ชาวไทยถึง 1 ใน 4 (25%) ระบุว่าตนเองมีน้ำหนักเกินหรืออ้วน โดยมีเพียง 11% ที่ระบุว่าตนเองมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ตามรายงาน Weight Management Diets – Thai Consumer – 2024 โดย Mintel อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของไทยในปี 2566 เผยให้เห็นว่าประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศได้เผชิญกับปัญหาน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน โดยคาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะส่งผลให้ประเทศสูญเสีย GDP ไปถึง 4.9%
ผลสำรวจนี้ได้ตอกย้ำถึงช่องว่างของมุมมองที่สำคัญ ดังที่ระบุไว้ในการวิจัยของ Mintel ซึ่งแบรนด์ต่างๆ สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปิดช่องว่างนี้ได้ผ่านการสร้างแคมเปญให้ความรู้เกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่สมดุล และนำเสนอวิธีการจัดการน้ำหนักที่เหมาะกับแต่ละบุคคลโดยพิจารณาจากเพศ อายุ และพฤติกรรมการออกกำลังกาย
แรงบันดาลใจในการควบคุมน้ำหนัก
ผลการวิจัยของ Mintel ระบุว่าชาวไทยให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก (69%) มากกว่าสุขภาพ (65%) ในการควบคุมน้ำหนัก อย่างไรก็ตาม กลุ่มเจน X ถึง 76% ให้ความสำคัญกับการมีอายุยืนยาวและสุขภาพที่ดี ซึ่งเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนผ่านจากการให้ความสำคัญกับความงามไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีโดยรวมเมื่ออายุมากขึ้น
ข่าวดีก็คือคนไทย 74% มีความต้องการที่จะปรับปรุงน้ำหนักของตน และผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 45 ปี กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักสำหรับแบรนด์ผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก
“คนไทยให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขภาวะที่ดีโดยรวมมากกว่าแค่ความผอมเพียงอย่างเดียว การเปลี่ยนแปลงนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในแนวทางแบบองค์รวมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้ผสมผสานโภชนาการที่สมดุล การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และสุขภาพจิตที่ดีเข้าด้วยกัน” Phurisa (Ploy) Phagudom นักวิเคราะห์อาหารและเครื่องดื่มประจำประเทศไทยของ Mintel กล่าว
อุปสรรคในการควบคุมน้ำหนัก
ชาวไทยจำนวนมากมีความต้องการที่จะลดน้ำหนัก แต่ยังคงประสบปัญหาในการควบคุมน้ำหนัก อันเนื่องมาจากการออกกำลังกายไม่เพียงพอ การทานอาหารที่มีไขมันสูง ขนมหวาน และเครื่องดื่ม โดยผู้คนกว่า 59% ในกลุ่มผู้ที่ควบคุมน้ำหนัก ระบุว่าการออกกำลังกายไม่เพียงพอเป็นอุปสรรคหลักในเรื่องนี้
Phagudom กล่าวว่านี่เป็นโอกาสให้แบรนด์ต่างๆ ทำการโปรโมตโภชนาการที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือแคมเปญที่สนับสนุนกิจกรรมการออกกำลังกาย
โดยรายงานได้ระบุกลุ่มผู้บริโภคหลักสองกลุ่มสำหรับผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักดังนี้: ผู้ที่ออกกำลังกาย ผู้บริโภคที่ออกกำลังกายเป็นประจำ
ผู้ที่อยากออกกำลังกาย ผู้ที่อยากออกกำลังกายมากขึ้น แต่ไม่ได้ออกกำลังกายอยู่ในขณะนี้ “‘ผู้ที่ออกกำลังกาย’ และ ‘ผู้ที่อยากออกกำลังกาย’ ต่างก็มีผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักที่เหมาะสมที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ‘ผู้ที่ออกกำลังกาย’ มีศักยภาพทางการตลาดมากที่สุดสำหรับการควบคุมน้ำหนักด้วยอาหารเสริม ในขณะที่ ‘ผู้ที่อยากออกกำลังกาย’ มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมกับอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพมากกว่า” Phagudom กล่าวเสริม
เครื่องดื่มร้อนกำลังมาแรง
เครื่องดื่มร้อน เช่น ชา ครองส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักทั่วโลก โดยคิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์ใหม่ระหว่างเดือนสิงหาคม 2566 ถึงกรกฎาคม 2567 ตามฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ใหม่ทั่วโลกของ Mintel เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย และมีแนวโน้มที่เครื่องดื่มประเภทอื่นๆ จะสามารถคิดค้นสูตรใหม่ๆ ที่ช่วยให้รู้สึกอิ่มและเผาผลาญไขมันได้
รายงานระบุว่าส่วนผสมต่างๆ เช่น สตีเวีย โปรตีนถั่ว และโครเมียมกำลังได้รับความสนใจทั่วโลก และสามารถตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคชาวไทยในด้านผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนักที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและอิ่มท้องมากขึ้น
“เครื่องดื่มทดแทนมื้ออาหารเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสำรวจสำหรับแบรนด์ต่างๆ เนื่องจากคุณค่าทางโภชนาการและความสะดวกสบายของเครื่องดื่มประเภทนี้สามารถดึงดูดผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายระดับเริ่มต้น และผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักได้ อีกทั้งการทดลองใช้รสชาติแปลกใหม่ เช่น ผลไม้เมืองร้อนอาจช่วยเพิ่มความน่าดึงดูดใจให้กับหมวดหมู่นี้ได้มากขึ้นอีกด้วย” Phagudom กล่าวเสริม
นำเสนอโภชนาการแบบองค์รวมผู้บริโภคชาวไทยมีความชื่นชอบที่แตกต่างกันในอาหารควบคุมน้ำหนัก โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งเลือกอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ โปรตีนสูง สารอาหารจากพืช หรือผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด แม้ว่าคำกล่าวอ้างเรื่อง “การลดน้ำหนัก” จะครองตลาดผลิตภัณฑ์โภชนาการควบคุมน้ำหนัก (87%) ในประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2567 แต่ผู้บริโภคก็ไม่ได้ถือว่าการควบคุมน้ำหนักอย่างมีประสิทธิผลหมายถึงความผอมเพรียวเสมอไป การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของร่างกาย เช่น มวลกล้ามเนื้อที่เพิ่มขึ้น และระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงนั้น มีความสำคัญมากกว่ามาก
“แบรนด์ต่างๆ สามารถให้ความสำคัญไปที่สูตรที่ช่วยย่อยอาหาร หรือความ’รู้สึกอิ่ม’ เพื่อส่งเสริมให้การควบคุมอาหารเป็นไปได้ง่ายขึ้น” Phagudom กล่าว พร้อมกับเสริมว่าชาวไทย 43% เชื่อว่าการรับประทานอาหารที่ทำให้อิ่มนั้นเป็นวิธีการควบคุมน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพ