สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) เผยผลสำรวจฉบับแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 พบดัชนีความสุขลดลง รวมถึงแนวโน้มการใช้จ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ที่ลดลงจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ยังคงฝืดเคืองอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลสำรวจดังกล่าวพบว่า แนวโน้มความต้องการในการใช้จ่ายลดลง -1 เมื่อเทียบกับผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 ที่ผ่านมา โดยคนเมืองชะลอการใช้จ่าย ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายในกรุงเทพฯ และภาคกลางลดลง 4%
นอกจากนี้ การไม่มีอีเวนต์เฉลิมฉลองเหมือนช่วงปลายปี ประกอบกับข่าวเลย์ออฟพนักงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้พนักงานออฟฟิศเริ่มออมเงินฉุกเฉินมากขึ้นและลดการใช้จ่ายลง ซึ่งก็สอดคล้องกับผู้ทำผลสำรวจในทุก ๆ ภูมิภาคที่มีความเห็นไปทางเดียวกันว่า ยังไม่ต้องการใช้จ่าย แต่เน้นเก็บออมไว้เพื่ออนาคต
ฮาคูโฮโดระบุว่า แม้คะแนนความสุขของคนไทยลดลง 1% เมื่อเทียบกับผลสำรวจเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่คนไทยก็ยังคงมองหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเติมเต็มหัวใจ ด้วยกระแส Thai Made ที่กำลังมาแรง โดยแฟชั่นไทยครองแชมป์ด้านการใช้จ่ายด้วยคุณภาพและดีไซน์ที่เทียบชั้นแบรนด์ต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกกว่าซึ่งจากผลสำรวจฉบับนี้สามารถแบ่งความสนใจในกระแส Thai Made ในแต่ละ Generation ได้ ดังนี้
- Gen X : เป็นกลุ่มที่อายุมากที่สุด แต่กลับเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายกับแฟชั่นไทยมากที่สุด ด้วยมุมมองที่ว่าแฟชั่นไทยในปัจจุบันมีคุณภาพใกล้เคียงกับแบรนด์ต่างประเทศ อีกทั้งยังต้องการแสดงออกถึงความรักสวยรักงามและไม่ยอมจำนนต่ออายุ
- Gen Y: คน Gen Y เปย์จัดเต็มในช่วงเทศกาลไทย เพราะมองว่าช่วงเวลานี้คือโอกาสทองในการรวมตัวกันของครอบครัว ไม่ว่าจะซื้อของขวัญให้ลูก พ่อแม่ หรือพาทุกคนในครอบครัวไปเที่ยว ช่วงเทศกาล คือ ช่วงเวลาแห่งความสุชที่ทุกคนรอคอยให้ได้ใช้เวลาร่วมกัน การเฉลิมฉลอง ประเพณี และการทำบุญยังเป็นหัวใจหลักที่ช่วยเชื่อมโยงครอบครัวให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
- Gen Z: คนใน Gen นี้ คือแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้ T-Pop พุ่งแรงไม่มีตก ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนศิลปินผ่านคอนเสิร์ต แฟนมีต หรือกิจกรรมต่าง ๆ ชาว Gen Z คือ พลังที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนวงการ T-Pop ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ คุณอรุณโรจน์ เหล่าเจริญวงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ได้ให้คำแนะนำกับแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อนำไปปรับใช้ให้ตรงกับกระแสและความต้องการของคนไทยในขณะนี้ไว้ 2 ข้อหลัก คือ
1. Do Good, Feel Close Campaign
การทำบุญถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย แบรนด์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมโยงกับคนไทยได้อย่างมีความหมายผ่านแคมเปญ Do Good, Feel Close ด้วย Virtual Merit ที่ทำให้ใครหลาย ๆ คนสามารถเข้าร่วมไลฟ์ส่วนตัวกับศิลปินคนโปรด โดยศิลปินจะร้องเพลงและร่วมทำบุญไปพร้อมกัน
การเข้าร่วมแคมเปญนี้ทำได้โดยการซื้อชุดทำบุญสุดพิเศษ ซึ่งประกอบไปด้วย ดอกไม้ หนังสือสวดมนต์ ที่ล้วนผลิตจากแบรนด์ และการ์ดขอบคุณจากศิลปิน ซึ่งแคมเปญนี้จะช่วยให้แฟน ๆ ของศิลปินมีส่วนร่วมกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้ทำบุญร่วมกันอีกด้วย
2. Heart & Heal : เติมเต็มหัวใจ ใส่ใจตัวเอง
กระแสรักตัวเอง หรือ Self-Love ยังคงมาแรงในคนไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการดูแลเอาใจใส่ตนเอง แบรนด์สามารถสร้าง Engagement ผ่าน ‘Message To Me: เขียนถึงตัวเองในอนาคต’ ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ทุกคนสามารถเขียนข้อความให้กำลังใจตัวเอง ซึ่งข้อความเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปให้ผู้เขียนในอีก 3 หรือ 6 เดือนข้างหน้า เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้รักและเห็นคุณค่าในตัวเองมากยิ่งขึ้น
สำหรับผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 เป็นผลสำรวจจากการรวบรวมข้อมูลจากวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ถึง 1 มกราคม พ.ศ. 2568 โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับแนวโน้มและพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยในอนาคต ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากประชากรเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ