HomeBrand Move !!ซิตี้แบงก์ มอง GDP ปี’68 โตได้ 3.2% ชี้ท่องเที่ยว การลงทุนรัฐ-เอกชนหนุน คาดหุ้นไทยแตะ 1,500 จุด

ซิตี้แบงก์ มอง GDP ปี’68 โตได้ 3.2% ชี้ท่องเที่ยว การลงทุนรัฐ-เอกชนหนุน คาดหุ้นไทยแตะ 1,500 จุด

แชร์ :

ต้องยอมรับว่า ปี 2567 เป็นปีที่หืดขึ้นคอมากสำหรับธุรกิจ เพราะเจอกับความไม่แน่นอนหลายอย่าง อีกทั้งเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวสู้กันทุกทาง เพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แล้วในปี 2568 เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยจะเป็นอย่างไร ตามมาฟังมุมมองของ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย (Citibank)ถึงเรื่องนี้กัน 

มองบวก  GDP ไทยโตได้ 3.2%

ผ่านมา 3 สัปดาห์แรกของปี แม้ว่าเศรษฐกิจยังเต็มไปด้วยความท้าทาย แต่ คุณนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย คาดว่า จีดีพีของไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่ขยายตัวเพียง 2.7% เนื่องจากมองว่ามีปัจจัยหนุนที่ดีหลายอย่าง 

คุณนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

1.การลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัว การขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่ได้กระจายในทุกเซ็กเตอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ ไบโอกรีน ดาต้าเซ็นเตอร์ และ Circular เพราะได้รับอานิสงส์จากจุดแข็งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน

2.การท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่านักท่องเที่ยวปีนี้จะแตะ 39.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,298 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 44,000 ล้านบาท  จึงส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 9.3% ของจีดีพี จากปีที่แล้วคาดว่าจะอยู่ที่ 7.9% ของจีดีพี ทั้งยังมองว่าปีนี้ตลาดจีนมีโอกาสฟื้นตัวต่อเนื่องเนื่อง เพราะเศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว ส่วนตลาดอินเดีย และ Middle East ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

3.การลงทุนของภาครัฐ หลังจากงบประมาณล่าช้าในปีก่อน ในครึ่งปีแรกนี้น่าจะเร่งการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาการเมืองลดลง จึงน่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากภาคเอกชนที่เกี่ยวเนื่องกันมากขึ้น

4.การบริโภค แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังแก้ไม่จบ และทุกคนมีภาระค่าครองชีพสูงขึ้น แต่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 3% น่าจะทำให้ภาพรวมมีการเพิ่มรายได้ รวมทั้งมีมาตรการกระตุ้นการชอปปิ้งของภาครัฐ และการจัดการหนี้ของธนาคารพาณิชย์และแบงก์ชาติ น่าจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับคนที่เป็นหนี้ครัวเรือน และธุรกิจ SMEs

นโยบาย “ภาษีทรัมป์” กระทบไทยไม่มาก

ส่วนการส่งออกสินค้าไทยปีนี้ คุณนลิน คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% ลดลงจากปีที่แล้วที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 4.6% เพราะมีความท้าทายจากความไม่แน่นอนในเรื่องนโยบายการค้าสหรัฐ ทำให้อาจจะเกิดการชะลอการเจรจา แต่ในครึ่งปีแรกอาจจะเกิดการสั่งสินค้ามาก่อน เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ในครึ่งปีหลัง

“ตลาดในช่วงครึ่งปีแรกน่าจะเกิดความผันผวนจากความไม่แน่นอนจากนโบายภาษีของทรัมป์ โดยคิดว่าจีนน่าจะกระทบมากสุด น่าจะปรับขึ้นประมาณ 15% แต่เป็นการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป และเพิ่มในบางสินค้าก่อน โดยสินค้าที่จำเป็นต่อสหรัฐอาจจะเพิ่มสูงขึ้น” คุณโจฮันน่า ฉัว หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และตลาดเอเชียแปซิฟิก ธนาคาซิติี้แบงก์ วิเคราะห์

คุณโจฮันน่า ฉัว หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่และตลาดเอเชียแปซิฟิก ธนาคาซิตี้แบงก์

ขณะที่ผลกระทบต่อไทย คุณนลิน มองว่า น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกบ้าง แต่ไม่รุนแรง เพราะไทยจะได้ทั้งอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีน แต่อีกมุมสินค้าจีนอาจจะเข้ามาขายในเอเชียมากขึ้น  

คาด 6 เดือน หุ้นไทยแตะ 1,500 จุด 

ส่วนตลาดหุ้นไทย คุณสิทธิโชค เตชะศิรินุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ซิตี้คอร์ป ประเทศไทย จำกัด มองว่า ปีนี้จะเป็นการ Reset ตลาดหุ้นไทย หลังผลตอบแทนปรับตัวลดลง 20% ติดต่อกัน 2 ปี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40  ปี และวอลุ่มเทรดยังค่อยๆ ลดลงจากที่เคยเทรดที่ระดับ 60,000-80,000 ล้านบาทต่อวัน ปัจจุบันเหลือวอลุ่มเทรดแค่ 35,000 ล้านบาทเท่านั้น

คุณสิทธิโชค เตชะศิรินุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท หลักทรัพย์ซิตี้คอร์ป ประเทศไทย

โดยเชื่อว่าปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นดัชนีแตะ 1,500 จุดในอีก 6 เดือนข้างหน้า   โดยกลุ่มที่น่าลงทุนคือ กลุ่มธนาคาร, กลุ่มโรงพยาบาล, กลุ่ม Telco และค้าปลีก ในขณะที่กลุ่มปิโตรเคมี เป็นกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะมีความไม่แน่นอนสูง ต้องรอจีนฟื้นตัวก่อน

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like