HomeInsightสรุป 3 เทรนด์สร้าง ‘แบรนด์นายจ้าง’ เมื่อหมดยุค Baby Boomers เกษียณเกลี้ยงองค์กร เหลือวัยทำงานเจน X Y Z  

สรุป 3 เทรนด์สร้าง ‘แบรนด์นายจ้าง’ เมื่อหมดยุค Baby Boomers เกษียณเกลี้ยงองค์กร เหลือวัยทำงานเจน X Y Z  

แชร์ :

ปี 2025 เป็นปีแรก ที่วัยทำงานเจน Baby Boomers ซึ่งเกิดระหว่างปี 1946 ถึง 1964  รุ่นสุดท้ายอายุครบ 60 ปี ได้เกษียณการทำงานหมดแล้ว ทำให้คนทำงานในองค์กรเหลือ 3 เจน คือ X Y Z  การเปลี่ยนแปลงวัยแรงงานในตลาดครั้งนี้ “เวิร์คเวนเจอร์” สรุป 3 เทรนด์สร้างแบรนด์นายจ้าง (Employer Branding ) เพื่อรักษาทาเลนต์ให้อยู่กับองค์กร

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในยุคที่ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูง “แบรนด์นายจ้าง” ไม่ใช่เป็นเพียงเครื่องมือในการดึงดูดผู้สมัครงานอีกต่อไป แต่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสามารถคัดเลือกบุคลากรคุณภาพ และรักษาคนเก่งให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว

แต่ละปีจะมีเทรนด์ใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างแบรนด์นายจ้างให้เข้าไปอยู่ในใจผู้สมัครงานและพนักงาน หากองค์กรไม่ปรับตัวตามเทรนด์ อาจพลาดโอกาสที่จะดึงดูดคนเก่ง และต้องเผชิญกับความท้าทายในยุคที่พนักงานเลือกงานมากขึ้น เพราะในปัจจุบัน พนักงานไม่ได้เลือกงานจากเงินเดือนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

คุณจีรวัฒน์ ตั้งบวรพิเชฐ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการสร้างแบรนด์องค์กรนายจ้าง บริษัท เวิร์คเวนเจอร์ เทคโนโลจีส์ จำกัด ผู้ก่อตั้งและเจ้าของการสำรวจ 50 บริษัทที่คนรุ่นใหม่อยากร่วมงานด้วยมากที่สุด (Top 50 Companies in Thailand) กล่าวว่าเวิร์คเวนเจอร์ได้ศึกษาการสร้างแบรนด์นายจ้างจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศในหลายอุตสาหกรรม พบว่าการสร้างแบรนด์นายจ้างในปี 2025 มี 3 เทรนด์หลัก ดังนี้

1. ผสาน ESG สร้างแบรนด์นายจ้าง เทรนด์ที่กำลังมาแรงในไทย 

การผสานแนวคิด ESG (Environmental, Social, Governance) ในการสร้างแบรนด์นายจ้างมีความสำคัญมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากคนรุ่นใหม่ เช่น Millennials และ Gen Z ให้ความสำคัญกับคุณค่าที่องค์กรยึดถือ โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนและจริยธรรม ซึ่งทำให้องค์กรที่มีการดำเนินงานตามหลัก ESG สามารถดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ได้มากขึ้น

การที่คนรุ่นใหม่มองหางานในองค์กรที่มีจริยธรรมและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น องค์กรนายจ้างที่ผสาน ESG ในการดำเนินธุรกิจจึงมีความโดดเด่นในตลาดแรงงาน และกลายเป็น “Employer of Choice” ที่สะท้อนถึงคุณค่าและความเชื่อมั่นของพนักงานยุคใหม่ องค์กรที่โดดเด่นเรื่อง ESG ทำให้เรตติ้งดีขึ้นได้ และได้ Loyalty Branding จากคนในองค์กรด้วย

ขณะเดียวกันการนำ ESG เข้ามาผสานในกลยุทธ์องค์กรยังช่วยลดความเสี่ยง เช่น ความเสียหายจากภาพลักษณ์องค์กร หรือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ด้วย

2. สื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล กลยุทธ์สำคัญสำหรับแบรนด์นายจ้าง 

หากแบ่งวัยทำงานตาม Generation  ประกอบด้วย  Baby Boomers : เกิดระหว่างปี 1946 ถึง 1964, Generation X: เกิดระหว่างปี 1965 ถึง 1980, Generation Y (Millennials) : เกิดระหว่างปี 1981 ถึง 2001 และ Generation Z: เกิดระหว่างปี 2001 ถึง 2012

ปี 2025 เป็นปีสำคัญที่เกิดปรากฏการณ์  X Y Z คือ เหลือคนทำงาน 3 เจนในองค์กร หลังจากเจน  Baby Boomers ได้หยุดทำงานสมบูรณ์แบบแล้ว เมื่อรุ่นสุดท้ายได้เกษียณอายุ 60 ปีในปีที่ผ่าน

พฤติกรรมของเจน X Y Z ในองค์กรแตกต่างกัน โดยเฉพาะการใช้สื่อ โดยเจน X ที่เป็นคนในยุคแอนะล็อกกับดิจิทัล ขณะที่องค์กรต้องการก้าวสู่ดิจิทัลเต็มตัว ปีนี้จะเห็นการใช้สื่อดิจิทัล เพื่อสื่อสารแบรนด์นายจ้างมากขึ้น เห็นได้จากการเติบโตของเม็ดเงินโฆษณาเกี่ยวกับองค์กรหรือแบรนด์นายจ้างเพิ่มขึ้น 50%

ในปี 2025 แพลตฟอร์มอย่าง Meta (Facebook และ Instagram), YouTube และ TikTok จะกลายเป็นเครื่องมือหลักที่องค์กรไทยใช้ในการสร้างแบรนด์นายจ้าง เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานรุ่นใหม่ที่ใช้โซเชียลมีเดียค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรและวัฒนธรรมการทำงาน

สำหรับการสร้างแบรนด์นายจ้างในปีนี้ควรมุ่งเน้นการสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เช่น การเล่าเรื่องราวของพนักงาน (Employee Storytelling) ซึ่งสะท้อนความเป็นจริงในองค์กร และช่วยสร้างความเชื่อมโยงกับผู้สมัครงานที่มีศักยภาพ รวมทั้งการเล่าเรื่องราวที่เน้นประสบการณ์ส่วนตัวของพนักงานจะช่วยให้องค์กรได้เปรียบในตลาดแรงงาน เพราะผู้สมัครงานมักต้องการทราบประสบการณ์ของคนในองค์กรผ่านเรื่องราวที่เข้าถึงง่าย

นอกจากนี้ วิดีโอสั้นที่สนุกและทันสมัย เช่น TikTok หรือ Reels จะมีบทบาทในการนำเสนอวัฒนธรรมองค์กร ขณะเดียวกัน การมีส่วนร่วมของพนักงานในฐานะแบรนด์แอมบาสเดอร์จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ และสะท้อนความโปร่งใส

พฤติกรรมการบริโภคสื่อดิจิทัลของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่ม Millennials และ Gen Z ที่ให้ความสำคัญกับความจริงใจและความโปร่งใสจากองค์กร ทำให้แพลตฟอร์มดิจิทัลกลายเป็นตัวเร่งการสื่อสารแบบ Real-Time องค์กรสามารถปรับเนื้อหาให้ตรงกับเหตุการณ์หรือกระแสปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว การลงทุนในเนื้อหาที่เน้นการเล่าเรื่องราวผ่านดิจิทัลจึงเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างแบรนด์นายจ้างที่โดดเด่น ช่วยดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ และสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยได้เป็นอย่างดี”

การเปลี่ยนแปลงของ Generation วัยทำงานในยุคนี้ ต้องสื่อสารแบรนด์นายจ้างล่วงหน้าไปถึงเจน Alpha ที่กำลังเติบโตและเตรียมเข้าสู่ตลาดแรงงานด้วย เพื่อให้เลือกแบรนด์องค์กรในอนาคต  โดยต้องทบทวนการใช้สื่อดิจิทัลในการสร้างแบรนด์องค์กรให้มากขึ้น เพราะเป็นสื่อที่เจนนี้คุ้นเคย ไม่เช่นนั้นจะตกขบวนดึงดูดทาเลนต์กลุ่มนี้ในอนาคต

3. พัฒนา EVP กุญแจสู่ความสำเร็จในตลาดแรงงาน

Employer Value Proposition หรือ EVP คือ คำมั่นสัญญาขององค์กรที่สะท้อนถึงคุณค่าและประสบการณ์ที่พนักงานจะได้รับ ซึ่ง EVP ที่ชัดเจนและโดดเด่นไม่เพียงแต่จะดึงดูดผู้สมัครที่มีศักยภาพ แต่ยังช่วยสร้างความผูกพันกับพนักงานในระยะยาว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่องค์กรต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งโครงสร้างองค์กร และวิสัยทัศน์องค์กร เช่น การเปลี่ยนผู้นำหรือการรีแบรนด์

การแข่งขันในตลาดแรงงานและความต้องการ “งานที่มีความหมาย” ของคนรุ่นใหม่ ทำให้ EVP กลายเป็นประเด็นสำคัญ องค์กรชั้นนำเริ่มลงทุนเรื่อง EVP อย่างจริงจัง เช่น การใช้เรื่องเล่าจากพนักงาน (Employee Storytelling) ผ่านดิจิทัล เช่น LinkedIn หรือ TikTok เพื่อดึงดูดบุคลากรที่สอดคล้องกับค่านิยมองค์กร

“แนวทางด้าน EVP ที่องค์กรควรนำมาปรับใช้ในปีนี้ คือ การใช้ข้อมูลวิเคราะห์เพื่อพัฒนา EVP ให้กลายเป็น Strategic EVP ที่ทั้งตอบโจทย์ดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย และยังสร้างความแข่งแกร่งด้านบุคลากรให้กับองค์กรได้อีกด้วย รวมถึงการสื่อสาร EVP อย่างโปร่งใสและเป็นจริง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความผูกพันของพนักงาน หากองค์กรสามารถพัฒนา EVP ได้อย่างเหมาะสม จะสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันและดึงดูดบุคลากรที่มีคุณภาพได้มากขึ้น”

ปัจจุบันแบรนด์องค์กรทั่วโลกกำลังทบทวน EVP ใหม่ จากปรากฏการณ์คนทำงานเจน X Y Z  เพราะก่อนหน้านี้เจน Baby Boomers คนทำงานยุคแรก เป็นคนทำ EVP  เมื่อวัยคนทำงานและเป้าหมายองค์กรเปลี่ยนไป หากยังใช้ EVP ชุดเดิม ที่ทำตั้งแต่ Baby Boomers อาจไม่สามารถดึงดูด เจนอื่นๆ มาทำงานได้  โดยเจน Z ครึ่่งหนึ่ง ที่กำลังทยอยเข้าตลาดแรงงาน  และเจน Alpha ที่กำลังเป็นเจนต่อไปในตลาดแรงงาน

องค์กรต่างๆ ต้องทบทวนแนวทาง EVP ครั้งใหญ่ เพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องปรับตัว เพื่อสร้างโอกาสดึงทาเลนต์รุ่นใหม่

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like