ภายใต้แบรนด์ “สิงห์ เอสเตท” (Singha Estate) อสังหาริมทรัพย์ที่มีธุรกิจ 4 กลุ่ม ทั้งที่อยู่อาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม-โครงสร้างพื้นฐาน ภาพลักษณ์ความเป็นแบรนด์ LUXURY ถึงระดับ ULTRA LUXURY ฝังอยู่ใน DNA ทุกๆ ผลิตภัณฑ์ ทำไมสำหรับ “สิงห์ เอสเตท” แล้ว ต้องเลือกจับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นหลัก และถ้าหากว่าอยากขายบ้าน ให้ลูกค้าระดับบน ต้องมีแนวคิดอย่างไร BrandBuffet มีโอกาสพูดคุยกับ พี่ตั้ม – คุณณัฐวุฒิ มัธยมจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร การพัฒนาธุรกิจพักอาศัย บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน)
แบรนด์ “สิงห์” ชื่อนี้ต้องพรีเมียม
คุณณัฐวุฒิ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงแบรนด์ “สิงห์” ที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานกว่า 90 ปี ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นโปรดักต์ ที่ใกล้ตัวคนไทยมาโดยตลอดอย่าง FMCG หรือ ร้านอาหาร ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มี “คุณภาพ” ที่ทางแบรนด์ต้องรักษาเอาไว้ แนวคิดนี้เองเป็นพื้นฐานสำคัญของ Singha Estate เมื่อเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
จุดเริ่มต้นของ Singha Estate เริ่มจากการสร้างโรงแรม ด้วยโปรเจ็กต์ สันติบุรี เกาะสมุย รีสอร์ตระดับหกดาว ตั้งแต่ 10 กว่าปีก่อน ก็อาศัยแนวคิดในการดำเนินธุรกิจเช่นนั้นมาจัดเต็มให้กับแขกผู้มาเยือน บนพื้นที่กว่า 58 ไร่ ริมหาดแม่น้ำ มีห้องพัก 96 ห้อง แต่ละห้องมีพื้นที่กว้างขวางตั้งแต่ 62 -285 ตารางเมตร ที่เหลือเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ห้องอาหาร 5 ห้อง มีทั้งสนามเทนนิส และสนามฟุตบอล รวมทั้งมีกิจกรรมทางน้ำไว้รองรับลูกค้า นอกจากนี้ยังเต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียว
ขณะเดียวกันก็มีโปรเจ็กท์ ที่พัฒนาพื้นที่สถานทูตญี่ปุ่น ให้กลายเป็น Singha Complex ครบถ้วนทั้งอาคารสำนักงาน พื้นที่รีเทล และที่อยู่อาศัย โดยมีแบรนด์ The ESSE เป็นคอนโดมิเนียมแห่งแรกของค่ายนี้
ไม่ใช่แค่การลงทุนในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีโรงแรมที่อังกฤษ ฟิจิ มอริเซียส และเกาะมัลดีฟส์ ที่ได้ขยายการลงทุนไปจนถึงขั้น เมกะโปรเจ็กท์ “ครอสโร้ดส์ มัลดีฟส์” เป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางการพักผ่อนแบบครบวงจร ประกอบด้วยรีสอร์ต ร้านอาหาร บาร์ แหล่งชอปปิง และสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่หลากหลายโดยที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลของสิ่งแวดล้อม ใส่ใจเรื่องของการเดินทางของกระแสน้ำ ปะการัง ฯลฯ ไปจนสังคมท้องถิ่น
หลังจากนั้น ชื่อ “สันติบุรี” ก็ถูกต่อยอด อีกครั้งด้วย สันติบุรี เดอะ เรสซิเดนเซส โครงการระดับอัลตร้า ลักชูรีขนาด 45 ไร่ ติดถนนประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งมีเพียง 25 หลัง บนที่ดินกว่า 1 ไร่ ต่อหลัง ถือเป็นโครงการแรกๆ ที่ตั้งราคา 250-360 ล้านบาท นับเป็นก้าวแรกของ Singha Estate สู่อสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยแนวราบ ขณะเดียวกันก็คือถือว่าเป็นหนึ่งในผู้นำเทรนด์ส่งบ้านราคา 250 ล้าน เพื่อจับกลุ่มเป้าหมายระดับบน ตอกย้ำภาพของแบรนด์ Singha Estate
“โครงการที่มัลดีฟส์เราคาดหวังให้เป็น Township เป็น Community Mall ที่คนอื่นก็มาเที่ยวได้ มาทานข้าว มาชอปปิง อาจจะไม่ต้องพักกับเรา แค่ใช้เวลาระหว่างที่รอเดินทางต่อ หรือพักด้วยก็ได้ ส่วนโครงการคอนโดฯ ตอนที่เราเปิดตัว The ESSE อโศก ประมาณปี 2558 เราก็เปิดตัวที่ 200,000 บาท ต่อ ตารางเมตร ปรากฎว่าคนรอล่วงหน้า 2 วัน ทั้งหมดนี้สะท้อนวิธีคิดโครงการของเรา และความเชื่อมั่นต่อแบรนด์ของเรา” คุณณัฐวุฒิ เล่าถึงสองโครงการที่ผ่านมา
อะไรคือ DNA ของบ้านในเครือ Singha Estate
จากวิสัยทัศน์ของแบรนด์ รวมทั้งประสบการณ์ที่ผ่านมา ปัจจุบันโปรดักต์ของ Singha Estate มีทั้งหมด 4 ธุรกิจไม่ว่าจะเป็น ที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานให้เช่า โรงแรม และนิคมอุตสาหกรรม
เมื่อโฟกัสเฉพาะโครงการ“ที่อยู่อาศัย” ด้วยจุดยืนในการเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาธุรกิจที่พักอาศัยระดับลักชูรี ของ Singha Estate หรือ Mastering The Luxury ซึ่งจะนำไปสู่แนวคิดในการพัฒนาโครงการด้วย 5 องค์ประกอบหลัก
1. Prime Location การเลือกทำเป็นหัวใจที่สำคัญประเด็นแรก ที่ Singha Estate ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ต้องเป็นพื้นที่ติดถนน หรือติดกับรถไฟฟ้าเท่านั้น ก่อนที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัย
2. Signature Planning & Crafted to Last Design แนวทางการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่ทำให้เป็นบ้านที่อยู่ได้นาน ขณะเดียวกันก็เข้ากับภูมิอากาศร้อนชื้นของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการคิดเรื่องฮวงจุ้ย ที่หมายถึงการคำนึงเรื่อง ลม – แสง อีกทั้งยังมีส่วนที่อาศัยประสบการณ์ ดีไซน์พื้นที่เผื่อไว้สำหรับลูกบ้านเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อที่จะทำให้เมื่อลูกค้าอยากจะเสริมพื้นที่ในบ้าน ก็กลายเป็นเรื่องง่าย พร้อมรอรับการขยายครอบครัวในอนาคต ตามหลัก “Universal Design” เพื่อให้ทุกเจนเนอเรชันในครอบครัวได้ใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน
3. Quality & Invisible Details คุณภาพของวัสดุ และงานก่อสร้าง ไม่ใช่แค่ส่วนที่ลูกบ้านมองเห็นเท่านั้น แต่ก้าวเข้าไปถึงงานระบบน้ำ และไฟฟ้า ที่อยู่ในส่วนที่ผู้อยู่อาศัยมองไม่เห็น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของอิฐที่ใช้ขนาด 12.5 เซนติเมตรเกินกว่ามาตรฐานกำหนด ขณะที่อื่นๆ ใช้ 10 เซนติเมตรตามมาตรฐาน ไปจนถึงระบบเครื่องกรองน้ำเพื่อลดปัญหาตั้งแต่ก่อนที่น้ำจะเข้าโครงการ
“การอยู่อาศัยในบ้านของ Singha Estate เราคิดตั้งแต่ว่า ลูกบ้านของเราต้องอยู่แล้วไม่มีปัญหา ไม่ใช่ว่าเราแก้ปัญหาในภายหลัง เพราะถ้าหากว่าลูกบ้านเข้าอยู่แล้วก็คงไม่มีใครชอบให้มาแก้ไขอะไร” คุณณัฐวุฒิ กล่าว
4. Sustainability ออกแบบโดยคำนึงถึงเรื่องความยั่งยืน สอดคล้องกับเทรนด์ฮิตในปัจจุบันที่มี Solar Cell ขนาด 5.5 กิโลวัตต์ ติดตั้งให้กับลูกบ้าน แถมทำพื้นที่รองรับเพื่อติดตั้ง Solar Battery เพื่อให้พร้อมในวันที่แบตเตอรี่มีราคาเหมาะสมกับการใช้งานจริง
5. Services & Living Experience ตั้งแต่ก้าวแรกที่เยี่ยมชมโครงการ ผ่านกระบวนการซื้อ ไปจนถึง After-Sales Service ผ่าน S KLAS ที่ให้บริการ “24 ชั่วโมง” โดยลูกบ้านใช้แอปพลิเคชัน S Life ที่มีสิทธิพิเศษที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในแต่ละโครงการ เช่น แคมเปญให้ลูกบ้านมีโอกาสร่วมก๊วนออกรอบกับตำนานของวงการกอล์ฟอย่าง “โปรมดแดง-ธรรมนูญ ศรีโรจน์” และ “โปรหมาย-ประหยัด มากแสง” ซึ่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าแบรนด์สิงห์ให้การสนับสนุนนักกีฬากอล์ฟชื่อดังของไทยหลายคนมาเป็นเวลานาน
เซกเมนต์ Luxury ยังไปต่อ
ในปี 2567 นี้ ถึงแม้ว่าตลาด “อสังหาริมทรัพย์” จะไม่สดใสนัก แต่เรายังได้เห็นข่าวการเปิดตัวโครงการเซกเมนต์ Luxury ไปจนถึง Ultra-Luxury ตลอดปี นั่นเพราะเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ย หรือความผันผวนทางเศรษฐกิจต่ำกว่ากลุ่มเป้าหมายอื่น ในส่วนของ Singha Estate ก็มีโปรเจ็กต์ที่วางเอาไว้ว่าจะเปิดตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ไม่ต่ำกว่า 4 โครงการ ประเดิมด้วย S’RIN พรานนก-กาญจนา จับกลุ่มลูกค้าที่มองหาบ้านระดับพรีเมียมลักชูรี โซนกรุงเทพฯ ตะวันตก ด้วยราคาเริ่มต้น 45 ล้านบาท หลังจาก S’RIN ราชพฤกษ์-สาย1 ได้รับความไว้วางใจ มียอดการจองเกินกว่าที่ตั้งคาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ SMYTH’S ที่จับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้ทำเลยังอยู่ในเขตเมือง เดินทาง สังสรรค์เข้าสังคมได้สะดวก ปิดท้ายด้วยโครงการแนวสูงคอนโดมิเนียมติดริมแม่น้ำ ราคาเริ่มต้น 160,000 บาทต่อตารางเมตร ในลำดับถัดไปก็คือการลุยตลาดนอกเขตกรุงเทพมหานคร โดยพิจารณาจากศักยภาพเดิมที่มี เช่น ศรีราชาซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่เป็นเขต EEC หรือ ภูเก็ต ที่มีโรงแรมในเครืออยู่แล้ว
จากแนวคิดการออกแบบและโปรเจ็กต์ที่วางแผนเอาไว้ ทำให้ในปี 2567 นี้ทาง Singha Estate คาดหวังรายได้จากที่อยู่อาศัยมากกว่า 5 พันล้านบาท และตั้งเป้าหมายระยะกลาง เฉพาะรายได้ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอาศัย 10,000 ล้านบาท ภายในปี 2569 โดยมีสัดส่วนรายได้จากโครงการแนวราบ 75% และแนวสูงอีก 25%