หากพูดถึงตำราการตลาดและกลยุทธ์การสร้างแบรนด์จากนักเขียนชื่อดังในปัจจุบัน ก็ต้องนึกถึงกูรูระดับตำนาน ไม่ว่าจะเป็น Philip Kotler บิดาการตลาดสมัยใหม่ David Aaker กูรูที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับแบรนด์ Michael E. Porter บิดาแห่ง Five Forces Model การบริหารจัดการการตลาดเชิงกลยุทธ์ ล้วนมาจากโลกฝั่งตะวันตก
เมื่อ “การตลาด” คือ “การดูแลลูกค้า” ดังนั้นการใช้แนวคิดกลยุทธ์การตลาดจากฝั่งตะวันตก มาดูแลลูกค้าในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยจึงไม่เพียงพอ อีกทั้งบางเรื่องที่เป็นกรณีศึกษาการสร้างแบรนด์และองค์กรเติบโตที่อยู่ในไทยและเอเชีย หลักคิดเชิงกลยุทธ์จากโลกฝั่งตะวันตกอาจวิเคราะห์ได้ยาก เพราะใช้แนวคิดที่แตกต่างออกไป
กรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ “ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่มีบริษัทอายุเกิน 100 ปี มากที่สุดในโลก โดยหลายบริษัทสามารถสืบทอดความสำเร็จและพัฒนาต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น มีความมั่นคงและแข็งแกร่งในวงการธุรกิจมายาวนาน เนื่องจากชาวญี่ปุ่นมีหลักการบริหารธุรกิจการตลาดและปรัชญาที่เน้นสร้างความยั่งยืนอย่างถาวร
ดังนั้นองค์ความรู้ทางด้านการตลาด การเข้าใจลูกค้า การดูแลลูกค้า รวมถึงการสร้างแบรนด์แบบญี่ปุ่น จึงเป็นศาสตร์และศิลป์ที่มีความน่าสนใจ
ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS CHULA) กล่าวว่าหากดูการเติบโตขององค์กรธุรกิจในประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีแนวคิดแตกต่างจากโลกตะวันตก เห็นได้จากวงจรการเติบโตของสินค้าและแบรนด์ เริ่มจากการแนะนำสินค้า (Introduction) เข้าสู่ช่วงเติบโต (Growth) เข้าสู่ภาวะคงที่ (Measure) จากนั้นเริ่มสู่ภาวะลดลง (Decline) แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ธุรกิจในญี่ปุ่นใช้ระยะเวลาค่อยๆ เติบโตแบบไม่ก้าวกระโดด เป็นการเติบโตไปเรื่อย เข้าสู่ภาวะคงที่และไม่ลดลง เป็นองค์กรที่อยู่ได้อย่างมั่นคงเป็น 100 ปี 200 ปี
ที่ผ่านมาการจัดอันดับแบรนด์ของโลก ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ของบริษัทจากฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ติดอันดับท็อป 10 ส่วนเอเชียที่ติดอันดับโลกก็มาจากญี่ปุ่นเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น Toyota Honda Nissan Docomo ที่ล้วนเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกมายาวนาน หลังจากนั้นจึงเริ่มเห็นแบรนด์จาาก เกาหลี จีน เข้ามาติดอันดับ
จึงเป็นคำถามว่า หลักคิดหรือวิธีการบริหารของญี่ปุ่น ทำอย่างไรให้แบรนด์และองค์กรเติบโตมาได้ยาวนานมั่นคงเป็น 100 ปี ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ดังนั้นการเรียนการสอนด้านการบริหารการตลาด นอกจากแนวคิดของโลกฝั่งตะวันตกแล้ว จึงต้องศึกษาหลักคิดการตลาดจากฝั่งเอเชียด้วย ที่น่าสนใจคือ “ปรัชญาการตลาดญี่ปุ่นที่เน้นความยั่งยืน” ที่ทำให้องค์กรเติบโตมาได้นับ 100 ปี เป็นสิ่งที่การเรียนการสอนด้านการตลาดยังไม่เคย “ถอดรหัส” แนวคิด ZEN Marketing จากปรัญชาญี่ปุ่นมาก่อน
องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) จึงจับมือ ภาควิชาการตลาด Chulalongkorn Business School คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวหลักสูตร “ZEN: Marketing Legacy of the Rising Sun” ความรู้การตลาดเพื่อความดีงามและยั่งยืน สนับสนุนให้องค์กรมีความรู้ใหม่ๆ พลิกโฉมธุรกิจสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน เป็นการนำปรัชญาญี่ปุ่นมาอธิบาย Marketing for sustainability ให้ชัดเจน
ความร่วมมือนี้ไม่ใช่เพียงการทำหลักสูตร แต่เป็นการตอบคำถามสำคัญด้านองค์ความรู้และปรัชญา รวมถึงปัญญาแบบชาวเอเชีย ว่ามี “รหัสลับ” อะไรบ้างที่ควรรู้และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จอยู่ได้เป็น 100 ปี ถือเป็นการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อความยั่งยืนให้กับองค์กรธุรกิจในประเทศไทย
ถอดรหัส ZEN Marketing
หลักสูตร “ZEN (Zoomed Experience for the Next): Marketing Legacy of the Rising Sun” ความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กับองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เป็นหลักสูตรการตลาด ด้วยองค์ความรู้และปรัชญาการตลาดญี่ปุ่นที่เน้นความยั่งยืน สำหรับผู้บริหารระดับสูงและเจ้าของกิจการ
หลักสูตร ZEN Marketing ภายใต้กรอบแนวคิด “CARE” ประกอบด้วย
C: Community การยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสังคมโดยรวม
A: Accountability ความโปร่งใสและความรับผิดชอบในทุกขั้นตอนของธุรกิจ
R: Resilience การปรับตัวและสร้างระบบที่ยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลง
E: Environment การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนในทุกมิติของธุรกิจและสังคม
คุณพัลลภ ไทยอารี ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) กล่าวว่าได้ทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งด้าน ศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา มาโดยตลอด การร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถือเป็นการริเริ่มที่ พ.ส.ล. ใช้องค์ความรู้ เครือข่ายขององค์การฯ และบุคลากร ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เป็นผู้นำในด้านการศึกษาของประเทศไทย เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่เป็นแนวทางใหม่ที่ต่างออกไป
โครงการ “ZEN: Marketing Legacy of the Rising Sun” ที่จะจัดขึ้นเป็นหลักสูตรการอบรมทางการตลาด ที่มุ่งเน้นถึงความจริงใจ ความซื่อตรงต่อลูกค้า เป็นโครงการแรก องค์การฯ จะนำเครือข่าย ทั้งในด้านการศึกษาและสังคม ของญี่ปุ่น ร่วมกับ ดร.วรภัทร ภู่เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้าน ปรัชญาเซนในประเทศไทย และ ดร.เทอดทูน ไทศรีวิชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านการ Coaching เพื่อให้การเรียนรู้นั้นมาจากผู้รู้จริง
ผศ.ดร.ปณิธาน จันทองจีน ประธานหลักสูตร ZEN กล่าวว่า ZEN เป็นหลักสูตรการอบรมทางการตลาดที่ผสานหลักการของปรัชญาแบบญี่ปุ่น กับแนวทางการตลาดสมัยใหม่ นำมาใช้เป็นสร้างเอกลักษณ์การสร้างแบรนด์ การดูแลลูกค้า การทำการตลาด และการสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจอย่างจริงใจและยั่งยืนในระยะยาว
การตลาดที่จะสร้างความยั่งยืนได้นั้น จะต้องเป็นการตลาดที่ใส่ใจ (CARE) และเป็น ZEN Marketing ที่ผสมผสานปรัชญาญี่ปุ่น สร้างเป็น 3 องค์ประกอบสำคัญทางการตลาด ได้แก่
Z: Zen Principles คือแนวทางที่เน้นความเรียบง่ายและสมดุลในทุกกระบวนการ ไม่มุ่งแค่การเติบโตทางยอดขายเพียงอย่างเดียว
E: Empathy ต้องเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่การศึกษาเรื่องพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วไป
N: Nurture ซึ่งเป็นเรื่องของการดูแลความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้า และการสร้างประสบการณ์ที่ดีในทุกจุดสัมผัส”
จุดเด่นของหลักสูตร ZEN เป็นหลักสูตรการตลาดที่ผสานปรัชญาญี่ปุ่นหลักสูตรเดียวที่เป็นความร่วมมือกับภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และผู้บริหารองค์กรชั้นนำกว่า 10 แห่ง ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้ ติดอาวุธทางการตลาดกับ ZEN GURU ผู้รู้จริงและผู้มีประสบการณ์จริงระดับแนวหน้าของไทยและญี่ปุ่น รวมทั้งได้ใกล้ชิดกับ ZEN Guru อย่างลึกซึ้ง เต็มเปี่ยมด้วยสาระและแรงบันดาลใจ เปิดโลกใหม่กับทริปดูงานระดับ Exclusive ณ องค์กรระดับตำนานในญี่ปุ่น ที่เปิดให้เข้าชมเป็นพิเศษเฉพาะหลักสูตร ZEN ทั้งนี้ผู้ผ่านการอบรมเกิน 80% จะได้รับประกาศนียบัตรจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ
หลักสูตรการตลาดเชิงญี่ปุ่น สำหรับผู้บริหารระดับสูง และเจ้าของกิจการที่ต้องการเติบโตอย่างยั่งยืนแบบองค์กรญี่ปุ่นที่มีอายุนับ 100 ปี หลักสูตร ZEN เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ – 17 พฤษภาคม 2568
สามารถติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับหลักสูตร ZEN ได้ทาง Facebook: Zoomed Experience for the Next: ZEN
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE