“ตลาดบัตรเครดิต” เป็นหนึ่งในตลาดที่หอมหวานและบูมมากในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพราะสมัยนั้นยังเป็นของใหม่ ทำให้ผู้บริโภคอยากลองใช้ บางคนก็มองว่าการมีบัตรเครดิตแล้วเท่ เพราะมีเครดิต ในฝั่งผู้ประกอบการเองก็ได้ “กำไร” สูง แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนคุ้นเคยกับบัตรเครดิตมากขึ้น บางคนมีในกระเป๋าถึง 10 ใบ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ พฤติกรรมผู้บริโภคไม่ได้ถือบัตรเครดิตเพราะความเท่อีกแล้ว ทว่าต้องการสิทธิประโยชน์ และไว้ใช้ยามฉุกเฉิน
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และกฎระเบียบที่เข้มขึ้น ทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตในช่วง 5 ปีหลังมานี้ ลดความหอมหวานและท้าทายมาก โดยในปี 2567 ภาพรวมตลาดเติบโตประมาณ 4% เท่านั้น ทำให้หลายเจ้าต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อพยุงธุรกิจให้เติบโตและมีกำไรต่อไปได้ แล้วภูมิทัศน์นับจากนี้ของธุรกิจจะเป็นไปในทิศทางใด นี่คงเป็นคำถามที่หลายคนอย่างหาคำตอบ
ท้าทายหนักสุด ตั้งแต่ทำงานมา 20 ปี
“ปีนี้ว่าลำบากแล้ว แต่ปีหน้าน่าจะลำบากขึ้น และอาจจะเป็นปีที่ Challenge ต้นๆ ในชีวิตการทำงานในธุรกิจบัตรเครดิตมากว่า 20 ปี” นี่คือภาพธุรกิจบัตรเครดิตปี 2568 ที่ “คุณอธิศ รุจิรวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่ด้านกรุงศรี คอนซูมเมอร์ ฉายให้เห็นอย่างชัดเจน
เหตุผลที่ทำให้ตลาดบัตรเครดิตท้าทายมากขึ้น ปัจจัยหลักมาจากสภาพเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยการคืนดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับ 8% โดยครึ่งปีแรกของปี 2568 คืนดอกเบี้ยให้ 0.5% ของยอดค้างชำระ และครึ่งปีหลังอีก 0.25% ซึ่งจะกดดันต่อความสามารถในการทำ “รายได้” และ “กำไร” คงไม่เหมือนเดิม
“ธุรกิจบัตรเครดิตในยุคนี้ เล่นยาก เพราะไม่ใช่ธุรกิจที่จะสร้างผลกำไรได้สูง ดังนั้น จะหวังรายได้เยอะๆ จากการทำธุรกิจไม่ได้แล้ว ทำให้ไม่มีผู้เล่นใหม่เข้ามา ผู้เล่นเก่งๆ ก็หายหมด เหลือแต่ผู้เล่นรายเดิม และไม่มีใครอยากออกบัตรเครดิตใหม่ ที่อยู่กันมาได้ เพราะเติบโตมาตั้งแต่ยุคเดิม จึงพอที่จะพยุงธุรกิจไว้ได้”
แม้ปี 2568 จะท้าทายมากขึ้น แต่ คุณอธิศ มองว่า Loan Demand ยังไม่น่าลด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาอนุมัติลูกค้าของแต่ละสถาบันการเงิน แต่สิ่งที่กังวลมากที่สุด คือ สภาพเศรษฐกิจ เพราะการเติบโตของธุรกิจ Payment และสินเชื่อ ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจดี คนมีเงิน การใช้จ่ายบัตรก็เยอะขึ้น สินเชื่อก็ปล่อยได้มาก หนี้ศูนย์ก็น้อย แต่วันนี้ยังมองไม่เห็นว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตได้แค่ไหน และยังไม่มีสัญญาณบวกที่จะหนุนให้ธุรกิจเติบโตและดีขึ้น
“คุมเสี่ยง – ลีน” คาถาบริหารธุรกิจยุคกำไรยาก
เมื่อการสร้างรายได้และกำไรจากการทำธุรกิจ ทำได้ยากขึ้น ธุรกิจจึงต้องปรับตัว โดยรากฐานสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจแข็งแรงและขับเคลื่อนต่อไปได้ คุณอธิศ บอกว่า ต้องมีสเกลและการควบคุมความเสี่ยงที่เก่งมาก เพราะถ้าควบคุมความเสี่ยงไม่ได้ หนี้เน่าจะกินกำไรไปหมด และต้องเป็นผู้เล่นที่ลีน (Lean) หรือ กำจัดไขมันส่วนเกิน เพราะถ้าควบคุมต้นทุนได้ดี แม้รายได้จะน้อยลง แต่ก็สามารถจะพยุงธุรกิจให้อยู่เหนือน้ำได้
ทำให้กลยุทธ์การของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ในปีหน้า จะกลับไป Relook หลังบ้านใหม่ทั้งหมดตั้งแต่คน ไปจนถึงกระบวนการทำงาน ส่วนไหนขององค์กรยังอ้วน ต้องลีนให้มากขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะลดคน แต่เป็นการกลับมาดูแต่ละหน่วยงานว่าจัดสรรคนได้ถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งนำ AI และ RPA (Robotic Process Automatic) มาใช้ในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่มีการทำซ้ำๆ และลดต้นทุนธุรกิจ
ขณะเดียวกัน ยังจะปรับโฉมบัตรเก่าและสิทธิประโยชน์ใหม่ให้ถูกจริตกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค พร้อมกับเพิ่มหมวดหมู่ใหม่ๆ ตามเทรนด์การใช้จ่ายของผู้บริโภค เช่น Solar Roof, สัตว์เลี้ยง และรองเท้า เป็นต้น เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนารูปแบบการชำระเงินใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple Pay หรือ Google Pay ให้สอดรับกับความต้องการของคนรุ่นใหม่
ซึ่งหากสามารถคุมต้นทุนได้ เบื้องต้น คุณอธิศเชื่อว่า ยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรของกรุงศรี คอนซูมเมอร์ในปี 2568 จะเติบโตกว่า GDP ราว 2-3 เท่า หรืออยู่ที่ 6-9% ถ้าปีหน้าคาดการณ์ GDP ขยายตัวได้ 3% ขณะที่รายได้และกำไรอาจทรงตัว หรือไม่มีการเติบโต ส่วนในปี 2567 คาดว่าจะเติบโตตามเป้าหมาย โดยมียอดบัญชีลูกค้าใหม่ 600,000 บัญชี เติบโต 7% ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 393,000 ล้านบาท เติบโต 8% ยอดสินเชื่อใหม่ 96,000 ล้านบาท เติบโต 5%
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE