือศีลกินเจ เป็นต้น

วัย 50 – 59 ใช้จ่ายเพื่อความสุขวัยเกษียณ – ถือเป็นช่วงวัยที่ค่าเฉลี่ยในการใช้จ่ายมากที่สุด ซึ่งจะเน้นการใช้จ่ายไปในเรื่องของการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อการพักผ่อนในวัยใกล้เกษียณและการทำกิจกรรมตามประเพณีต่าง ๆ

ด้านคุณอรุณโรจน์ เหล่าเจริญวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) เสริมในประเด็น “ไทยด้อม” หรือพลังแฟนคลับภายในประเทศ ที่ทำให้เกิดไวรัลมากมายในสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น หมีเนย, ฮิปโปหมูเด้ง, การสนับสนุนสมรสเท่าเทียม, งานแข่งกีฬานานาชาติ, คู่จิ้นในกระแส, อินฟลูฯ ขายทอง, กลุ่มธุรกิจขายตรง ฯลฯ ว่า เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของกลุ่มผู้สนับสนุนที่เชื่อและพร้อมที่จะซัพพอร์ตอย่างเต็มกำลัง

“พลังไทยด้อมเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจในหลายมิติ ทั้งในด้านการบริโภคสินค้าและบริการ การจัดกิจกรรม และการส่งเสริมการท่องเที่ยว ชุมชนแฟนคลับจึงกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญที่แบรนด์และนักการตลาดควรจับตามอง”

พร้อมกันนั้น ผู้บริหารสถาบันวิจัยฯ ยังได้ให้คำแนะนำถึงนักการตลาดในการทำแบรนด์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายไว้ 3 ประการ ดังนี้

1. พลังของการสนับสนุนและการมีชุมชนที่แข็งแกร่ง

“หมูเด้ง-หมีเนย” เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า แฟนคลับในประเทศไทยพร้อมที่จะแสดงออกถึงพลังแห่งความรักและพลังของการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งแบรนด์สามารถเลือกประเด็น “ไทยด้อม” ที่ตรงกับเป้าหมายของแบรนด์ และร่วมกันกับเหล่าแฟนด้อมเพื่อทำกิจกรรมให้บรรลุเป้าหมาย เช่น หากแบรนด์เลือกหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ก็สามารถขยายกิจกรรมไปสู่การสนับสนุนองค์กรอนุรักษ์สัตว์ หรือ สวนสัตว์ เพื่อสร้างความยั่งยืนระยะยาวได้เช่นกัน

2. พลังแห่งความหลงใหล

การตลาดคู่จิ้น เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สามารถช่วยให้แฟนคลับพร้อมสนับสนุนสินค้าหรือบริการที่คู่จิ้นใช้ ช่วยให้แบรนด์สร้างความผูกพันกับผู้บริโภคและสะท้อนทัศนคติที่เปิดกว้างต่อความหลากหลายทางเพศ ซึ่งแบรนด์สามารถนำมาต่อยอดผ่านการมีส่วนร่วมของแฟนคลับได้

3. พลังของความหวัง

จากกระแสฮิตเรื่องมูเตลู ฯลฯ เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพลังศรัทธาอย่างแรงกล้าของแฟนคลับที่มีจุดเชื่อมโยงกับเหล่าเทพ วัตถุ หรือบุคคล ว่า จะช่วยให้ชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้นได้ ซึ่งแบรนด์สามารถสนับสนุนการพัฒนาตนเองให้รู้เท่าทัน และให้พลังของความหวังเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมเสริมสุขภาพจิตที่ดีผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น “Write Your Peace” การเปิดตัวแบรนด์เครื่องเขียนด้วยการส่งเสริมให้ผู้คนมุ่งเน้นการสะท้อนความคิดเพื่อผ่อนคลายความเครียด หรือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่จัดกิจกรรมมาราธอนคอนเทนต์ที่ช่วยให้จิตใจสงบ เป็นต้น

/////////////////////////////////////////////

สำหรับผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 นี้เป็นผลสำรวจจากการรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 22 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567 โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในอนาคต ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากประชากรเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาค ทั่วประเทศ

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

เป็นเพื่อนกับเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like