มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน “Human Interaction for Systematic Innovation” ครั้งแรกกับการรวมตัวของนวัตกรระดับโลก กูรูด้านบริหารจัดการและนักวิจัยด้านการแพทย์ เพื่อพลิกโฉมการแพทย์ไทย จากกระบวนการคิด Systematic Framework ที่ทำให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างผลกระทบในการสร้างเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต
การจัดงานครั้งนี้ยังถือเป็นการเริ่มต้น โครงการระดมทุนเพื่อการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด โดยจัดตั้งกองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขึ้นเพื่อระดมสมองเพื่อพลิกโฉมนวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย โดยเฉพาะการยกระดับการรักษามะเร็งและโรคร้ายแรง ที่ตั้งเป้าในการทำโรงงานยาที่มีชีวิต หรือ MU-Bio Plant สร้างยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นการยกระดับการรักษามะเร็งและต่อยอดงานวิจัยการรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด
ดร.สมศักดิ์ ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ และกรรมการมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดตั้ง ‘กองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน’ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและสังคมโลก ภายใต้จุดแข็งของมหาวิทยาลัยมหิดลที่เริ่มจากความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ขยายกว้างสู่สหสาขากว่า 37 คณะ ประกอบกับการที่มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้ง 11 แห่งในสังกัด ดังนั้น การผสานความร่วมมือ (Synergy) จะเป็นพลังที่เข้มแข็งอย่างมากและเป็นหัวหอกสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนจาก Academic Impact สู่การสร้างผลกระทบ Real World Impact ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม (Holistic Well-being) ให้ได้ตามเป้าหมายของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลคนปัจจุบัน
“การจัดงานสัมมนาครั้งนี้เป็นเหมือนการ คิกออฟการระดมทุน เพื่อให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถทำโรงงานยาแบบ Cell and Gene Therapy ซึ่งจะเป็นโรงงานยาที่มีชีวิตแห่งแรกของไทย จะเป็น Game Changer ของการรักษามะเร็ง ให้คนไทยสามารถเข้าถึงการรักษาโรค ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคภัยอันดับ 1 ของไทย ด้วยนวัตกรรมอันทันสมัยในราคาที่ต่ำลง ลดการนำเข้ายาลดลงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประเทศ ซึ่งเป็นอนาคตที่สำคัญของวงการแพทย์ไทย” ดร.สมศักดิ์กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.วิชิตา รักธรรม รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเริ่มเดินหน้าต่อยอดความสำเร็จบนแนวทางการนำความรู้มาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์กับสังคมในระดับประเทศและระดับโลก โดยการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายทางสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต ที่สำคัญคือ พันธกิจในการสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อป้องกัน รักษาโรค ส่งเสริมสุขภาพ ขยายการเข้าถึงการรักษาและยกระดับชีวิตคนไทย ครอบคลุมการพัฒนายา โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นดุจก้าวแรกของการสร้างอนาคตที่จะพลิกโฉมงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่ออนาคตคนไทยทุกคนได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและเท่าเทียม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม (Holistic Well-being) การที่มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งเป้าที่จะทำให้เกิด “โรงงานยาที่มีชีวิต หรือ MU-Bio Plant” โดยสร้างยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) เป็นกลุ่มยา ATMP ให้เกิดขึ้นเป็นโรงงานแรกของประเทศไทย โดยหวังว่าจะที่ผลิตยาที่มีชีวิต เพื่อจะนำมารักษาโรคมะเร็งที่มีนวัตกรรมอันทันสมัยให้เกิดได้เร็วขึ้นและเป็นโอกาสที่จะให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง
ประเทศไทยตระหนักดีว่าเราต้องการนวัตกรรมในการที่จะสามารถนำประเทศก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่เติบโตและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย และนวัตกรรมที่สร้างออกมาก็ไม่ได้รับความสำเร็จได้โดยง่าย Prof. Steven Eppinger, Massachusetts Institute of Technology Sloan School of Management (ศจ. ดร. สตีเวน เอปพิงเกอร์) ชี้ให้เห็นว่า นวัตกรรมจะสำเร็จได้นั้นต้องตอบโจทย์ครบทั้ง 3 ข้อ คือ ตอบสนองความต้องการของคน (People Desirable) โซลูชันนั้นต้องใช้ได้จริง (Solution Feasible) และต้องนำมาต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ (Business Viable) สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการฟังและเข้าใจความต้องการของคนเท่านั้น จึงได้นำเสนอแนวคิด Systematic Innovation through Human-Centered Design ซึ่งเป็นกระบวนการ Design Thinking ที่ให้ความสำคัญกับคน ไม่ว่าจะผ่านการฟัง สังเกต แล้วนำไปผ่านกระบวนการคิด ทดสอบแนวคิด รับฟังความคิดเห็น เพื่อนำมาปรับเป็นนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการ เป็นโซลูชันที่ดีขึ้น และตอบโจทย์เชิงธุรกิจ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงโซลูชันที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ไม่จำเป็นต้องเป็นของใหม่ แต่ต้องเป็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม ต่อให้มีเทคโนโลยีมาช่วย สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือการคิด กว่าจะได้นวัตกรรม ก็ต้องผ่านการคิดมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง และกว่านวัตกรรมนั้นจะสำเร็จ ใช้ได้จริง ก็ต้องผ่านการทดลองและล้มเหลวอีกมากมาย
รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว “ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลมีการผลักดันเรื่องงานวิจัยยาจำนวนมาก เพื่อยกระดับการรักษาและดูแลสุขภาพ แต่ยังมีข้อจำกัดในการนำเข้าสู่ช่วง Clinical Trial ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะสามารถคิดค้นผลิตยา เป็นของไทยเอง เพราะการวิจัยทางคลินิก ต้องอาศัยความพร้อม และงบประมาณจำนวนมาก”
รศ.ดร.ยศนันท์ กล่าวต่อว่า วันนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมีแผนงาน จะจัดตั้ง โรงงานยาที่มีชีวิต หรือ MU-Bio Plant โดยสร้างยาจากเซลล์ที่มีชีวิต (Living Drug) เป็นกลุ่มยา ATMP โดยแนวมีทางดำเนินงานจะดัดแปลงโรงงานยาเดิมที่มหาวิทยาลัยลงทุนไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเพื่อต่อยอดสู่ โรงงานยาที่มีชีวิตแห่งแรกในไทย ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณอีกราว 1,000 ล้านบาท
“การลงทุนด้านนวัตกรรมอย่างที่เราทำเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา โอกาสการได้รับทุนสนับสนุนจาก VC ทั่วไปเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก ในระดับโลกนวัตกรรมใหม่ๆ ส่วนใหญ่ก็ใช้แนวทางนี้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องใช้วิธีระดมทุนเพื่อสนับสนุนภารกิจ” รศ.ดร.ยศนันท์ กล่าว
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลมีความก้าวหน้าในการรักษามะเร็งด้วยเซลล์บำบัดแทนเคมีบำบัดโดยเฉพาะนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR T-Cell) และ mRNA ที่มีความก้าวหน้าเทียบเท่าการรักษามะเร็งในระดับโลก ตลอดจนมีความพร้อมที่จะยกระดับและต่อยอดงานวิจัยนวัตกรรมด้านการรักษามะเร็งและโรคร้ายแรง
ศาสตราจารย์ นพ.สุรเดช หงส์อิง คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ขยายความเรื่องนี้ว่า “การวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR T-Cell) เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่ทีมแพทย์และอาจารย์นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลได้เริ่มวิจัยมาตั้งแต่ปี 2567 จนสำเร็จ และสามารถนำไปใช้ได้จริงในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเริ่มโครงการนำร่องในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งโรคเลือดมัยอิโลมา และยังนำไปใช้ในการรักษาโรค SLE จึงเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงการรักษาอันล้ำหน้านี้ เพราะต้นทุนต่ำลงมาก นับเป็นความภาคภูมิใจ เพราะเป็นผลงานของคนไทย 100% และได้รับการจดสิทธิบัตรครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ”
นอกจากนี้ในอนาคตอีก 5-10 ปี ข้างหน้า การรักษามะเร็งจะใช้ Personalized ซึ่งก้าวล้ำหน้า ยิ่งกว่า CAR T-Cell โดยผลงานของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเซลล์ของแต่ละคนมาวิเคราะห์ ตัดต่อพันธุกรรม แล้วฉีด mRNA เข้าไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของคนไข้รายนั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยมีสิทธิบัตร Circular mRNA อยู่ พร้อมที่จะต่อยอดนวัตกรรมการรักษาในแนวเฉพาะบุคคลได้ทันที
ทั้งนี้ กองทุน“มูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน” มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นกองทุนใหม่ที่จัดตั้งขึ้น ภายใต้มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 7มกราคม 2568 ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและสังคมโลก โดยมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายทางสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต มีพันธกิจในการสนับสนุนนักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อป้องกัน รักษาโรค ส่งเสริมสุขภาพ ขยายการเข้าถึงการรักษาและยกระดับชีวิตคนไทย ครอบคลุมการพัฒนายา โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา มีโครงการนำร่อง ได้แก่ โครงการรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดลจงเจตน์ เมธีวิชญ์ โครงการอาคารศูนย์ปฏิบัติเพื่อความเป็นเลิศด้านผลิตภัณฑ์ยาและสมุนไพร (PharmTOP) โครงการระดมทุนเพื่อรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เซลล์แทนเคมีบำบัด ฯลฯ
สำหรับผู้สนใจสามารถร่วมสมทบทุน ‘กองทุนมูลนิธิมหิดลเพื่อความยั่งยืน’ ได้ที่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา บัญชีออมทรัพย์ชื่อบัญชี “มูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดล” เลขที่บัญชี 157-1-324-344 ทุกการบริจาคสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า
นี่คือก้าวแรกของการสร้างอนาคตที่จะพลิกโฉมงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ เพื่ออนาคตคนไทยทุกคนได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและเท่าเทียม