HomePR News“Trumpism” เขย่าโลก!! สกสว. ชี้ทางรอดวิจัยและนวัตกรรมไทย รับมือทรัมป์ 2.0 เร่งเครื่องเศรษฐกิจ BCG ชิงความได้เปรียบในดีมานด์โลก

“Trumpism” เขย่าโลก!! สกสว. ชี้ทางรอดวิจัยและนวัตกรรมไทย รับมือทรัมป์ 2.0 เร่งเครื่องเศรษฐกิจ BCG ชิงความได้เปรียบในดีมานด์โลก

แชร์ :

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ระดมผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและเปิดแนวทางการรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบาย “TRUMP 2.0” ต่อระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย โดยชี้ให้เห็นถึงทั้งโอกาส ความท้าทาย และความจำเป็นในการปรับตัวเพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในเวทีเสวนา “Trump 2.0 วิกฤตหรือโอกาสของระบบ ววน. ไทย” เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายสหรัฐฯ ต่อระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ผศ. ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร กรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า นโยบาย “Trump 2.0” ทำให้ภาพลักษณ์ของความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยการประกาศใช้ “นโยบายการค้าอเมริกามาก่อน” (America First Trade Policy) ที่เน้นส่งเสริมการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า และเพิ่มความได้เปรียบด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยี และผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา จึงทำให้ทรัมป์ตัดสินใจออกจากความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายๆ ด้าน เช่น การออกจาก Paris Agreement และการลดบทบาทของสหรัฐฯ ในองค์กรระหว่างประเทศอย่าง UN และ UNESCO ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่น่ากังวล เนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาในระดับโลก การเตรียมความพร้อมของไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนจากการตั้งรับเป็นเชิงรุก โดยการปรับปรุงนโยบาย สนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างตลาดใหม่ การเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือใหม่ ๆ จะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ไทยต้องเปลี่ยนจากวิกฤติหรือโอกาส ผ่านการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อพัฒนาตลาดและเทคโนโลยี ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้แข็งแกร่งขึ้น กสว. จึงได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการให้ทุนเป็นการสนับสนุนแบบมุ่งเป้า (Target Base) ภายใต้นโยบาย “Thailand First Development Agenda” เพื่อผลักดันการพัฒนาตลาดด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เสริมสร้างภาคอุตสาหกรรม และการมุ่งเป้าพัฒนาตลาดด้วย นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (New Tech & Growth Engine)

ทั้งด้านของ Geopolitics และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ จากการกลับมาของ TRUMP 2.0 จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อ Geopolitics หรือภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันทางเศรษฐกิจและการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน (decoupling) สถานการณ์นี้จะส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) ปรับตัวครั้งใหญ่ โดยมีการย้ายฐานการผลิตหรือจัดตั้งฐานการผลิตใหม่ในภูมิภาคต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของทั้งสองขั้วมหาอำนาจ ประเทศไทยซึ่งมีจุดแข็งด้านความสัมพันธ์อันดีกับทั้งสองขั้ว จึงมีโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า (non-conflict region) อย่างไรก็ตาม ไทยจำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคู่แข่งสำคัญอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย นอกจากนี้ สกสว. ยังให้ความสำคัญกับการใช้ “Science Diplomacy” เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยใช้ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ด้านโอกาสและความท้าทายต่อระบบ ววน.: ไทยจะคว้าโอกาสและรับมือความท้าทายได้ แม้ว่านโยบายของ TRUMP 2.0 ที่เน้นการลดการลงทุนหรือการช่วยเหลือประเทศอื่น อาจส่งผลกระทบต่อโครงการความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ แต่ สกสว. มองว่านี่คือโอกาสที่ไทยจะหันมาพึ่งพาตนเองมากขึ้น และเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ทั่วโลก โดยย้ำว่า การปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกคือโอกาสทองของไทยในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและนวัตกรรม เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลกได้

ด้านโอกาสในการดึงดูดการลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรม จากการเปลี่ยนแปลงของ Geopolitics โลกจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนครั้งใหญ่ โดยบริษัทต่างๆ จะมองหาแหล่งลงทุนใหม่ที่มีความมั่นคงและมีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้จุดแข็งด้านที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และแรงงานที่มีทักษะ เพื่อดึงดูดการลงทุนด้านวิจัยและนวัตกรรมจากต่างประเทศได้

ด้านความสามารถในการเป็นผู้นำในการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้นั้น ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็น “สวิตเซอร์แลนด์แห่งอาเซียน” โดยการดำเนินนโยบายที่เป็นกลางและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากมาเลเซียและอินโดนีเซียในด้านเทคโนโลยีและการค้าระหว่างประเทศ

ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กสว. กล่าวว่า การกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมนโยบาย “America First” อาจสร้างแรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งในด้าน การค้า การลงทุน และเทคโนโลยี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยมีบทบาทสำคัญ อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เกษตร อาหาร และพลังงาน มาตรการกีดกันทางการค้าและกำแพงภาษี อาจส่งผลต่อการส่งออกไทย ในขณะที่การปรับห่วงโซ่อุปทานโลกเป็นโอกาสที่ไทยต้องคว้าไว้ ซึ่ง กสว. และ สกสว. มุ่งเน้นให้ วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยเร่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ควอนตัมคอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีชีวภาพ และพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความได้เปรียบทางอุตสาหกรรม พร้อมสนับสนุนการวัจัยและพัฒนา (R&D) และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับยุโรป จีน และอาเซียน ลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ทั้งนี้ กสว. เชื่อว่า วิกฤตครั้งนี้คือโอกาส หากไทยสามารถเร่งพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงและสร้างความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านนวัตกรรม จะทำให้ประเทศแข็งแกร่งขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “สงครามการค้าและเศรษฐกิจแยกขั้ว กำลังเปิดประตูให้ไทยแทรกตัวสู่ห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง” ซึ่งเป็นโอกาสทองในการดึงดูดการลงทุนและสร้างศักยภาพใหม่ให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว.

ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. ในฐานะหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เน้นย้ำถึงความสำคัญ เพื่อ “ทางรอด” ของระบบ ววน. ไทย ผ่าน 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การลงทุนในเทคโนโลยีแห่งอนาคต : มุ่งเน้นการลงทุนใน R&D และเทคโนโลยี Deep Tech เช่น AI, Quantum Computing, Biotech, และพลังงานสะอาด เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ การพัฒนาบุคลากรทักษะสูง: สร้างและพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง การสร้างระบบนิเวศ ววน. ที่แข็งแกร่ง: สนับสนุนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและการถ่ายทอดเทคโนโลยี การเชื่อมโยงกับโลก: สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป จีนและประเทศในอาเซียน ในด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และเข้าถึงแหล่งทุนและเทคโนโลยีใหม่ๆที่แข่งขันได้ในระดับสากล


แชร์ :

You may also like