ซิสโก้เผยผลสำรวจ ดัชนีความพร้อมด้าน AI ประจำปี 2024 (Cisco 2024 AI Readiness Index) พบว่าองค์กรในประเทศไทยเพียง 21% เท่านั้นที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งาน นอกจากนั้นยังพบว่า บริษัทมากกว่าครึ่งจัดสรรงบประมาณไอที 10-30% ในการนำ AI มาใช้ แต่ผลตอบแทนยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
สำหรับดัชนีดังกล่าว จัดทำขึ้นจากการสำรวจแบบ double-blind กับผู้บริหารระดับสูง 3,660 คนในองค์กรที่มีพนักงาน 500 คนขึ้นไป ครอบคลุม 14 ตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น และจีน โดยผู้บริหารเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบการผสานและติดตั้ง AI ในองค์กรของตน โดยดัชนีความพร้อมด้าน AI วัดผลจาก 6 แกนหลักสำคัญ ได้แก่ กลยุทธ์ โครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล การกำกับดูแล บุคลากร และวัฒนธรรมองค์กร
สิ่งที่ผลสำรวจพบมีดังต่อไปนี้
- 100% ของบริษัทที่ทำการสำรวจในประเทศไทยให้ความสำคัญเร่งด่วนกับการนำ AI มาใช้งาน โดยมีซีอีโอและทีมผู้บริหารเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก
- นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ยังทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากให้กับ AI โดย 53% จัดสรรงบประมาณด้านไอทีถึง 10-30% สำหรับการนำ AI มาใช้
- แม้จะมีการลงทุนด้าน AI อย่างมากในด้านกลยุทธ์สำคัญ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที และการวิเคราะห์และจัดการข้อมูล แต่หลายบริษัทรายงานว่า “ผลตอบแทนจากการลงทุน” เหล่านี้ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
คุณวีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า “ดัชนีความพร้อมด้าน AI ประจำปีนี้ชี้ให้เห็นว่า บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องมี ‘โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัย’ และมุมมองที่ชัดเจนเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ ที่สำคัญ ต้องอยู่บนพื้นฐานของความไว้วางใจและการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ”
โครงสร้างพื้นฐาน จุดน่ากังวลของการปรับใช้ AI
ผลการศึกษาของ Cisco พบว่า ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ประสิทธิภาพการประมวลผล เครือข่ายศูนย์ข้อมูล และความปลอดภัยทางไซเบอร์ คือความท้าทายขององค์กร โดยมีเพียง 33% ขององค์กรที่มี GPU ที่จำเป็นสำหรับรองรับความต้องการด้าน AI ทั้งในปัจจุบันและอนาคต และมีเพียง 47% ที่มีขีดความสามารถในการปกป้องข้อมูลในโมเดล AI ด้วยการเข้ารหัสแบบครบวงจร (end-to-end encryption) การตรวจสอบความปลอดภัย การเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและการตอบสนองต่อภัยคุกคามแบบทันที
บริษัทต่าง ๆ ลงทุนแล้ว แต่ผลลัพธ์ยังไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
ในปีที่ผ่านมา AI เป็นรายจ่ายที่องค์กรในประเทศไทยให้ความสำคัญ โดย 53% จัดสรรงบประมาณด้านไอที 10-30% สำหรับโครงการด้าน AI โดยการลงทุนด้าน AI มุ่งเน้นใน 3 กลยุทธ์ที่สำคัญ ได้แก่
- โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที (59% ของบริษัทอยู่ในระดับการใช้งานเต็มรูปแบบ/ขั้นสูง)
- ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (45%)
- การบริหารการตลาดและการขาย(43%)
โดยผลลัพธ์หลัก 3 ประการที่องค์กรต้องการบรรลุ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ กระบวนการ การดำเนินงาน และความสามารถในการทำกำไร; ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและรักษาความสามารถในการแข่งขัน; และการสร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้าและพาร์ทเนอร์
แม้จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น แต่โดยเฉลี่ย 40% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่ายังไม่เห็นผลลัพธ์ หรือผลลัพธ์ที่ได้ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ การช่วยเหลือ หรือการทำงานอัตโนมัติของกระบวนการ หรือการดำเนินงานในปัจจุบัน
จากสัญญาณดังกล่าวทำให้ผู้บริหารระดับสูงเพิ่มแรงกดดัน และความเร่งด่วนในการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ โดยกว่าครึ่ง (59%) รายงานว่า ซีอีโอและทีมผู้บริหารเป็นผู้ผลักดันการนำ AI มาใช้ ตามมาด้วยผู้บริหารระดับกลาง (49%) และคณะกรรมการบริษัท (44%)
นอกจากนี้ 23% ขององค์กรวางแผนที่จะจัดสรรงบประมาณด้านไอทีมากกว่า 40% สำหรับการลงทุนด้าน AI ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปัจจุบันที่มีเพียง 5% ของบริษัทที่จัดสรรงบประมาณในสัดส่วนใกล้เคียงกันให้กับ AI
ผลสำรวจชี้ด้วยว่า แม้จะมีความท้าทายรออยู่หลายด้าน แต่ปัญหา “การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ” คือสิ่งที่บริษัทต่าง ๆ มองว่า นี่คือความท้าทายอันดับต้น ๆ โดยผู้บริหาร Cisco ชี้ว่า การมีผู้เชี่ยวชาญเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการด้าน AI คือสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน