HomeFeaturedสรุปมุมมอง Soft Power ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยกับ 3 ผู้นำองค์กร “เมืองไทยประกันภัย – ศรีจันทร์ – Sea

สรุปมุมมอง Soft Power ขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยกับ 3 ผู้นำองค์กร “เมืองไทยประกันภัย – ศรีจันทร์ – Sea

แชร์ :

งานสัมมนาแห่งปี “Chula Thailand Presidents Summit 2025” จัดโดย “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”  ในหัวข้อ Future Thailand: Soft Power พูดถึงพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทย เพื่อขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยและสร้างเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านมุมมองของผู้นำองค์กรชั้นนำ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

Soft Power ต้องพัฒนาคน-ทำต่อเนื่อง  

คุณนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมืองไทยประกันภัย กล่าวว่า Soft Power เป็นสิ่งที่ประเทศไทยพูดมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ช่วง 2 ปีนี้รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากและผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการจัดตั้งคณะทำงานต่างๆ

จากประสบการณ์การทำงาน ที่เริ่มนำเข้าสินค้าแฟชั่น จาก ฝรั่งเศส อิตาลี มาทำตลาดในประเทศไทย โดยเริ่มจากแบรนด์แรก CELINE ในปี 2535 จากนั้นขอเป็นตัวแทนจำหน่าย Hermès ในประเทศไทย

“สิ่งที่คนฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับการทำแบรนด์ คือการสร้าง  Soft Power ให้เปล่งประกาย ในรูปแบบแฟชั่นดีไซน์ ทำ R&D ต่อเนื่อง จากนั้นต่อยอดสร้างมูลค่าไปยังด้านเศรษฐกิจ” 

สะท้อนได้จากราคาหุ้น LVMH เป็นหุ้นอันดับหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ฝรั่งเศส มีมาร์เก็ตแคป 12 ล้านล้านบาท อันดับสอง Hermès มาร์เก็ตแคป 9 ล้านล้านบาท เห็นได้ว่าสินค้า Luxury Brand เหล่านี้เป็นหนึ่งใน Soft Power ของประเทศที่สามารถต่อยอดบูรณาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตได้

“กีฬา” ถือเป็น Soft Power ของประเทศเช่นกัน เห็นได้จากการจัดแข่งขันกีฬาระดับโลกรายการต่างๆ เช่น แข่งขันฟุตบอลโลก สร้างเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศ อีกทั้งยังช่วยโปรโมตประเทศให้เป็นที่รู้จักต่อยอดช่วยสร้างเศรษฐกิจ

คุณนวลพรรณ ล่ำซำ

ในประเทศไทยหากมองอาวุธสำคัญในการพัฒนา Soft Power คือ “คนไทย” เห็นได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ปี 2567 กรุงเทพฯ เป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่ง  เหตุผลที่ชาวต่างชาติชอบเที่ยวเมืองไทย ก็มาจากชอบคนไทย เพราะใจดี ยิ้มง่าย มี Service Mind

“Soft Power เกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน มาช่วยเสริมสร้างและร่วมกันพัฒนาเป็น Smart Power ใช้เม็ดเงินสนับสนุนให้ถูกจุด ถูกเวลา เพื่อผลักดันกลุ่มคนที่เป็น Soft Power ให้ไปต่อได้ มองว่านโยบาย Soft Power ของรัฐบาลมาถูกทางแล้ว แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง”  

ความท้าทายของการทำ  Soft Power  คือความต่อเนื่อง ดังนั้นการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติและส่วนงานที่เกี่ยวกับ Soft Power ทั้งหมด ต้องอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ประเทศ ทำงานอย่างต่อเนื่องร่วมกันทุกส่วน ไม่เปลี่ยนแปลงตามพรรครัฐบาล เพื่อผลักดันเป็น “ผลงานประเทศไทย”  

ทั่วโลกพูดถึง Soft Power เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากการพัฒนาคนในประเทศ ทั้งจำนวนและคุณภาพ

คุณรวิศ หาญอุตสาหะ

ต่อยอดวัตถุดิบเครื่องสำอางไทยเจาะตลาดโลก

คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด กล่าวว่าการผลักดัรยุทธศาสตร์ Soft Power ภาคเอกชนมีพร้อมทำงานกับภาครัฐ  อย่าง ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ประเทศไทยถือเป็นฐานการผลิต OEM เครื่องสำอางอันดับ 3 ของเอเชีย  แต่เป็นการนำเข้าวัตถุดิบเครื่องสำอาง 90% ทั้งที่วัตถุดิบที่นำเข้า ประเทศไทยสามารถผลิตได้ แต่ไม่มีเจ้าภาพผลักดันการใช้วัตถุดิบที่โดดเด่นของไทย หากทำได้จะเกิดมูลค่าทั้งกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ

โมเดลการผลิตเครื่องสำอางในเกาหลี ญี่ปุ่น เมื่อมีวัตถุดิบใดได้รับความนิยม “ทุกแบรนด์” จะพัฒนาโปรดักท์เหมือนกันมาทำตลาด เช่น  การใช้วัตถุดิบ “ใบบัวบก” เป็นธีมหลักทำเครื่องสำอาง ทุกแบรนด์จะพัฒนาสินค้าออกมาทำตลาดพร้อมกัน เพื่อร่วมกันสร้างให้เกิดกระแสทั่วโลก มองว่าประเทศไทย ต้องทำโมเดลนี้เช่นกัน  เพราะการทำคนเดียวไม่เกิดกระแส ต้องทำไปพร้อมกันทั้งอุตสาหกรรม

หากมองการต่อยอด  Soft Power ด้านวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ประเทศไทยโดดเด่นมากในหลากกหลายวัตถุดิบที่ใช้กันทั่วโลก  เช่น สารสกัดจากขิง  ใช้ในเครื่องสำอาง ยา  สารสกัดจากทุเรียนอ่อน ที่มีมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง ประเทศไทยเองเป็นแหล่งปลูกทุเรียนระดับโลก

การต่อยอด  Soft Power ด้านวัตถุดิบที่โดดเด่นเหล่านี้ เห็นได้เกาหลีได้นำเสนอผ่านเรื่องราวของซีรีส์ต่างๆ จนประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจในตลาดโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ประทศไทยทำได้เช่นกัน

สิ่งสำคัญในการพัฒนา Soft Power  คือ ทักษะของคน โดยส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เริ่มที่ 1.อนาคตใครอดทนได้มากกว่าจะได้เปรียบ เพราะในด้านทักษะสามารถเรียนรู้ได้อยู่แล้ว แต่สภาพแวดล้อมในยุคนี้ทำให้ความอดทนของคนลดลง  2. Stress Management  การบริหารจัดการความเครียด คนยุคนี้มีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ทั้งที่มีความพร้อมในหลายด้านมากกว่ายุคก่อน   และ 3. บริการจัดการความสำคัญของตัวเอง ต้องกลับมาบริหารทั้งสุขภาพร่างกายและจิตใจ

คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ

สร้างแบรนด์-คอนเทนต์ Go Global

คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม การีนา (Garena) ช้อปปี้ (Shopee) กล่าวว่าเข้าใจ Soft Power ง่ายๆ คือการสร้างแบรนด์ ทำอย่างไรให้คนรู้จักประเทศไทยมากขึ้น

ที่ผ่านมารัฐบาลผลักดัน Soft Power ผ่านการสร้างแบรนด์ 5F ได้แก่ 1. อาหาร (Food)  2. ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film)  3. การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion)  4. ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting) และ 5. เทศกาลประเพณีไทย (Festival) เพื่อสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจให้เกิดรายได้  เช่นเดียวกับ เกาหลีใต้ ที่พัฒนา Soft Power มา 24 ปี ทำมาต่อเนื่องและประสบความสำเร็จสร้างรายได้ทั่วโลก

สำหรับ Sea ประเทศไทย ที่มี “การีนา” เป็นธุรกิจเกมในเครือ ก็มีการส่งออกความเป็นไทยผ่านเกมที่มีผู้เล่นอยู่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น RoV (Arena of Valor) และ Free Fire ที่ให้บริการกว่า 160 ประเทศทั่วโลก และมี Daily Active Users กว่า 100 ล้านคน

Sea สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสื่อสารความเป็นไทยออกไป เช่น จัดการประกวด Skin Contest หรือการออกแบบชุดของตัวละครในเกมกับกระทรวงวัฒนธรรม และออกแบบฉากเมืองรองเพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวในไทย

ที่ผ่านมาธุรกิจเกม Garena ไม่ว่าจะเป็น RoV และ Free Fire ให้บริการกว่า 160 ประเทศทั่วโลก และมีผู้คนเล่นทั่วโลกกว่า 100 ล้านคน  ได้สื่อสารความเป็นไทยให้ทั่วโลกรู้จัก  เช่น จัดการประกวด Skin Contest  การออกแบบชุดของตัวละคร และฉากเมืองรองในเกม โปรโมตการท่องเที่ยวในไทย รวมทั้งการแสดง “หมูเด้ง” ในเกม Free Fire เพื่อทำให้คนทั่วโลกรู้จักประเทศไทยมากขึ้น

“อี-สปอร์ต” เป็นอีกโอกาสของ Soft Power ด็กไทยและคนไทยเก่งเรื่องเกม สามารถผลักดัน Digital Economy และสร้างเม็ดเงินผ่านเกมที่เข้าถึงคนทั่วโลกได้

ประเทศไทยมีของดี มียุทธศาสตร์ สิ่งที่ต้องทำคือ “ความต่อเนื่อง” การทำ Soft Power ให้ Go Global ต้องเป็นเรื่องสากลนิยม ต่างชาติรู้จักและชื่นชอบ แต่ความท้าทายของไทย มีคำว่า “ความเหมาะสม” เข้ามาด้วย  จึงต้องเปลี่ยนไม้บรรทัดวัดความเหมาะสม ข้อจำกัดในการทำคอนเทนต์ ต้องปรับให้เข้ากับตลาดโลก เข้าใจเทรนด์โลก และคนเสพ Soft Power ในตลาดโลก

ติดตามพวกเราได้ที่ LINE


แชร์ :

You may also like