จากเด็กหญิงทายาทตระกูลสื่อยักษ์ใหญ่ ที่สนามเด็กเล่นของเธอคือห้องข่าว และโรงพิมพ์ ในวันนี้เธอได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและการตลาด (EVP) สำหรับ นลิน รุจิรวงศ์ ที่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ด้าน PR & Marketing สายแฟชั่นที่เป็นสิ่งที่เธอหลงใหลที่บริษัท PP Group ก่อนที่เธอจะกลับมาช่วยสานต่อตำนาน “เดลินิวส์” ที่อยู่คู่กับคนไทยมากว่า 60 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ที่ต้องการให้สื่อยักษ์ใหญ่นี้เป็นมากกว่าสื่อที่นำเสนอข่าว แต่เธอมีเป้าหมายที่จะส่งต่อเรื่องที่ดี มีโซลูชั่นให้คนไทยได้ขบคิด ผ่านการนำเสนอคอนเทนต์ออนไลน์ และการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่เราคงจะได้เห็นกันเร็ว ๆ นี้
นอกเหนือจากการปรับรูปแบบคอนเทนต์ และการนำเสนอสิ่งที่มากกว่าข่าว ที่สด ใหม่ พร้อมสะเทือนวงการสื่อที่กำลังจะเกิด ภายใต้การนำทัพของนลิน รุจิรวงศ์ เธอยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจโดยใช้พื้นที่สื่อเป็นเครื่องมือสำคัญอย่างเช่นเรื่อง “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่สื่อนั้นจะสามารถสร้างการรับรู้ความเข้าใจและยังเป็นแรงสนับสนุนให้วงการสื่อด้วยกันได้ช่วยกันผลักดันประเด็นนี้ เพื่อให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเกิดผลสำเร็จ ปักหมุดบนเวทีโลกได้จริง จึงได้เดินเครื่องจัดอีเว้นท์ใหญ่แห่งปี “เดลินิวส์ ทอล์ก 2024” ในหัวข้อ “Soft Power : โอกาสประเทศไทย” ที่ดึงระดับผู้นำประเทศอย่าง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในงานและ ปาฐกถาถึงโอกาสของประเทศไทยกับพลังซอฟต์พาวเวอร์
เจตนารมณ์ของนายกฯ แพทองธารถือเป็นความตั้งใจเดียวกันกับ “นลิน รุจิรวงศ์” ที่อยากจะให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นยิ่งในช่วงที่ได้เข้ามารับตำแหน่งสำคัญในเดลินิวส์ด้วยแล้วยิ่งทำให้เป้าหมายของเธอเข้าใกล้ความเป็นจริงยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นลินได้ให้ความเห็นว่าซอฟต์พาวเวอร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ประชาชนในประเทศ สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ถ่ายทอดผลงานผ่านวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ต่าง จนนำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจ
ซอฟต์พาวเวอร์ไทย รัฐนำ เอกชน (สื่อ) สานต่อ
นลิน ให้ความเห็นว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่แค่กลยุทธ์หรือกระแสแต่คือโอกาสในการสร้างแบรนด์ประเทศไทยให้เป็นที่จดจำและชื่นชมบนเวทีโลก และสามารถสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้ เพราะประเทศไทยเปี่ยมด้วยเสน่ห์ทางวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ครอบคลุม ตั้งแต่การท่องเที่ยว อาหาร ศิลปะ ไปจนถึงอุตสาหกรรมบันเทิง ทุกสิ่งสามารถสร้างความประทับใจแก่ชาวโลกได้ แต่อาจยังขาดแรงจูงใจและพลังอำนาจสร้างพฤติกรรม การจุดกระแส และอิทธิพลที่จะเกิดการทำตามอย่างแพร่หลาย และถูกยอมรับในระดับสากล
จึงมีแนวคิดคือ “เดลินิวส์” จะต้องเป็นสื่อที่ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ตามมาตรฐานสื่อที่รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ เคยทำสำเร็จมาแล้ว อย่างเจ้าของแชมป์ที่ครองอันดับ 1 มา 3 ปีซ้อนประเทศสหรัฐอเมริกา (United States) ผ่านวัฒนธรรมของซีรีย์ทีวี ภาพยนตร์ เพลง และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่มีอิทธิพลอย่างมากทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ รองมาอันดับ 2 ประเทศเกาหลีใต้ด้วยปัจจัยทางวัฒนธรรม เช่น K-pop และ K-drama ที่ได้รับความนิยมในทั่วโลก และอันดับ 3 ประเทศญี่ปุ่น (Japan) บุคลิกภาพของการสร้างเครื่องของเล่นระดับโลกของญี่ปุ่น และวัฒนธรรมอันเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และนลินจะใช้สื่อ “เดลินิวส์” เป็นโซลูชันการผลักดัน 11 อุตสาหกรรม และปลุกศักยภาพคนไทยให้พัฒนาไปได้ไกลถึงระดับนานาชาติ ประเทศไทยจะต้องขึ้นมาเป็น 1 ใน 30 ลำดับ Global Soft Power Index ซึ่งไม่เกินความสามารถของคนไทยที่จะช่วยกัน
“การจะส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ไทยผ่านสื่อ ต้องเริ่มที่สื่อกระแสหลัก เพราะสื่อหลักสามารถช่วยให้ข้อมูลหรือข้อความถูกสื่อสารได้อย่างชัดเจน และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ การใช้สื่อหลักยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจกับประชาชนผู้รับข่าวสาร และได้รู้จักผ่านซอฟต์พาวเวอร์ไทยมากขึ้นในพื้นที่ของสื่อ อาทิ หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ ถือว่าเป็นกระบอกเสียงที่ดี สร้างความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อสื่อรองอย่าง สื่อออนไลน์ จะต้องนำเสนอข่าวตาม อาทิ เฟซบุ๊ก เอกซ์ และติ๊กต็อก จนเป็นไวรัล ก็จะส่งผลในเชิงพฤติกรรม การแข่งขันทางการค้าในไทยลุกขึ้นมาตื่นตัวทำร้านค้าท้องถิ่น ชุมชนมีแรงบันดาลใจในการสร้างผลิตภัณฑ์ดี ๆ ขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวเลือกซื้อสินค้าอัตลักษณ์ไทยมากขึ้น”
ณ ตอนนี้ นลิน ใช้ชื่อเดลินิวส์ ปลุกพลังให้สื่อไทยหลาย ๆ แขนงหันมาเริ่มนำเสนอเรื่องราวซอฟต์พาวเวอร์ได้มากยิ่งขึ้น เห็นได้จากงานเดลินิวส์ ทอล์ก 2024 ที่ผ่านมา โดย เดลินิวส์ ได้มีการนำเสนอกิจกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ในทุกรูปแบบ กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับกิจกรรมในงานต่าง ๆ ที่กำลังจะจัดขึ้น หรือจัดขึ้นแล้วก็ตาม เพื่อให้คนไทยและต่างชาติได้เห็นความโดดเด่นที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทยต่าง ๆ ที่ไม่มีที่ไหนสามารถทำได้นอกจากประเทศไทย และนลิน มองผู้ที่มีอิทธิพลไม่แพ้สื่อคือดารา ที่จะช่วยกันเป็นส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยได้ เพราะดารา แต่ละคนมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งน่าจะเป็นทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ นี่คือ 1 ช่องทางความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์ซอฟเพาเวอร์ไทยให้ก้าวไกลในระดับโลกได้เร็วขึ้น
“งานประกาศรางวัล Dailynews Awards 2024 ไม่เพียงเป็นเวทีเชิดชูเกียรติแก่บุคคลในวงการบันเทิง แต่ยังเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้าง Soft Power ของประเทศไทย ผ่านผลงานคุณภาพที่สะท้อนเอกลักษณ์ไทยสู่สายตาชาวโลก การจัดงานครั้งนี้มุ่งยกย่องผลงานที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ทั้งภาพยนตร์ ละคร ดนตรี และสื่อสร้างสรรค์อื่น ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตผลงานที่มีคุณภาพ สะท้อนวัฒนธรรมไทย และสร้างความประทับใจแก่ผู้ชมทั่วโลก
ความพิเศษของปีนี้คือ การเปิดตัวรางวัลใหม่ D-Soft Power ซึ่งมอบให้แก่ผลงานหรือบุคคลที่มีบทบาทในการขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมไทยในระดับนานาชาติ รางวัลนี้เน้นย้ำศักยภาพของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในการเป็นกลไกสำคัญของ Soft Power ที่สามารถสร้างความประทับใจและดึงดูดความสนใจจากทั่วโลก อุตสาหกรรมบันเทิงไทยมีศักยภาพในการเป็นหัวหอกของ Soft Power ด้วยผลงานที่สะท้อนรากวัฒนธรรมไทยและความคิดสร้างสรรค์ งาน Dailynews Awards 2024 จึงเป็นเวทีที่ช่วยกระตุ้นให้วงการบันเทิงไทยผลิตผลงานที่ทรงคุณค่า และขยายขอบเขตความสำเร็จสู่ระดับสากล การจัดงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่การมอบรางวัล แต่เป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในอุตสาหกรรมบันเทิงไทย ให้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญที่เชื่อมโยงวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และความภาคภูมิใจของคนไทย พร้อมก้าวสู่เวทีโลกด้วยความมั่นใจ”
จากการฉายภาพวิสัยทัศน์อันแน่วแน่ของเธอ เราคงต้องคอยติดตามผลงานของผู้บริหารใหม่ไฟแรง ที่ตอนนี้เธอกำลังจะพลิกโฉมเดลินิวส์รูปแบบใหม่ และสร้างภาพลักษณ์แบบที่ไม่เคยเห็นของเดลินิวส์ จากสื่อหนังสือพิมพ์กระดาษไปสู่ความเป็นดิจิทัล พร้อม Mission การเป็นสื่อที่พร้อมส่งเสียงในทุกเรื่องราว จะเฉียบคมแค่ไหน ถือเป็นอีกก้าวที่น่าสนใจเลยทีเดียว