อบาคัส ดิจิทัล (ABACUS digital) เรือลำแรกที่แยกตัวออกมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ หรือปัจจุบันคือยานแม่ SCBX เปิดความสำเร็จธุรกิจสินเชื่อออนไลน์ภายใต้แอปพลิเคชัน “มันนี่ธันเดอร์” (MoneyThunder) หลังมีการดึง AI มาช่วยประเมินความเสี่ยงกลุ่มนาโนไฟแนนซ์ และสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 2.4 หมื่นล้าน พร้อมโชว์ตัวเลข NPL ต่ำกว่า 3% (ค่าเฉลี่ยของตลาดอยู่ที่ 5 – 7%) เล็งหาพาร์ทเนอร์ บุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเดินหน้าทำกำไรเพิ่มอีก 40% จากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 200 ล้านบาท
สำหรับเบื้องหลังความสำเร็จ หรือก็คือการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อช่วยประเมินสินเชื่อให้กับ MoneyThunder นั้น ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด กล่าวว่า มาจากโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของคนที่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ เช่น พ่อค้าแม่ค้า SME, ฟรีแลนซ์, เด็กจบใหม่, เกษตรกร ฯลฯ (ซึ่งมีประมาณ 21.3 ล้านคน) ค่อนข้างต่ำมาก โดยส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินที่มีมาตรการที่รัดกุม เช่น ต้องมีสลิปเงินเดือน หรือเอกสารที่ชัดเจนจึงจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้
การถูกสถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องหันไปหาหนี้นอกระบบ ซึ่งมีโอกาสได้เงินมากกว่า แม้จะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมากก็ตาม ซึ่งภายในงานแถลงข่าวยังได้มีการอ้างถึงสถานการณ์ครัวเรือนไทยที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบว่ามีมากถึง 42% พร้อมประเมินว่า หนี้นอกระบบของไทยนั้นอาจมีมูลค่าสูงถึง 8 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว
AI และข้อมูลทางเลือก สู่การเปลี่ยนตลาดสินเชื่อ
สิ่งที่อบาคัส ดิจิทัลทำ จึงเป็นการนำ AI และข้อมูลทางเลือก เช่น บิลค่าน้ำค่าไฟ ยอดขายออนไลน์ มาใช้ประกอบการสมัครสินเชื่อ เพื่อเป็นตัวช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง และทำให้คนที่มีเครดิตน้อย สามารถเริ่มต้นมีสินเชื่อในระบบได้ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือ
- แอปพลิเคชันสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ไวสุดภายใน 2 นาที โดยที่ผู้กู้ไม่ต้องเดินทางมาที่สถาบันการเงินเหมือนในอดีต
- การคิดดอกเบี้ยจะประเมินจากความเสี่ยงของผู้กู้ ซึ่งแตกต่างกันไปตามโปรไฟล์ของแต่ละบุคคล
- ตัวแอปมีฟีเจอร์ช่วยสร้างวินัยในการชำระเงิน เช่น การให้คะแนนการชำระเงิน เพื่อให้ผู้กู้รักษาเครดิตในระยะยาว
- ตัวแอปสามารถลดจำนวนเงินผ่อนชำระลงชั่วคราวได้
- มีฟีเจอร์อนุญาตให้ผู้กู้เปลี่ยนจากสินเชื่อหมุนเวียนเป็นสินเชื่อแบบกำหนดระยะเวลา
- ลดค่าใช้จ่ายในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ
ส่งเสริมความเท่าเทียม
นอกจากนี้ การเปิดให้นำข้อมูลทางเลือกเข้ามาใช้ในการประเมิน สามารถช่วยส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้หญิงได้ด้วย โดย ดร.สุทธาภากล่าวว่า ในอดีต ผู้ชายมักเป็นผู้ถือครองทรัพย์สิน ทำให้อัตราส่วนของผู้ชายที่กู้ผ่านสูงกว่าผู้หญิง แต่เมื่อมีข้อมูลทางเลือกเข้ามาใช้ประกอบการพิจารณาสินเชื่อ พบว่ามันนี่ธันเดอร์มีสัดส่วนลูกค้าที่เป็นผู้หญิงถึง 63% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดที่ 40%
อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ ผู้ใช้สินเชื่อกว่า 1 ใน 3 เคยพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบ และกว่า 30% เคยถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคาร ทั้งนี้ ทางผู้บริหารอบาคัส ดิจิทัลเผยด้วยว่า มากกว่า 50% ของผู้ใช้งานมีรายได้ที่ดีขึ้นหลังได้รับสินเชื่อจากมันนี่ทันเดอร์
ปัจจุบัน แอปพลิเคชันมันนี่ธันเดอร์มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 20 ล้านครั้ง และมีผู้ใช้เติบโตกว่า 4 ล้านคน รวมถึงสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิกว่า 200 ล้านบาท และในปีนี้ตั้งเป้าเติบโตอีกราว 40%
ส่ง ABACUS techsuite เจาะตลาดองค์กร
นอกจากพัฒนาแอปพลิเคชันมันนี่ธันเดอร์แล้ว ในอีกด้าน อบาคัส ดิจิทัลก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานกลุ่มองค์กร ภายใต้ชื่อ ABACUS techsuite โดยโปรดักท์แรกที่ส่งออกมาก็คือ ABACUS check ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลสเตทเมนต์ธนาคารได้ภายใน 1 นาที (ปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ได้แล้ว 9 ธนาคาร) รวมถึงสามารถตรวจจับการปลอมแปลงเอกสารได้ด้วย
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของ ABACUS check ได้แก่ สถาบันการเงิน ธุรกิจเช่าซื้อ และอสังหาริมทรัพย์
เปิดแผนอบาคัส ดิจิทัล 2025 บุก SEA
ดร.สุทธาภา ยังได้กล่าวถึงแผนของอบาคัส ดิจิทัลในปี 2025 นี้ด้วยว่า จะเริ่มบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการจับมือกับพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าปัจจุบัน – ขยายฐานลูกค้าใหม่ ๆ
ส่วนการระดมทุนนั้น ดร.สุทธาภามองว่ามีโอกาสเข้ามาพอสมควร แต่ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนของบริษัทในเวลานี้เมื่อเทียบกับการออกไปบุกตลาดอาเซียนที่ทางทีมงานมีความสนใจมากกว่านั่นเอง