HomePR Newsอินฟลูเอนเซอร์แชร์มุมมองปัจจุบัน และอนาคตของการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อินฟลูเอนเซอร์แชร์มุมมองปัจจุบัน และอนาคตของการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แชร์ :

การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป วีโร่ (Vero) บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และการตลาดดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล Influencer Marketing Agency of the Year จาก Campaign Asia ได้สำรวจความเป็นไปของอินฟลูเอนเซอร์ในยุคปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปี 2568

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวท์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ การมีส่วนร่วม และอนาคตของการตลาดอินฟลูเอนเซอร์: มุมมองจากอินฟลูเอนเซอร์ (“Impact, Engagement, and the Future of Influencer Marketing: Insights from Influencers”)” ซึ่งนำเสนอผลสำรวจจากอินฟลูเอนเซอร์เกือบ 150 คนในอินโดนีเซีย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยครอบคลุมช่วงอายุ ประสบการณ์ กลุ่มเนื้อหา และฐานผู้ติดตาม ผลสำรวจนี้เผยข้อมูลเชิงลึกที่แบรนด์ควรรู้เกี่ยวกับแรงจูงใจและความต้องการของอินฟลูเอนเซอร์ในปัจจุบัน รวมถึงวิธีการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพในปี 2568 และอนาคต

คุณอุมาพร วิทเทเกอร์-ทอมป์สัน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการลูกค้า และหัวหน้าแผนก Influence ของวีโร่ เผยว่า “ในโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งสำคัญเพื่อก้าวล้ำหน้ากระแส และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ ผลสำรวจของเราฉบับนี้ สำรวจทั้งสภาพปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงที่คาดหวัง และการปรับกลยุทธ์ของอินฟลูเอนเซอร์ในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์”

เนื่องจากการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ยังคงเติบโตและซับซ้อนยิ่งขึ้น ด้วย 72% ของอินฟลูเอนเซอร์ที่สำรวจลงเห็นว่า ความต้องการเนื้อหาสปอนเซอร์เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า เอกสารไวท์เปเปอร์นี้จึงเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์ โดยไม่ทำลายความไว้วางใจระหว่างอินฟลูเอนเซอร์กับผู้ติดตาม

ข้อมูลสำคัญจากการสำรวจของวีโร่ มีดังนี้

ในสนามโลกดิจิทัลที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน การเล่าเรื่องคือสิ่งที่ทำให้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์โดดเด่น 78% ของอินฟลูเอนเซอร์ที่เข้าร่วมการสำรวจใช้ Instagram ในขณะที่ 82% ใช้ TikTok เป็นแพลตฟอร์มหลักหรือรองสำหรับคอนเทนต์ของพวกเขา เมื่อแพลตฟอร์มเหล่านี้เต็มไปด้วยผู้ใช้ที่แข่งขันกันอย่างเข้มข้น การเล่าเรื่องที่สามารถดึงดูดและเชื่อมโยงกับผู้ชมได้คือสิ่งที่ทำให้พวกเขาโดดเด่น โดย 34% ของอินฟลูเอนเซอร์เชื่อว่าการเล่าเรื่องคือส่วนสำคัญที่สุดของงานนี้ โดยเฉพาะในหมู่ผู้ตอบแบบสำรวจจากไทย (43%) และฟิลิปปินส์ (41%) ข้อความสั้นๆ หรือแบบทดสอบได้รับการจัดอันดับเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดสำหรับอินฟลูเอนเซอร์จากอินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม (15%) และฟิลิปปินส์ ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ไทยเน้นเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้น (User-Generated Content: UGC) เป็นอีกหนึ่งรูปแบบคอนเทนต์ที่สำคัญสำหรับการมีส่วนร่วมของผู้ชม

ความเป็นตัวของตัวเองคือสกุลเงินหลักของอินฟลูเอนเซอร์ มากกว่าครึ่งหนึ่ง (58%) ของอินฟลูเอนเซอร์จากการสำรวจของวีโร่ ให้ความสำคัญกับการรักษาสไตล์ส่วนตัวในขณะที่ทำเนื้อหาตรงตามประเด็นสื่อสารหลักที่แบรนด์ต้องการนำเสนอ พวกเขาทุ่มเทเพื่อให้ทุกโพสต์ยังคงสอดคล้องกับตัวตนของพวกเขา โดย 37% จะเลือกปฏิเสธข้อเสนอในการร่วมมือเมื่อพบว่าอุดมการณ์และค่านิยมไม่ตรงกัน สิ่งที่น่าสังเกตคือ 38% ยังคงพร้อมที่จะเสนอมุมมองใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของแบรนด์ การเปิดใจและการสนทนาที่ดีสามารถช่วยให้แคมเปญแต่ละรายการได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้ติดตามของอินฟลูเอนเซอร์ และรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้ได้

อินฟลูเอนเซอร์ต้องการอิสรภาพทางความคิด ควรปล่อยให้พวกเขาได้ทำตามใจ การขาดอิสรภาพทางความคิดคือความท้าทายหลักที่ 29% ของอินฟลูเอนเซอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เผชิญ โดยตัวเลขนี้สูงถึง 37% ในประเทศไทย อิสรภาพในการแสดงออกไม่ใช่แค่สิทธิในการแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งสำหรับแบรนด์ นี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับธุรกิจ นอกจากนี้ ความคาดหวังที่ไม่คำนึงถึงความเป็นจริง (20%) คือความท้าทายที่พบบ่อยเป็นอันดับสอง และยังเป็นความท้าทายหลักสำหรับชาวสิงคโปร์ที่ 29% ในฟิลิปปินส์ (30%) เวียดนาม (23%) สิงคโปร์ (19%) และอินโดนีเซีย (19%) อินฟลูเอนเซอร์ยังได้รับผลกระทบจากการชำระเงินที่ล่าช้า ความท้าทายเหล่านี้เป็นสัญญาณชัดเจนสำหรับแบรนด์ที่ต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับอินฟลูเอนเซอร์ แต่ข่าวดีคือ อินฟลูเอนเซอร์ยินดีที่จะหาทางออก โดย 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า การสื่อสารที่เปิดเผยกับแบรนด์มักช่วยเสริมสร้างความรู้สึกว่าตนเองมีค่าและภักดีต่อแบรนด์มากขึ้น และ 38% พร้อมที่จะเสนอทางเลือกเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้

ในการร่วมงานกับแบรนด์ ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนคือสิ่งสำคัญที่สุด แม้ว่าการได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นจะเป็นสิ่งที่อินฟลูเอนเซอร์ส่วนใหญ่ปรารถนา โดยเฉพาะในสิงคโปร์ (31%) และอินโดนีเซีย (30%) แต่หลายคนยังให้ความสำคัญกับโอกาสในการร่วมงานระยะยาวกับแบรนด์ ซึ่งในประเทศไทย (32%) เวียดนาม (28%) และฟิลิปปินส์ (26%) ตัวเลขนี้สูงขึ้น และสะท้อนถึงความต้องการของอินฟลูเอนเซอร์ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับแบรนด์ ในขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ในเวียดนาม (28%) และสิงคโปร์ (23%) ยังมองว่า การได้รับเชิญไปงานและทริปของแบรนด์เป็นตัวกระตุ้นสำคัญในการร่วมงาน ทั้งนี้ การส่งเสริมความสัมพันธ์ระยะยาวกับอินฟลูเอนเซอร์สามารถช่วยเสริมสร้างความเป็นตัวของตัวเองและรักษาประเด็นสื่อสารหลักแบรนด์ให้สอดคล้องกันได้ในระยะยาว

อินฟลูเอนเซอร์มักคอยจับตามองคอมมูนิตี้ ความเป็นตัวของตัวเอง การขายของออนไลน์ผ่านโลกโซเชียล และ AI ในปี 2568 การสร้างคอมมูนิตี้ที่มีแพชชั่นผ่านกิจกรรมที่จัดโดยอินฟลูเอนเซอร์ (28%) และการร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์คนอื่นๆ (23%) จะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอินฟลูเอนเซอร์ในปีต่อๆ ไป รวมถึงการเน้นความเป็นตัวของตัวเอง (28%) หลายคนยังจับตามองการเพิ่มขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (36%) และการขายของออนไลน์ผ่านโลกโซเชียล (33%) ในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงการจับตามองว่ามันจะมีผลกระทบต่อการตลาดของอินฟลูเอนเซอร์อย่างไร แบรนด์ในวันนี้มีโอกาสที่จะเป็นผู้นำในการกำหนดทิศทางของแนวโน้มเหล่านี้ได้ในอนาคต

ทุกความร่วมมือระหว่างอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์เริ่มต้นด้วยการหาคู่ที่เหมาะสม การหาคู่ที่เหมาะสมระหว่างอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์คือขั้นตอนแรกในการสร้าความสัมพันธ์ที่เป็นธรรมชาติและเป็นประโยชน์ร่วมกัน และเมื่อการแข่งขันเพิ่มขึ้น การเริ่มต้นแคมเปญการตลาดของอินฟลูเอนเซอร์ให้ถูกต้องจึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคย เพื่อให้มั่นใจว่ามีการจับคู่ที่เหมาะสม วีโร่ได้สร้าง TrueVibe ซึ่งเป็นโซลูชันที่ใช้ข้อมูลในการทำการตลาดกับอินฟลูเอนเซอร์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ InFluent ซึ่งเป็นวิธีการและโซลูชันที่วีโร่สร้างขึ้นเอง โดย TrueVibe จะให้คะแนนอินฟลูเอนเซอร์ตามเกณฑ์ 6 ข้อ ได้แก่ การเข้าถึง (Reach) ความสนใจ (Interests) การมีส่วนร่วม (Engagement) คุณภาพเนื้อหา (Content Quality) อำนาจ (Authority) และค่านิยม (Values)

“ในประเทศไทย ผู้ใช้โซเชียลมีเดียตอบสนองต่ออินฟลูเอนเซอร์ที่พวกเขาชื่นชอบอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าตลาดอื่นๆ ซึ่งทำให้เกิดความนิยมของเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างขึ้นเป็นอย่างมาก” คุณรฉัตร พวงเพ็ชร ผู้จัดการอสวุโสฝ่ายผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด ของวีโร่ กล่าวเมื่อพูดถึงกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ในบริบทท้องถิ่น “สิ่งนี้ย้ำถึงคุณค่าของการสร้างเนื้อหาที่ร่วมมือกัน ซึ่งสร้างทั้งความรู้สึกเป็นส่วนตัวและการมีส่วนร่วมร่วมกัน ที่อินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างการสนทนาและเปลี่ยนแคมเปญให้กลายเป็นกิจกรรมที่ขับเคลื่อนโดยคอมมูนิตี้ได้อย่างแท้จริง”

เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ดิจิทัลที่รวดเร็ว แบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวต่อแนวโน้มใหม่ๆ รวมถึงมีการอัปเดตแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือต้องยึดมั่นในค่านิยมหลักของทั้งอินฟลูเอนเซอร์และแบรนด์เพื่อให้มั่นใจในความเป็นตัวของตัวเองและความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนกับผู้ชม สามารถอ่านการศึกษาฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์วีโร่


แชร์ :

You may also like