การใช้ AI ในสถาบันการศึกษาของไทยก้าวไปอีกขั้น โดยครั้งนี้เป็นการจับมือกันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดตัวระบบ “AI LUCA” และ “Virtual Patient” ที่ได้รับการพัฒนาร่วมกันอย่างเป็นทางการ
การเปิดตัวดังกล่าวมีขึ้นในงาน “Chula-KBTG: AI for the Future” โดย AI LUCA เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์การบัญชีพัฒนา เพื่อสนับสนุนการทำงานด้านวิชาการ เช่น การสร้างคำถามข้อสอบ การตอบคำถามเชิงวิจัย และการอำนวยความสะดวกในการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
ส่วน Virtual Patient หรือคนไข้จำลอง เป็นความร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ในการพัฒนาต้นแบบจำลองเสมือนจริงสำหรับการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาแพทย์
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนในฐานะตัวแทนของจุฬาฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับ KBTG เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับใช้ในการเรียนการสอน โดย AI ทั้งสองระบบที่ จุฬาฯ โดยคณะแพทยศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ร่วมกับ KBTG กำลังพัฒนาขึ้นนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ และ KBTG และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพในอนาคตอันใกล้
ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ “Chula Power of Togetherness” มีวัตถุประสงค์หลักคือการสร้างสภาพแวดล้อมในการเรียนการสอนที่นำสมัย โดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง และเพื่อขับเคลื่อนจุฬาฯ สู่การเป็น “AI University” และการเป็น AI Hub ของภูมิภาคอาเซียนด้วย
“ในอนาคตอันใกล้ จะมีหลายอาชีพที่ถูกแทนที่ด้วย AI บทบาทของมหาวิทยาลัยในวันนี้ไม่ใช่เรื่องการศึกษา แต่เป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศด้วย เราจึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีเอไอเป็นตัวเสริมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้ถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ” ศ.ดร.วิเลิศ กล่าว
ด้านคุณเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่า KBTG มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการศึกษาในประเทศไทยให้นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรด้านดิจิทัลที่ตอบโจทย์เทรนด์โลก เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีให้กับคนไทยทั่วประเทศ ยกตัวอย่างเช่น โครงการ KBTG Kampus ที่เน้นพัฒนาทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรไอที รวมถึงการร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาเฉพาะทาง เช่น การแพทย์และการบัญชี เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรมการศึกษา ไปสู่การใช้งานจริงในภาคสาธารณชนต่อไป
คุณเรืองโรจน์ยังได้กล่าวย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) ในการผลักดันการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า โดยเน้นให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ AI ได้อย่างเท่าเทียม ผนวกกับการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาในทุกระดับชั้น (Education Inclusion) พร้อมเสริมสร้างบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ KBTG ในฐานะผู้นำด้านการศึกษาการพัฒนางานวิจัยด้าน AI และเทคโนโลยีทางไอที ตามแนวคิด Human-First x AI First ของ KBTG ที่ต้องการดึงศักยภาพสูงสุดของมนุษย์และ AI มาผสานเข้าด้วย เพื่อสร้างประโยชน์และส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า สังคม และประเทศ