HomeBrand Move !!ชี้ “Digital Economy” ทางออกเศรษฐกิจไทยยุคโตต่ำ แต่ผลสำรวจเผย “SMEs” ไทย 70% ยังไม่มีแผนลงทุนเทคโนโลยีใหม่

ชี้ “Digital Economy” ทางออกเศรษฐกิจไทยยุคโตต่ำ แต่ผลสำรวจเผย “SMEs” ไทย 70% ยังไม่มีแผนลงทุนเทคโนโลยีใหม่

แชร์ :

“เศรษฐกิจดิจิทัล” (Digital Economy) เป็นเรื่องที่พูดกันมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่โตต่ำสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่ที่ผ่านมาหลายธุรกิจยังคงนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพิ่มมูลค่าแก่ธุรกิจไม่มากนัก โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ซึ่งถือเป็นกลุ่มหลักในการขับเคลื่อน GDP ของประเทศ 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และเหตุใดเศรษฐกิจดิจิทัลจึงสำคัญ? Brand Buffet ชวนมาฟังคำตอบจาก รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมผลสำรวจ “แนวโน้มการลงทุน การค้าระหว่างประเทศ และพลวัตของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพลวัตเศรษฐกิจดิจิทัล ในทัศนะของ SMEs ไทย” จากคณะเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยผลสำรวจนี้ได้เผยถึงมุมมองเศรษฐกิจ และการเตรียมพร้อมเรื่องเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ SMEs 

เด็กเกิดน้อย-สูงวัยเพิ่ม ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจไทยโตต่ำ

คุณธนวรรธน์ บอกว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” เป็นหนึ่งในทางออกที่ประเทศไทยควรเร่งทำอย่างจริงจัง เพื่อให้ศักยภาพกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากเศรษฐกิจดิจิทัลมีขนาดใหญ่และเติบโตสูง โดยในปี 2568 เศรษฐกิจดิจิทัลโลกมีมูลค่าสูงถึง 24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 21% ของ GDP โลก อีกทั้งปัจจุบันอัตราการเกิดของประชากรไทย “ติดลบ” ต่อเนื่องมา 4 ปี และในปี 2567 เป็นครั้งแรกที่มีอัตราการเกิดของเด็กไทยต่ำกว่า 500,000 คน สวนทางกับผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นตลอด โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีรายได้น้อยไปจนถึงไม่มีรายได้เลย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

แม้ว่าที่ผ่านมาไทยจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่จากข้อมูลในปี 67 ประเมินกันว่า “สิงคโปร์” จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ทำให้ไทยจะหล่นมาเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน และถ้าเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำในระดับ 3% ต่อเนื่อง ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตประมาณ 5% ในอีก 5 ปีข้างหน้า ไทยอาจจะตกไปอยู่อันดับ 5 ของอาเซียนได้ 

“ตอนนี้หลายประเทศต้องการเข้าไปลงทุนเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลในมาเลเซียมาก เนื่องจากประชากรถึง 50% เข้าใจไอซีที และมีผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลถึง 10% ของประชากร ในขณะที่ไทยมีคนที่เข้าใจไอซีทีประมาณ 10% และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลแค่ 1% เท่านั้น”

คุณธนวรรธน์ บอกเหตุผลที่ทำให้ไทยต้องหันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิทีลมากขึ้น แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าไทยจะตกขบวนเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะถ้าสามารถพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลให้มากขึ้น จะทำให้ไทยโดดเด่นและอยู่บนกระแสโลกมากขึ้น  รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยเติบโตเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลประมาณ 13-15% ของ GDP 

SMEs 70% ไม่ลงทุนเทคโนโลยีใหม่ เหตุขาดเงินทุน ซ้ำมอง ศก.แย่ลง

ถึงแม้เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็น แต่เมื่อมาดูผลสำรวจ ซึ่งทำการสำรวจธุรกิจ SMEs จำนวน 400 ธุรกิจ ครอบคลุม 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ เกษตรกรรม, การผลิต, การค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ, การท่องเที่ยว และธุรกิจอื่นๆ กลับพบว่า SMEs ไทยยังมีการปรับตัวด้านดิจิทัลไม่มาก โดยผู้ประกอบการมากกว่า 70% ยังไม่มีแผนการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เนื่องจากขาดเงินทุน และไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งไม่ได้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยี

รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ

โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ บอกว่า กลุ่มที่น่าห่วงในเรื่องการลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากที่สุดคือ กลุ่มค้าปลีกและเกษตรกรรม เพราะคาดหวังประโยชน์จากการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลน้อย และผู้ประกอบการทุกขนาดมองตรงกันว่า เทคโนโลยีการเงิน เป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการลงทุนเป็นอันดับ 1

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ผู้ประกอบการมากกว่า 50% คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 68 มีแนวโน้ม “แย่ลง” และถ้าเจาะลึกลงไป จะพบว่า SMEs ขนาดเล็ก  มองเศรษฐกิจจะแย่ลงถึง 61.1% ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางมองว่าเศรษฐกิจอาจจะเติบโตเท่าเดิม ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่มองว่าเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นชัดเจน

Screenshot

Screenshot

Screenshot

หากแยกเป็นภาคธุรกิจ ผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรม การผลิต การค้าภายในประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 68 มีแนวโน้มแย่ลง แต่ธุรกิจการท่องเที่ยวมองว่าเศรษฐกิจไทยดีขึ้น สะท้อนได้จากรายได้จากการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัว โดยสิ่งที่ SMEs กังวลมากที่สุดในปีนี้ 3 อันดับแรก ได้แก่

การเติบโตทางเศรษฐกิจ 18%

อัตราดอกเบี้ย 17.1%

เสถียรภาพทางการเมือง 15.3% 

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE

 


แชร์ :

You may also like