เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เผยองค์กรของไทยถูกโจมตีทางไซเบอร์มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 70% และประเทศไทยกำลังเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้นจากการโจมตีในรูปแบบฟิชชิ่ง และการหลอกลวงทางธนาคาร โดยค่าเฉลี่ยที่องค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยโดนโจมตีทางไซเบอร์อยู่ที่ 3,180 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อองค์กรในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 – มกราคม 2568 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 1,843 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อองค์กร
บริษัท เช็คพอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชันชั้นนำด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ เปิดเผยถึงภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย โดยระบุว่า ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เร่งด่วนที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ การหลอกลวงทางฟิชชิ่ง และมัลแวร์ทางธนาคาร ซึ่งภัยคุกคามทั้งสองรูปแบบนี้มีอัตราการแพร่ระบาดสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ
จากรายงานของเช็ค พอยท์ อินเทลลิเจ้นซ์ (Check Point Intelligence) พบว่าเหตุการณ์แรนซัมแวร์ในประเทศไทยคิดเป็น 6% ของการโจมตีทางไซเบอร์เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 4% ขณะที่มัลแวร์ทางธนาคารคิดเป็น 9.5% เมื่อเทียบกับ 2.8% ทั่วโลก แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสำรวจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เผยให้เห็นว่า ลูกค้าของธนาคารไทยสูญเสียเงิน มากกว่า 60 ล้านบาท จากการฉ้อโกงทางการเงินออนไลน์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ผู้ก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ยังใช้ประโยชน์จากโมเดล AI มากขึ้น โดยมีการนำไปใช้ในด้านต่าง ๆ เช่น การปลอมแปลงตัวตน การโจรกรรมทางการเงิน การหลบเลี่ยงการรักษาความปลอดภัยของธนาคาร การหลอกลวงในรูปแบบฟิชชิ่งโดยใช้เทคโนโลยี AI การใช้เสียงปลอมเพื่อหลอกลวง และการสร้างเนื้อหาลวงด้วย AI ฯลฯ
เตือนองค์กรไทย เสริมกลยุทธ์ด้านความปลอดภัยบนคลาวด์
คุณชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการสาขาประจำประเทศไทย บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์
สำหรับการคาดการณ์ว่า ตลาดการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์ในประเทศไทย จะมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 25% และคาดว่าจะเติบโตถึง 17.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2572 นั้น ทางเช็ค พอยต์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ แนะนำด้วยว่า การที่องค์กรต่าง ๆ กำลังเดินหน้าเร่งนำระบบคลาวด์มาใช้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนากลยุทธ์ด้านความปลอดภัยเพื่อให้พร้อมรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้นด้วย
คุณชาญวิทย์ อิทธิวัฒนะ ผู้จัดการสาขาประจำประเทศไทย บริษัท เช็ค พอยท์ ซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีส์ เปิดเผยว่า “นโยบายคลาวด์ เฟิร์ส (Cloud First Policy) ของรัฐบาลถือเป็นก้าวสำคัญสู่ระบบดิจิทัลให้ทันสมัย แต่หน่วยงานต่าง ๆ จะต้องตระหนักว่าการนำระบบคลาวด์มาใช้ไม่ได้ปลอดภัยเต็มร้อย ดังนั้นจึงต้องอาศัยแนวทางเชิงกลยุทธ์ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ และด้วยจำนวนภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้องค์กรต่าง ๆ ต้องใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภัยคุกคามขั้นสูงและการตรวจสอบความปลอดภัยอัตโนมัติเพื่อให้ก้าวล้ำแซงหน้าการโจมตีที่มีการพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลาด้วย”