HomeDigitalเทเลนอร์ เอเชีย เผย “ประเทศไทย” เชื่อ AI มากที่สุดในภูมิภาค

เทเลนอร์ เอเชีย เผย “ประเทศไทย” เชื่อ AI มากที่สุดในภูมิภาค

แต่คนไทยยังใช้ AI ในที่ทำงานน้อย เพราะกลัวถูกมองขี้โกง - ขี้เกียจ

แชร์ :

เทเลนอร์ เอเชีย เปิดรายงาน ‘Digital Lives Decoded 2024″ พบ “ประเทศไทย” เชื่อ AI มากที่สุดในภูมิภาค เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ใช้งานจากตลาดอื่น ๆ อย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย แถมคนไทยใช้เวลาออนไลน์เกือบ 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ที่ 4 ชั่วโมง 35 นาทีด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับประเด็นสำคัญที่รายงาน ‘Digital Lives Decoded 2024″ พบ มีดังต่อไปนี้

  • ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยเกือบครึ่งหนึ่งกล่าวว่า AI เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พวกเขาตื่นเต้นมากที่สุด
  • Gen X และ Baby Boomers แสดงความตื่นเต้นเกี่ยวกับ AI มากกว่าคน Gen Z และ Millennials
  • ผู้ตอบแบบสอบถาม 77% ใช้เครื่องมือ AI อยู่แล้ว
  • มากกว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามใช้ AI สำหรับโซเชียลมีเดีย และเกือบ 40% มีส่วนร่วมกับ AI บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
  • ผู้ตอบแบบสอบถาม 85% เชื่อว่า AI จะส่งผลดีต่อการศึกษาในประเทศไทย

คุณมานิช่า โดกรา รองประธานอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืนของเทเลนอร์เอเชีย กล่าวว่า “รายงาน Digital Lives Decoded 2024 พบโอกาสมากมายที่ AI นำมาสู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความปลอดภัยส่วนบุคคลไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าวงการการศึกษาและบันเทิง สิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้และเครื่องมือแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยเพื่อใช้ประโยชน์จาก AI ขณะเดียวกันเสริมเกราะความปลอดภัยด้านดิจิทัลของพวกเขาด้วย”

ระยะเวลาการใช้งานของเจเนอเรชั่นต่าง ๆ

โดยสิ่งที่เป็นความพิเศษของผู้ใช้งานชาวไทยคือการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์หลัก ขณะที่ประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์มีการใช้งานคอมพิวเตอร์แลปท็อปร่วมด้วย

ไทยใช้ AI “ทำงาน” ตามหลังเพื่อนบ้าน

ผลการสำรวจของ Digital Lives Decoded 2024 พบด้วยว่า การใช้ AI ในการทำงานของประเทศไทยยังตามหลังตลาดอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบว่ามีการใช้เครื่องมือ AI ในสถานที่ทำงานเพียง 21% เท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย (37%) และสิงคโปร์ (38%)

สำหรับเหตุผลที่ทำให้การใช้ AI ของผู้ตอบแบบสอบถามไทยต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์นั้น คุณกุลนภา ชนะชมภู ตัวแทนจากเทเลนอร์ กล่าวว่า มาจาก 4 ปัจจัย นั่นคือ

  • เกรงจะถูกแทนที่ด้วย AI
  • ขาดความเข้าใจ
  • ทักษะที่มีไม่ตรงกับการใช้งาน
  • ปัจจัยด้านวัฒนธรรม เช่น มองว่า การใช้ AI ช่วยงานคือคนขี้โกง – ขี้เกียจ

คนไทยให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายมากกว่าความเป็นส่วนตัว

สิ่งที่ผลสำรวจพบ และมองว่าน่ากังวลใจอีกข้อคือ อัตราของประชากรไทยนั้นมีค่อนข้างสูงที่เชื่อใจเว็บไซต์ที่ตนใช้งานในแง่ของการที่เว็บไซต์เหล่านั้นจะสามารถปกป้องความเป็นส่วนตัวของพวกเขาได้ (โดยมีมากถึง 38% เทียบกับ 21% ในประเทศสิงคโปร์) และมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาเพื่อแลกกับข้อเสนอและบริการส่วนบุคคล (6 ใน 10 เทียบกับประเทศมาเลเซีย และ 5 ใน 10 เทียบกับประเทศสิงคโปร์) ซึ่งสะท้อนว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยยอมเสียความเป็นส่วนตัวบางส่วน แลกกับความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน

นอกจากนั้น การหลอกลวงทางการเงินและการขโมยข้อมูลส่วนตัวยังเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย โดย 1 ใน 2 ของผู้ตอบแบบสอบถามแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้

คนไทยยังมีทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับ AI

ประเด็นสุดท้ายของผลสำรวจ คือการระบุว่า 6 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยรู้สึกตื่นเต้นกับความสามารถของ AI และเชื่อว่าอุปกรณ์มือถือของพวกเขาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อผนวกการใช้งานกับ AI โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 51% กล่าวว่าพวกเขาคาดหวังว่าอุปกรณ์มือถือที่ขับเคลื่อนโดย AI จะมอบความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มเกราะป้องกันด้านข้อมูลส่วนตัวที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

สำหรับรายงาน Digital Lives Decoded จัดทำขึ้นตามแบบสำรวจที่ Telenor Asia มอบหมายให้ GlobalWebIndex (GWI) บริษัทวิจัยด้านผู้บริโภคระดับโลก ดำเนินการในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม พ.ศ. 2567 โดยสัมภาษณ์ผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 1,002 คนในประเทศไทย โดยสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็มได้ที่ www.telenorasia.com/digitallivesdecoded

 

 


แชร์ :

You may also like