LINE MAN เปิดเทรนด์ “ชาไทย Specialty” มาแรงในรอบ 3 ปีหลัง มีร้านเปิดใหม่เพิ่มขึ้น 205% ฝั่งผู้บริโภคแห่ดื่มชาไทยคุณภาพที่สามารถเลือก กลิ่น-รส แหล่งที่ปลูกได้ ยอดสั่งเติบโต 81% ทะลุ 4 แสนแก้วในปี 2024
จากฐานข้อมูลของ LINE MAN พบแนวโน้มการเติบโตที่สำคัญของเมนูชาไทย Specialty อย่างชัดเจน ในระหว่างปี 2022-2024 ดังนี้
- ร้านเครื่องดื่มที่ขายชาไทย Specialty เพิ่มขึ้นกว่า 205% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สอดรับกับพฤติกรรมคนไทยที่หันมาดื่มชาไทยคุณภาพสูงมากขึ้น โดยปี 2024 มียอดสั่งเดลิเวอรีรวมแตะ 4 แสนแก้ว โต 81% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
- กรุงเทพฯ ยังคงเป็นศูนย์กลางของเทรนด์ชาไทย Specialty มีจำนวนร้านมากที่สุด คิดเป็น 46% ของทั้งประเทศ ตามมาด้วยนนทบุรี และชลบุรี
แนวโน้มการเติบโตของชาไทย Specialty มีจุดเริ่มต้นในปี 2022 ที่อุตสาหกรรมชาขยายตัวในเชิงโครงสร้าง ทั้งด้านคุณภาพของใบชา ความหลากหลายของแหล่งปลูก และกำลังการผลิต ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นตลาดค้าชาใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก (อ้างอิงข้อมูลจากสถิติการประเมินยอดขายชาโดยสถาบันชาและกาแฟแห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 7 ก.ค. 2023)
ชาไทยเป็นที่ต้องการสูงจากทั้งในไทยและทั่วโลก พันธุ์ชาที่นิยมปลูกในไทยได้แก่ ชาจีน (Chinese Tea) และชาอัสสัม (Assam Tea) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของชาไทยสีส้มที่พวกเราคุ้นเคย แล้วถูกพัฒนามาเป็นเมนู “ชาไทย Specialty” ที่สามารถเลือกรสชาติและกลิ่นหอมได้ เหมือนกับเมนูกาแฟ Specialty
ชาไทยลิซ่า ดันยอดขาย
นอกจากนี้ กระแส “ชาไทยลิซ่า” เมนู Thai up the World by Lisa ที่สร้างสรรค์โดย “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” ร่วมกับ Erewhon ซูเปอร์มาร์เก็ตหรูในอเมริกา ผู้บริโภคกระแสหลักจึงสนใจเมนูชาไทยพรีเมียมมากขึ้น ส่งผลให้ร้านดังอย่าง KHIRI Thai Tea, Unicorn Signature, C PROM และร้านเครื่องดื่มทั่วประเทศเพิ่มเมนู “ชาไทยลิซ่า” ตามมา
คุณแพร-มิญชยา บูรณะเศรษฐกุล เจ้าของร้าน KHIRI Thai Tea หนึ่งในร้านชาไทย Specialty ที่มียอดออร์เดอร์สูงสุดบน LINE MAN เล่าว่าชาไทยอยู่คู่คนไทยมานาน แต่ด้วยเทรนด์ผู้บริโภคชาวไทยในช่วงหลังที่หันมาบริโภคเครื่องดื่ม Specialty จากตลาดกาแฟ Specialty ทำให้เกิดตลาดชาไทย “Specialty” ขึ้นตามมา
รูปแบบของชาไทย Specialty เชื่อมโยงทุกกระบวนการพัฒนาชาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ใช้ใบชาจากเกษตรกรไทย พัฒนาโดยคนไทย และถ่ายทอดเป็นเมนูที่สะท้อนรสชาติแท้ของชาไทย ปัจจุบัน ร้านชาไทยทั่วประเทศเริ่มคัดสรรใบชาคุณภาพจากแหล่งปลูกหลากหลายทั่วไทย ซึ่งมี Taste Notes เป็นเอกลักษณ์ในแต่ละพื้นที่ เช่น ชาเชียงรายให้กลิ่นอายดอกไม้และเบอร์รี่ ชาแม่ฮ่องสอนมีโน้ตของส้มและเนยสด ชาปัตตานีมีกลิ่นหอมของเนยถั่วและลูกสน
คุณแพร กล่าวเสริมว่า ถ้าเราสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของชาไทยได้ดี และมีปัจจัยสนับสนุน เช่น การพัฒนาเมนูใหม่ การขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น หรือการผลักดันจากแบรนด์ใหญ่ โอกาสที่ชาไทย Specialty จะแมสใกล้เคียงกับกาแฟ Specialty อาจเกิดได้เร็วขึ้นทั้งในไทยและระดับโลก
ยอดสั่งชาไทย Specialty โตขึ้นกว่า 3.3 เท่า
ในภาพใหญ่ของตลาดเครื่องดื่ม Specialty ทั้งหมด กาแฟ Specialty ยังเป็นผู้นำตลาดในแง่จำนวน ส่วนตลาดชาไทย Specialty กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว หากเทียบอัตราการเติบโตในช่วง 3 ปีล่าสุด (2022-2024) จากฐานข้อมูล LINE MAN พบว่า ยอดสั่งชาไทย Specialty โตขึ้นกว่า 3.3 เท่า เทียบกับกาแฟ Specialty ที่เติบโต 2.7 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
**ข้อมูลเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปี 2022 และ ปี 2024