ถึงแม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาจะซบเซา แต่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) กลับเติบโตได้ต่อเนื่อง สะท้อนได้จากข้อมูลของ BOI ระบุว่า ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 35% ทำให้ล่าสุด “ธนาคาร ยูโอบี ประเทศไทย” (UOB) จับมือกับ “สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (สกพอ.) หรือ อีอีซี เพื่อดึงเม็ดเงินนักลงทุน FDI เข้าไทยเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าเม็ดเงิน FDI ไหลเข้าภูมิภาคอาเซียนสูงถึง 3.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2570 และเกิดการจ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง
FDI “ไทย” เนื้อหอม
การย้ายฐานการผลิตของจีนไปยังประเทศอื่นในอาเซียน ด้านหนึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs เพราะต้องเจอกับสินค้าราคาถูกจากจีนเข้ามาตีตลาด แต่อีกด้านหนึ่ง ก็สามารถดึงเงินการลงทุนเข้าประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะ FDI จากจีน โดย คุณจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก บอกว่า ตอนนี้ดีมานด์การลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาสูงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น จึงถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย
“ถือเป็นช่วงน้ำขึ้นต้องรีบสูบ ถ้าเราไม่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศภายใน 1-2 ปีนี้ จะต้องรออีกนานที่จะมีการลงทุนใหญ่แบบนี้“
จากแนวโน้มดังกล่าว ประกอบกับตั้งแต่ปี 2563 ที่ UOB ได้ให้คำปรึกษาและสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ คุณแซม ชอง กรรมการผู้จัดการ Head of Foreign Direct Investment Advisor Unit ธนาคารยูโอบี บอกว่า ปัจจุบันธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกค้าในการลงทุนในไทยไปกว่า 450 แห่ง สร้างการลงทุนกว่า 1.8 ล้านสิงคโปร์ดอลล่าร์ หรือประมาณ 45,000 ล้านบาทไทย และจ้างงานกว่า 31,000 ตำแหน่ง และหากคิดเป็นเม็ดเงินลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ 50,000 ล้านสิงคโปร์ จ้างงานกว่า 250,000 ตำแหน่ง
ทำให้ในปีนี้ UOB จึงร่วมมือกับ สกพอ. เพื่อนำความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่มีมานำเสนอโซลูชั่นทางการเงินและการบริการที่ครบวงจรตอบความต้องการของนักลงทุน ผ่านเครือข่าย UOB ที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาคอาเซียน โดยจะเน้นอุตสาหกรรมที่ EEC สนับสนุน ประกอบด้วย ยานยนต์ยุคใหม่ การแพทย์และสุขภาพ นวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียวและบริการ
“เราไม่สามารถบอกได้อุตสาหกรรมไหนจะดึงเม็ดเงินลงทุน FDI ได้มากสุด แต่บอกได้ว่าอุตสาหกรรมบริการ ยานยนต์ และธุรกิจพลังงานสะอาด เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและไทยมีโอกาส เนื่องจากไทยมีจุดแข็งในเรื่องการบริการและบุคลากรมีทักษะความเชี่ยวชาญสูง”
โดยคุณแซม คาดว่า ความร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยให้นักลงทุนเข้าถึงข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจที่แม่นยำ และเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยตั้งเป้าในปี 2570 จะหนุนเม็ดเงินลงทุน FDI เข้ามาในไทยและอาเซียนเพิ่มเป็น 3.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2566 อยู่ที่ 2.26 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และจะก่อให้เกิดการสร้างงานได้มากถึง 1 ล้านตำแหน่งในอาเซียน
โฟกัส 5 อุตสาหกรรม สร้างประเทศเติบโตยั่งยืน
คุณจุฬา บอกว่า เดิมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นการอิมพอร์ตทรัพยากรเข้ามา แต่ในช่วง 1-2 ปีนี้ อีอีซีพยายามจะดึงการลงทุนที่จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว จึงหันมาโฟกัส 5 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ BCG และสามารถใช้ทรัพยากรในประเทศมากขึ้น รวมถึงเป็นธุรกิจที่ไทยสามารถจะเอาไปต่อยอดได้ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ การแพยทย์และสุขภาพ ดิจิทัลและนวัตกรรม รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียวและบริการ
“เราจะชวนคนเก่งๆ เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น อย่างบริการทางการแพทย์ เราจะเน้นการแพทย์ชั้นสูง แต่การจะดึงอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาต้องใช้เวลา ซึ่งปีนี้จะเริ่มเห็นมากขึ้น”
คุณจุฬา บอกถึงแนวทางการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในพื้นที่อีอีซี และบอกว่า ปี 2567 การลงทุนในอีอีซีจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีมากสุดคือ จีน รองลงมาเป็น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนปี 2568-2569 จะเห็นการลงทุนไปที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งเซมิคอนดักเตอร์ และดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก ส่วนรถยนต์แผ่วลงเพราะเข้ามาเริ่มครบตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ปีนี้จะมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ เช่น อะไหล่ แบตเตอรี่ และสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเข้ามาเสริมมากขึ้น
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE