HomeBrand Move !!สมรภูมิ “อีคอมเมิร์ซ” ปี 2025 เดือด! จับตา 12 เทรนด์ใหม่ ใครปรับตัวก่อน รอดก่อน

สมรภูมิ “อีคอมเมิร์ซ” ปี 2025 เดือด! จับตา 12 เทรนด์ใหม่ ใครปรับตัวก่อน รอดก่อน

แชร์ :

ในยุคที่การค้าออนไลน์เฟื่องฟูสุดขีด ความสะดวกในการชอปปิงอยู่เพียงปลายนิ้วคลิก ส่งผลให้ธุรกิจพร้อมใจกันกระโดดเข้ามาแข่งขันในสนามนี้เพื่อช่วงชิงยอดขาย อย่างไรก็ดี สมรภูมินี้ก็หมุนเร็วมากขึ้นทุกที ส่งผลให้การแข่งขันดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ปี 2025 จึงเป็นอีกปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวงการอีคอมเมิร์ซ ซึ่งในมุมของ “คุณป้อม – ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” กูรูผู้บุกเบิกอีคอมเมิร์ซและธุรกิจดิจิทัลไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด ผู้ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์แห่งแรกของไทย มองความท้าทายในศึกออนไลน์โดยแบ่งออกเป็น 12 เทรนด์ด้วยกัน ได้แก่

1. “อีมาร์เก็ตเพลส” แข่งดุ ผูกขาด ยึดลูกค้าเป็นตัวประกัน

ปี 2025 ชัดเจนมากว่าอีมาร์เก็ตเพลสในไทยถูกผูกขาดเบ็ดเสร็จโดยยักษ์ใหญ่ต่างชาติเพียงไม่กี่ราย และมีการขึ้นค่าธรรมเนียมตามอำเภอใจโดยไร้การควบคุมจากภาครัฐ ยิ่งไปกว่านั้น อีมาร์เก็ตเพลสเหล่านี้ยังยึดข้อมูลลูกค้า ทำให้ผู้ค้าเข้าไม่ถึงชื่อ เบอร์โทร หรือแม้แต่ที่อยู่ของลูกค้า ต้องตกอยู่ในสถานะจำยอม ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้าไปทำการตลาดเอง จะย้ายฐานลูกค้าข้ามไปแพลตฟอร์มอื่นก็ทำไม่ได้

ขณะเดียวกัน การแข่งขันในตลาดอีมาร์เก็ตเพลสจะดุเดือดมากขึ้น หลายแพลตฟอร์มไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นพื้นที่ขายสินค้า แต่กำลังรุกเข้าไปในธุรกิจอื่นที่ครบวงจรมากขึ้น เช่น บางแพลตฟอร์มสร้างระบบการชำระเงินของตนเอง และมีบริการขนส่งเพื่อรองรับธุรกรรมภายในระบบ อย่างกรณีของ Shopee ได้ขยายไปสู่ฟู้ดดิลิเวอรี ขายประกัน และให้บริการสินเชื่อด้วย ส่วน Grab ที่เริ่มจากบริการขนส่งสินค้าและดิลิเวอรีก็ได้ขยายมาสู่บริการสินเชื่อสำหรับผู้ค้าบนแพลตฟอร์มและไรเดอร์

2. สร้างช่องทางการค้าของตัวเอง (Owned Channel) ลดการพึ่งพาอีมาร์เก็ตเพลส

การผูกขาดและยึดข้อมูลลูกค้าโดยอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ ทำให้ผู้ค้าหันมาพัฒนาช่องทางการขายของตนเอง หรือที่เรียกว่า Owned Channel ซึ่งจะทำให้เข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้ สามารถสร้างสัมพันธ์กับลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการซื้อซ้ำได้มากขึ้น

ปัจจุบัน มีผู้ให้บริการที่จะทำให้ Owned Channel เชื่อมต่อระบบชำระเงินและระบบขนส่งได้โดยตรง ซึ่งช่วยให้ธุรกรรมคล่องตัว และลดการพึ่งพาอีมาร์เก็ตเพลส เช่น บริการจาก Pay Solutions ที่เชื่อมต่อกับระบบชำระเงินของ Owned Channel ได้ทุกช่องทาง สามารถรองรับการชำระผ่านเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน บัตรเดบิต บัตรเครดิต Mobile Banking หรือ Alipay WeChat Pay และสามารถชำระที่เคาน์เตอร์ด้วยเครื่องรูดบัตร All-in-one รองรับการผ่อนชำระทุกธนาคาร

3. “สินค้าจีนคุณภาพดี ถูกกฎหมาย” เตรียมบุกไทย

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สินค้าจากจีนที่ไม่ผ่านมาตรฐานทะลักเข้าสู่ไทยเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 2025 คาดว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 เรื่อง คือ การปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายของภาครัฐเริ่มเข้มงวดขึ้น และการแข่งขันในประเทศจีนที่รุนแรงขึ้น ทำให้สินค้าจีนที่มีคุณภาพหลายรายหันมาขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายที่สำคัญของจีน ดังนั้นจะเห็นสินค้าจีนที่มีคุณภาพและนำเข้ามาแบบถูกกฎหมาย เข้ามาแข่งขันกับผู้ประกอบการไทยมากขึ้น

4. “3C Commerce” สร้างความยั่งยืนผ่านคอนเทนต์และคอมมูนิตี้

การค้าออนไลน์ในปัจจุบันไม่ได้มุ่งแค่ขายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่กำลังก้าวสู่เทรนด์ที่เรียกว่า 3C Commerce ซึ่งประกอบด้วย 1.Content การสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจ ช่วยสร้างการรับรู้และความสนใจในตัวสินค้า 2.Community เมื่อมีคอนเทนต์ที่ดี ย่อมดึงดูดผู้ติดตาม สร้างฐานแฟนคลับ และสร้างชุมชนที่มีความผูกพันกับแบรนด์ 3.Commerce คอนเทนต์และคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งจะนำไปสู่การซื้อขายสินค้า สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ค้าและลูกค้า

3C Commerce จึงช่วยเพิ่มความผูกพันที่ทำให้ลูกค้าไม่เพียงซื้อสินค้า แต่ยังติดตามและสนับสนุนแบรนด์อย่างต่อเนื่อง การขายออนไลน์จึงไม่เป็นเพียงการทำธุรกรรมอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นการสร้างประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และเริ่มขยับไปเป็นดิจิทัลเซอร์วิสมากขึ้น

5. “TikTok Commerce” การค้าแห่งอนาคต ขยายจากสินค้าสู่บริการ

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การขายสินค้าผ่าน TikTok เติบโตขึ้นมาก และ TikTok ก็ยังมุ่งการลงทุนและขยายตลาดในด้าน TikTok Commerce อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ TikTok Shop ซึ่งกำลังพัฒนาไปไกลกว่าการขายสินค้าที่จับต้องได้ โดยกำลังก้าวไปเข้าสู่การขายบริการต่าง ๆ เช่น บัตรกำนัลโรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น

ปี 2025 TikTok จะกลายเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลเซอร์วิสที่ครบวงจร โดยผสานคอนเทนต์ คอมมูนิตี้ และคอมเมิร์ซ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ กลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับทำการตลาดและขายสินค้า ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซดุเดือดยิ่งขึ้น

6. “Video Commerce” ดันยอดขายออนไลน์ผ่านวิดีโอ

เมื่อ TikTok แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทรนด์ Video Commerce หรือการขายผ่านวิดีโอ จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสนามแข่งขันที่ดุเดือด โดยแพลตฟอร์มวิดีโอต่าง ๆ พยายามปรับตัวและผสานระบบการขายเข้าไปในคอนเทนต์ของตนเอง เช่น การจับมือระหว่าง YouTube กับ Shopee เพื่อให้สามารถใส่ลิงก์ร้านค้าและสินค้าในวิดีโอได้โดยตรง และ Facebook กับ Instagram ที่เริ่มรองรับการใส่สินค้าในวิดีโอ ทำให้ผู้ชมสามารถกดซื้อสินค้าได้ทันที

Video Commerce จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผสานวิดีโอและการขายที่ทำให้เกิดประสบการณ์การชอปปิงที่มีความบันเทิงและดึงดูดใจมากขึ้น เทรนด์นี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ยังสร้างความเชื่อมโยงระหว่างผู้ขายและลูกค้าผ่านคอนเทนต์วิดีโอที่น่าสนใจ

7. “Vertical Commerce” การค้าเฉพาะกลุ่มมาแรง

Vertical Commerce คือ การขายสินค้าในกลุ่มที่มีความสนใจเฉพาะ เช่น สินค้าเด็ก สินค้าสัตว์เลี้ยง สินค้าผู้สูงอายุ สินค้าเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า พบได้บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Line และ Facebook

การเติบโตของ Vertical Commerce เกิดจากการสร้าง Vertical Community หรือชุมชนกลุ่มเล็กที่มีความสนใจเหมือนกัน ซึ่งการรวมตัวของชุมชนเหล่านี้จะนำไปสู่การซื้อขายที่เฉพาะเจาะจง ช่วยให้ผู้ค้าปิดการขายได้ง่ายขึ้น

8. “AI Commerce” ขับเคลื่อนอนาคตอีคอมเมิร์ซ

AI หรือปัญญาประดิษฐ์ จะเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผนกลยุทธ์ ออกแบบ ไปจนถึงการทำโฆษณา ทุกขั้นตอนจะมี AI เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการทำงาน ดังนั้น การผสาน AI เข้ากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงไม่ใช่แค่การเพิ่มความสะดวกสบาย แต่เป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และยกระดับประสบการณ์การชอปปิงให้ดียิ่งขึ้น

9. “E-Commerce Automation” ระบบอัตโนมัติ ยกระดับธุรกิจออนไลน์

E-Commerce Automation หรือระบบอัตโนมัติสำหรับอีคอมเมิร์ซ จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ใช่แค่การขายสินค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการบริหารจัดการธุรกิจทั้งหมดผ่านแพลตฟอร์ม เช่น การจัดการออเดอร์ การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า ระบบบัญชีออนไลน์ การจัดการขนส่ง การบริหารโฆษณา การตอบกลับอัตโนมัติสำหรับลูกค้า ซึ่งการเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน จะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างอัตโนมัติ ลดความซับซ้อนของงานที่ต้องทำด้วยตนเอง และเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกิจ

10. “E-Commerce Tax” มาแน่ ผู้ขายเตรียมปรับราคาสินค้า

ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากรได้ประกาศให้อีมาร์เก็ตเพลสที่มียอดขายเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี เช่น Lazada, Shopee, TikTok, Grab, Foodpanda, Line Man ต้องส่งรายได้ของร้านค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มให้กับกรมสรรพากร

ในปี 2025 กรมสรรพากรจะเริ่มเห็นตัวเลขยอดขายที่ชัดเจน และจะเริ่มเก็บภาษีจากผู้ค้าเหล่านี้ ซึ่งหมายความว่าผู้ค้าในอีมาร์เก็ตเพลสที่เดิมไม่ได้คำนึงถึงภาษี จะต้องปรับโครงสร้างราคาและจัดการภาษีในธุรกิจออนไลน์ของตนเองด้วย

11. “Affiliate Marketing” ช่องทางการขายที่ไม่ควรมองข้าม

การทำตลาดแบบ Affiliate Marketing จะเป็นเทรนด์ที่มีบทบาทมากขึ้นในการทำธุรกิจออนไลน์ โดยแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Shopee, Lazada, TikTok จะเปิดโอกาสให้เจ้าของสินค้านำสินค้าไปฝากไว้ พร้อมตั้งค่าคอมมิชชันให้กับผู้ที่นำสินค้าไปขายต่อ ซึ่งการทำตลาดแบบนี้จะทำให้ KOL และอินฟลูเอนเซอร์ ที่มีฐานลูกค้าของตัวเอง สามารถนำสินค้าที่เจ้าของสินค้าฝากขายมาโปรโมตให้กับผู้ติดตาม เมื่อเกิดยอดขายก็จะได้รับคอมมิชชัน ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนของตลาดออนไลน์ และเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น โดยไม่ต้องจ่ายค่าทำการตลาดหรือโฆษณาแพงๆ เพียงจ่ายแค่ค่า Affiliate หรือค่า marketing fee

12. “E-Commerce Listening” ผู้ช่วยวิเคราะห์ตลาด

ปัจจุบัน ข้อมูลออนไลน์มีอยู่มากมายมหาศาล กระจัดกระจาย เข้าถึงได้ยาก ดังนั้น E-Commerce Listening จะเข้ามาเป็นเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นในการขายสินค้าออนไลน์ โดยช่วยติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้าทุกชิ้นในตลาดไทย แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงราคา ข้อมูลสินค้าในหมวดหมู่เดียวกัน ยอดขายและกลยุทธ์ของคู่แข่ง ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจเข้าใจตลาดอย่างลึกซึ้ง สามารถกำหนดราคาที่เหมาะสม วางแผนการตลาดได้แม่นยำ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี

จะเห็นได้ว่า ทั้ง 12 เทรนด์นี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการอีคอมเมิร์ซปี 2025 ที่ไม่เพียงแต่แข่งขันดุเดือดขึ้น แต่ยังมุ่งสร้างความยั่งยืนและความได้เปรียบในระยะยาว โดยมีทั้งการพึ่งพาเทคโนโลยี AI การใช้ระบบอัตโนมัติ การสร้างช่องทางการขายของตัวเอง ไปจนถึงการปรับตัวสู่แพลตฟอร์มใหม่อย่าง TikTok Shop และ Video Commerce ซึ่งแบรนด์ที่สามารถปรับตัวและใช้ประโยชน์จากเทรนด์เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมมีโอกาสชิงส่วนแบ่งบนโลกออนไลน์ได้มากขึ้นนั่นเอง


แชร์ :

You may also like