เทศกาล “ตรุษจีน 2025” สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะในมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมองการไหว้เจ้าในมิติใหม่ ผสมผสานระหว่างการ “ฮีลใจ” และ “มูเตลู” เพื่อดึงโชคลาภและสุขภาพที่ดีเข้าสู่ชีวิตส่วนตัวมากขึ้น ต่างจากอดีตที่มุ่งบูชาบรรพบุรุษเพียงอย่างเดียว
“กูร์เมต์ มาร์เก็ต” เผยข้อมูลเชิงลึกว่า ลูกค้าปัจจุบันแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไปที่ยังคงรักษาประเพณีการไหว้อย่างเคร่งครัด และกลุ่มอายุต่ำกว่า 40 ปีที่มองว่าตรุษจีนเป็นโอกาสเฉลิมฉลองและเลือกซื้อสินค้าเพื่อความพอใจส่วนตัว ขณะที่พฤติกรรมการซื้อสินค้าไหว้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดย 80-85% ของลูกค้าเลือกซื้อสินค้าแบบชิ้นเดียวเพื่อนำไปจัดเซ็ตเอง แทนที่จะซื้อชุดไหว้สำเร็จรูป ในขณะที่กลุ่มที่ยังคงซื้อเซ็ตใหญ่มีเพียง 15% (ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นเก่า) แต่เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายสูง ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป บางครอบครัวใช้จ่ายถึง 2,000-3,000 บาท ส่วนสมาชิกของ M Card มีการใช้จ่ายราว 4,000 บาทต่อบิล
เทรนด์คนรุ่นใหม่ ไหว้-เสร็จ ทานได้เลย และต้องเป็นของที่ชอบ
คุณศุภวุฒิ ไชยประสิทธิ์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริหารสินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตและฟู้ด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์การไหว้ตรุษจีนในไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มคนรุ่นใหม่ ให้ความสำคัญกับเทศกาลตรุษจีนมากขึ้น ขณะเดียวกันด้วยสภาพเศรษฐกิจกำลังซื้อ ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เมื่อรวมกับสภาพเศรษฐกิจทำให้คนมองหาความคุ้มค่าคุ้มราคาในการซื้อ
“คนรุ่นใหม่ หรือครอบครัวขนาดเล็กที่ไม่เข้มงวดในการไหว้มากนัก แต่เห็นการไหว้มาตั้งแต่เด็ก ก็จะยังคงไหว้อยู่แต่ปรับเปลี่ยนการไหว้จากที่ซื้อครบเซ็ตใหญ่ (คนรุ่นก่อน) ปรับเปลี่ยนเป็นซื้อแยกชิ้นมาจัดเอง ซื้อมาแล้วสามารถกินได้”
โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่
- กลุ่มครอบครัวใหญ่ (เจน 2 ของครอบครัว) ซื้อไว้แบบครบองค์ประกอบ การไหว้แบบดั้งเดิม
- กลุ่มครอบครัวขนาดเล็ก ที่อาศัยอยู่ 3-4 คน (เจน 3 ของครอบครัว) มีการไหว้โดยอาศัยเรื่องความสะดวก ไม่ต้องแยกชุดไหว้ แบบซาแซ แต่จะจัดเซ็ตของไว้ทุกอย่างให้ครบใน 1 เซ็ต เลือกของที่ชอบ และไหว้เสร็จสามารถรับประทานได้ทันที
- กลุ่มฟู้ดดี้ (Foodie) ที่ชอบกินอาหารจีน เช่น กระเพาะปลา ผัดหมี่ แต่ไม่ได้ไหว้
- กลุ่มที่ซื้อเป็นของฝากผู้ใหญ่ เช่น ส้มยกลัง เป็นต้น
ทั้งหมดกลุ่มลูกค้าสะท้อนพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายในปัจจุบันที่ปรับเปลี่ยนจากอดีตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และครอบครัวขนาดเล็ก มักจะซื้อเป็นชิ้น เช่น ซื้อแยกชิ้นมาจัดเอง ซื้อมาแล้วสามารถกินได้ เช่น อดีตอาจจะมีการไหว้ครบเซ็ต มีชุดซาแซ เป็ดไก่ ปลา แบบเป็นตัวๆ แต่ปัจจุบันก็ยังมีการยืนพื้นด้วยเป็ด ไก่ ปลา หากแต่ปรับมาเป็น ไก่ทอด ไก่ย่าง หรืออาหารพร้อมทานที่สามารถรับประทานได้ทันที
เปิดกลยุทธ์ “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” รับเทรนด์คนรุ่นใหม่ ซื้อของไหว้ต้องคุ้มค่า
จากการเก็บข้อมูลลูกค้าที่มาจับจ่ายของ “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ในช่วงตรุษจีนปีที่แล้ว (2567) พบว่าสินค้าที่ได้รับความนิยมยังเป็นสินค้ากลุ่มชุดไหว้ ได้แก่ ชุดไหว้เปิดประตูเศรษฐี ชุดกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไหว้ไฉ่ซิงเอี๊ย, ชุดไหว้มงคลมหาโชค หรือผลไม้มงคล 5 อย่าง และชุดซาแซมหาเฮง
ขณะเดียวกันสินค้าประเภทชุดไหว้ซึ่งตอบโจทย์ในเรื่องความรวดเร็วและสะดวกสบาย ยังพบว่าลูกค้านิยมซื้อสินค้าไปจัดชุดเองเพื่อควบคุมขนาดชุดไหว้ให้สอดคล้องกับงบประมาณมากขึ้น รวมไปถึงยอดขายในกลุ่มผลไม้มงคลโดยเฉพาะ “ส้ม” ยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากคนยุคใหม่นิยมเลือกซื้อส้มและผลไม้ที่มีแพ็คเกจจิ้งสวยงาม หรือซื้อแล้วนำไปจัดเป็นเซตหรือกระเช้าสวย ๆ เพื่อมอบให้กับผู้ใหญ่ตามธรรมเนียมในช่วงเทศกาลตรุษจีนมากขึ้น
นอกจากสินค้าประเภทของไหว้ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว อีกส่ิงสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ “คนรุ่นใหม่” นิยมไหว้ในช่วงเทศกาล “ตรุษจีน” เพื่อตัวเองมากขึ้น โดยคนรุ่นใหม่ ส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับการไหว้ เพื่อ “เสริมโชคลาภ” หรือการ “มูเตลู” ซึ่งเป็นการฮีลใจในยุคที่การแข่งขันค่อนข้างรุนแรง
ดึง DATA+TREND พัฒนากลยุทธ์ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
เมื่อเทรนด์การไหว้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนเปลี่ยนไป สิ่งที่ “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” มองหาคือเรื่องของการนำ DATA+TREND เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมมาพัฒนาแคมเปญ โปรโมชั่น ตลอดจนการจำหน่ายสินค้าให้ตรงใจลูกค้า ภายใต้ “Holistic Marketing” หรือการดึงทุกฝ่ายมาเพื่อร่วมพัฒนาแคมเปญร่วมกัน ตั้งแต่พนักงานขายที่ให้ความรู้ลูกค้า ตลอดจนทีมหลังบ้านที่พัฒนากลยุทธ์ต่างๆ
“ปัจจุบันคนรุ่นใหม่มองเทศกาลตรุษจีน เป็นการไหว้เพื่อช่วยฮีลใจ ตรุษจีนมองโชคลาภ อายุยืน เรื่องสุขภาพเป็นหลักมากกว่าในอดีตที่มองตรุษจีนเป็นเรื่องของการไหว้บรรพบุรุษ นั่นทำให้เราต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามไปด้วย”
โดยเทรนด์การไหว้เพื่อความโชคดี สุขภาพ และความสำเร็จเริ่ม ทำให้ “มูเตลู” กลายเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลที่คนไทยให้ความสำคัญ เข้ามาแทนที่การไหว้เพื่อระลึกถึงบรรพบุรุษ เพื่อรองรับเทรนด์ดังกล่าว “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ใช้กลยุทธ์ดึงดูดลูกค้าด้วยการจัดกิจกรรมเสริมสิริมงคล ผ่านแคมเปญ “GOURMET MARKET JOY LUCK LOVE CHINESE NEW YEAR 2025” ตั้งแต่วันนี้-28 กุมภาพันธ์ 2568 นำเสนอ 7 ชุดไหว้มหามงคล “โชคลาภหลั่งไหล รุ่งเรืองไม่หยุดยั้ง” ที่ปรับให้เข้ากับความต้องการและสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันมากขึ้น
นอกจากนี้ยังอัญเชิญเจ้าแม่กวนอิมมาที่เดอะมอลล์สาขาบางแค และงามวงศ์วาน พร้อมโปรโมชั่นพิเศษมากมาย พร้อมกันนี้ยังมีการการเชิญอาจารย์ชื่อดังอย่าง อ.คฑา ชินบัญชร มาทำพิธีเสริมพลังมงคลในงาน ทำให้การช้อปปิ้งช่วงตรุษจีนกลายเป็นทั้งการเลือกซื้อของและการสร้างความสุขทางใจมากขึ้น
ชี้อีก 5 ปีเทรนด์ “ตรุษจีน” หดตัว-คนไหว้น้อยลง “กูร์เมต์ มาร์เก็ต” ปรับ Merchandise ตอบโจทย์เฉพาะบุคคล
อย่างไรก็ตามแม้ตรุษจีนยังคงเป็นเทศกาลสำคัญ แต่ “คุณศุภวุฒิ” ประเมินว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า สัดส่วนผู้ที่ไหว้เจ้าอาจลดลงอย่างมีนัยยะจากปัจจุบันที่เหลือเพียง 40% (เทียบกับอดีตที่มีมากถึง 80%) ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัว โดยเน้นพัฒนา Merchandising Strategy ในการรองรับไลฟ์สไตล์ให้มากที่สุด เช่น
• ลดสินค้าอย่างกระดาษเงินกระดาษทอง เนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนมากไม่นิยมเผากระดาษเป็นจำนวนมากเหมือนในอดีต
• เพิ่มสินค้าอาหารพร้อมทาน ทั้งแบบเดี่ยวและแบบเซ็ต ตลอดจนแพ็คเกจจิ้งที่ใช้งานได้จริง
• ใช้ข้อมูลจากฐานสมาชิก M Card กว่า 6 ล้านราย เพื่อนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมต่อลูกค้าแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
“การเปลี่ยนแปลงนี้คือโอกาสของรีเทลในการตอบโจทย์ผู้บริโภคให้ตรงจุดและเข้าถึงความต้องการที่เฉพาะตัวมากขึ้น” คุณศุภวุฒิกล่าว
ท้ายที่สุดด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป “เทศกาลตรุษจีน” ไม่ใช่แค่เรื่องของประเพณีอีกต่อไป แต่กลายเป็นโอกาสในการเชื่อมโยงศรัทธาและความสุขในชีวิตประจำวัน ผ่านเทรนด์ใหม่ ๆ อย่าง “ไหว้เพื่อมูเตลู” และ “จัดของไหว้แบบ Customize” ที่สะท้อนความต้องการส่วนตัวในยุคสมัยใหม่ โดยคาดว่าด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ บวกกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่าง Easy E-Receipt 2.0 วางเป้าหมายการเติบโตในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้เพิ่มขึ้น 10%