จากรายงานของ Global Wellness Institute (GWI) ที่ศึกษาและวิจัยด้านสุขภาพเชิงป้องกันและอุตสาหกรรมเวลเนสทั่วโลก เผยข้อมูลการเติบโตของธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ ในปี 2023 มีมูลค่า 6.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าในปี 2028 มูลค่าสูงขึ้นเป็น 9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7.3% สูงกว่า GDP โลก ซึ่งเติบโต 4.8% สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันมากขึ้น
อุตสาหกรรมเวลเนลในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตตามเทรนด์ตลาดโลกเช่นกัน คาดการณ์ว่ากลุ่มเวลเนส ที่เติบโตสูงเกิน 10% ต่อเนื่องในช่วง 5 ปี จากนี้ มี 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพ (Wellness Real Estate) เป็นรูปแบบอสังหาฯ ที่ส่งเสริมสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย โรงแรม อาคารสำนักงาน การก่อสร้างในกลุ่มนี้จะเติบโตปีละ 15%
2. การดูแลสุขภาพจิต (Mental Health Wellness) เป็นการดูแลภาวะทางจิต มีมาจากปัจจัยการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เช่น ความเครียด การนอนไม่หลับ กลุ่มนี้เติบโตปีละ 10%
3. การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) กลุ่มนี้เติบโตปีละ 10.2% โดยก่อนโควิด ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเชิงสุขภาพ 15 ล้านคน เป็นอันดับ 7 ของโลก ช่วงโควิดจำนวนลดลง จากนั้นฟื้นตัวในปี 2023 อยู่ที่ 13.5 ล้านคน เป็นอันดับ 15 ของโลก
นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก (BDMS Wellness Clinic) ศูนย์สุขภาพเชิงป้องกันในเครือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าธุรกิจเวลเนสทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตจากโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ (Aged Society) ในประเทศไทยคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วนกว่า 20%
อีกปัจจัยมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคเส้นเลือดในสมองตีบ/แตก/ตัน โรคอ้วน โรคเครียด และโรคมะเร็ง เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ปี 2023 ทั่วโลกเสียชีวิตจากโรค NCDs 74% ราว 45 ล้านคนต่อปี
จากปัจจัยดังกล่าวทำให้เทรนด์การดูแลสุขภาพเติบโตก้าวกระโดด โดยหันมาใส่ใจกับการดูแลสุขภาพแบบ Preventive Medicine หรือการป้องกันก่อนเกิดโรคมากขึ้น
ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพสูงด้านธุรกิจท่องเที่ยว มีปัจจัยหลักในการดึงดูดชาวต่างชาติคุณภาพสูงให้เข้ามาอยู่ระยะยาว ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ท่องเที่ยว อาหารไทย วัฒนธรรมไทยและการบริการที่มีคุณภาพ รวมทั้งความก้าวหน้าด้านการแพทย์เทียบเท่ามาตรฐานสากล ปัจจัยเหล่านี้ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้
คาดการณ์ว่าปี 2025 จำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตัวเลขน่าจะแซงก่อนโควิด คือเกิน 15 ล้านคน เป้าหมายต่อไปคือผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Wellness Destination of the World ติดท็อป 5 ของโลก ปัจจุบันอันดับ 1 คือ สหรัฐ ตามด้วย เยอรมนี จีน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น
“บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก” เป็นศูนย์ดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน เห็นโอกาสการเติบโตในกลุ่ม Wellness Tourism เช่นกัน จึงร่วมกับ “ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด” ผู้ให้บริการบัตรสมาชิกไทยแลนด์ พริวิเลจ วีซ่าพำนักระยะยาว ภายใต้การกำกับดูแลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพกับสมาชิกบัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ ที่ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 37,000 คน
สำหรับบริการดูแลสุขภาพ เช่น การตรวจสุขภาพระดับเซลล์ การตรวจความยาวเทโลเมียร์เพื่อประเมินอายุเซลล์ การตรวจ Epigenetics เพื่อหาความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคต การตรวจสมดุลฮอร์โมน วิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระ รวมถึงการออกแบบการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized Medicine) ตามหลักเวชศาสตร์วิถีชีวิต (Lifestyle Medicine) และการปรุงวิตามินเฉพาะบุคคล (Personalized Supplements)
ปัจจุบัน “บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก” มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้บริการปีละ 1 ล้านคน ตัวเลขเติบโตทุกปี ตลาดหลักมาจากกลุ่มอาหรับ จีน และ CLMV อัตราค่าบริการแพ็คเกจตรวจสุขภาพ อายุ 30 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 60,000-70,000 บาท อายุ 40 ปีขึ้นไป 1 แสนบาท อายุ 50 ปีขึ้นไป 1.5 แสนบาท และอายุ 60 ปีขึ้นไป 3 แสนบาท
ปี 2024 สัดส่วนรายได้มาจากผู้ใช้บริการชาวต่างประเทศ 55% ปีนี้จะเพิ่มเป็น 65% และปี 2027 วางเป้าหมายไว้ที่ 70%
จากเทรนด์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อสุขภาพเติบโต กลุ่ม BDMS เตรียมลงทุน “เวลเนสซิตี้” บริเวณถนนหลังสวน บนเนื้อที่ 15 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินเช่าจากสำนักทรัพย์สินฯ เป็นรูปแบบมิกซ์ยูส อาคารสูง 46 ชั้น ประกอบด้วย โรงแรม 222 ห้อง ห้องชุดพักอาศัย/ซีเนียร์ลีฟวิ่ง 272 ยูนิต พร้อมด้วยพื้นที่ค้าปลีก มูลค่าลงทุน 25,000 ล้านบาท คาดโครงการแล้วเสร็จในปี 2030
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE