อุตสาหกรรมอาหาร ถือเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) มากถึงราว 1 ใน 4 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีส่วนซ้ำเติมภาวะโลกร้อนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาร่วมระดับสากล รวมถึงยังมีผลให้เกิดสภาพอากาศรุนแรง (Extreme weather) ในหลายพื้นที่ทั่วโลก และมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาลในแต่ละปี
ทั้งนี้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมอาหารนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในระดับต้นน้ำ (Upstream level) คือภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ ตัวอย่างเช่น ก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาจากการทำนาข้าวแบบดั้งเดิม รวมถึงก๊าซมีเทน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ที่เกิดจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์โดยเฉพาะการเลี้ยงวัว นอกจากนี้ ยังรวมถึงก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากการหมักปุ๋ยเพื่อทำการเกษตร และก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากใช้เครื่องจักรต่าง ๆ ในไร่นาหรือในฟาร์มเลี้ยงสัตว์อีกด้วย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตดังกล่าวต้องเร่งปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ที่เข้มข้นขึ้น ตัวอย่างเช่น ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพ จัดการเศษวัสดุทางการเกษตรและของเหลือทิ้งอย่างเหมาะสมโดยอาจนำมาใช้ประโยชน์โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มอื่น ๆ เพื่อลดการเผาและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาสูตรอาหารสัตว์ที่ช่วยให้ระบบการย่อยของสัตว์ดีขึ้นเพื่อลดก๊าซมีเทน การพัฒนาปุ๋ยชีวภาพเพื่อใช้ปลูกพืชที่นำมาผลิตเป็นอาหารสัตว์ การจัดการกับมูลสัตว์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงผลิตภาพปศุสัตว์ (Livestock productivity) เป็นต้น
ในฐานะผู้บริโภค การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ในการรับประทานอาหาร ถือเป็นเรื่องเล็ก ๆ ใกล้ตัวที่เราทุกคนสามารถทำได้ แต่สร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตขึ้นในชุมชนหรือท้องถิ่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขนส่งสินค้าทางไกลข้ามพื้นที่ ข้ามจังหวัด หรือข้ามประเทศ หรือแม้แต่การเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ในแต่ละมื้อในปริมาณที่น้อยลงและหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชทดแทนมากขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ปล่อย GHG ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยมีสัดส่วนมากถึงราว 15% ของปริมาณการปล่อยก๊าชเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก (คำนวณจากการปล่อย GHG ตลอดวงจรชีวิต (Life cycle emissions) ของสินค้าปศุสัตว์นั้น ๆ เริ่มตั้งแต่กิจกรรมในฟาร์มปศุสัตว์ไปจนถึงการบริโภคขั้นสุดท้ายในวงจรชีวิตสินค้า) ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงเทียบเท่าการปล่อย GHG ของภาคขนส่งคมนาคมเลยทีเดียว (รูปที่ 1) ยิ่งไปกว่านั้นการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ยังมีส่วนช่วยลด GHG ทางอ้อมจากการเผาป่าเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกพืชที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตอาหารปศุสัตว์ได้อีกด้วย
ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยมีความตระหนักรู้เรื่องเทรนด์ ESG รวมทั้งการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยพบว่าประเด็นด้าน “สิ่งแวดล้อม” เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคของ SCB EIC ภายใต้หัวข้อ “How green is household behavior in Thailand” ในหัวข้อการบริโภคอาหารอย่างมีสติและยั่งยืนพบว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวไทยในทุกช่วงวัย (Generation) ให้ความสำคัญมากที่สุดในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีความยั่งยืน ซึ่งประเด็นที่มีความสำคัญ 3 ลำดับแรกคือ 1) กระบวนการผลิตต้องเป็นมิตรและดูแลสิ่งแวดล้อม 2) มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน และ 3) มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (รูปที่ 2) สะท้อนว่าปัจจุบันคนไทยมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องใหญ่ใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับชีวิตประจำวัน อีกทั้ง ยังยินดีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการสนับสนุนสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในกลุ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Eco-friendly products เพื่อลดผลกระทบและความรุนแรงจากปัญหาดังกล่าวมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ ประเด็นเกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้น นอกจากกระบวนการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Health and well-being) ของผู้บริโภคร่วมด้วย เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ ESG ด้านการดูแลสังคมและชุมชนควบคู่กันไป
นอกจากนี้ ยังพบประเด็นที่น่าสนใจอีกว่า ผู้บริโภครุ่นใหม่อย่าง Gen Z เป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ (Animal welfare) และความเท่าเทียมทางเพศ เชื้อชาติ ศาสนา มากกว่าผู้บริโภคใน Generation อื่น ๆ สะท้อนได้จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่ม Gen Z ที่มองว่าประเด็นเรื่องนี้มีความสำคัญ ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงกว่าผู้บริโภคใน Generation อื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนรุ่นนี้เติบโตมากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีพฤติกรรมและมุมมองในการใช้ชีวิตที่ต่างไปจากคนรุ่นก่อน มีหัวคิดที่ทันสมัย รักอิสระ รวมทั้งให้ความสำคัญกับเรื่องเสรีภาพและความเท่าเทียมในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าใจและยอมรับความแตกต่างของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการชนะใจลูกค้ากลุ่ม Gen Z จะต้องนำมุมมองและค่านิยมเหล่านี้มาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการชูจุดขายในเรื่อง Animal welfare เช่น มีการเลี้ยงและดูแลสัตว์ในฟาร์มให้มีความเป็นอยู่อย่างเหมาะสม มีสุขอนามัยที่ดี ได้รับอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ เป็นต้น หรือแม้แต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมและการปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับกลุ่มพนักงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งในเรื่องการจ้างงาน โอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพ การได้รับค่าตอบแทนและการปฏิบัติอย่างเหมาะสม เนื่องจากประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการในกลุ่มคนรุ่นใหม่
อนึ่ง ผลสำรวจข้างต้นตอกย้ำถึงค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้บริโภคชาวไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต สะท้อนได้จากปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่หันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน (Sustainable lifestyle) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (E : Environment) ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัยเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยต้องหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบต่าง ๆ กระบวนการผลิต เรื่อยไปจนถึงบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้ซึ่งต้องไม่สร้างผลกระทบและซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เลือกซื้อนั้นมีความรักษ์โลกและมีส่วนช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมจริง
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคชาวไทยยังยินดีจ่ายเงินแพงขึ้น (Premium price) เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีความยั่งยืนอีกด้วย (รูปที่ 3) โดยพบว่าราว 40% ของผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินแพงขึ้นจากสินค้าทั่วไปไม่เกิน 5% และอีก 39% ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-10% ขณะที่มีเพียงแค่ 6% เท่านั้น ที่ยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีความยั่งยืน ซึ่งสะท้อนว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังต้องการผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีความยั่งยืนซึ่งมีราคาไม่แตกต่างจากสินค้าทั่วไปมากนัก อย่างไรก็ดี หากวิเคราะห์เพิ่มเติมผ่านมุมมองของผู้บริโภคในแต่ละ Generation จะพบว่า กลุ่ม Baby boomer มีสัดส่วนของผู้ที่ตอบว่ายินดีจ่ายเงินแพงขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไขสูงที่สุดคือ 14.6% เทียบกับผู้บริโภคใน Generation อื่น ๆ ซึ่งมีสัดส่วนของผู้ที่เลือกคำตอบข้อนี้อยู่ที่ราว 5% เท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลุ่ม Baby boomer มีความพร้อมด้านกำลังซื้อมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ รวมทั้งยังมีความตื่นตัวและยินดีสนับสนุนสินค้าที่มาจากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม
ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ในการตั้งราคาสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อหาจุดสมดุลระหว่างความสามารถในการซื้อและความเต็มใจจ่ายของผู้บริโภค รวมทั้งอาจทำกลยุทธ์ทางการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ร่วมด้วยเพื่อดึงดูดความสนใจและกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภค อาทิ การให้โปรโมชันส่วนลดเพิ่มเติมหากผู้บริโภคนำภาชนะ แก้ว หรือบรรจุภัณฑ์มาเอง เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะสร้างแรงจูงใจด้วยราคาที่ถูกลงแล้ว ยังทำให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนแนวคิดการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนอีกด้วย
Alternative protein … ทางเลือกสำหรับผู้บริโภคสายรักสุขภาพและรักษ์โลก
ทุกวันนี้กระแสการบริโภคโปรตีนทางเลือก (Alternative protein) ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากพืช โปรตีนจากแมลง หรือแม้แต่โปรตีนจากเนื้อสัตว์เทียม กำลังมาแรงและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนของผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาตระหนักถึงความสำคัญของการมีสุขภาพดีและใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งนี้คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดโปรตีนจากพืชทั่วโลก (Plant-based food market) มีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากคาดการณ์ที่ 5.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 ไปอยู่ที่ 1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2031[1] หรือเติบโตมากถึง 125.5% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากทั้งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารที่ทำให้มีผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชออกสู่ตลาดหลากหลายมากขึ้น รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก สอดคล้องกับข้อมูลของ McKinsey & Company และ Enviro (Thailand) ที่เปิดเผยว่า ผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มสนับสนุนแนวคิดเรื่องความยั่งยืนโดยเฉพาะประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม Gen X และ Gen Y ซึ่งสะท้อนว่าการพัฒนาสินค้าและทำการตลาดเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง และควรเป็นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย (Target customer) ที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญเป็นกลุ่มแรก ๆ โดยเฉพาะในช่วงเปิดตัวสินค้าและขยายฐานลูกค้า
ราวครึ่งนึงของผู้บริโภคชาวไทยพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนมาบริโภคโปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ จากผลสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย[2] พบว่า 47% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า หากมีตัวเลือกในตลาดก็พร้อมที่จะหันไปบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากโปรตีนจากพืชเพื่อทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ เนื่องจากมองว่าเป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ อีกทั้ง ยังมีส่วนช่วยลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและกระบวนการผลิตก็ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าอีกด้วย นอกจากนี้ หากทำการวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยแบ่งตามกลุ่มช่วงอายุของผู้ตอบแบบสอบถามจะพบว่ากลุ่ม Baby boomer เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องนี้มากที่สุด โดยมีสัดส่วนของผู้ที่ตอบว่า “เห็นด้วย” สูงถึง 60% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดใน Generation เดียวกัน และยังเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผู้บริโภคในกลุ่มช่วงอายุอื่นโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Y และ Gen Z ค่อนข้างมาก ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผู้บริโภคในกลุ่ม Baby boomer เข้าสู่วัยเกษียณอายุแล้ว (อายุ 61 ปีขึ้นไป) จึงหันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพอย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารด้วยการลดหรืองดการบริโภคเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ลง ขณะที่เหตุผลอื่น ๆ ในการเปลี่ยนไปบริโภคโปรตีนจากพืช ได้แก่ ข้อจำกัดด้านสุขภาพ หรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ รวมทั้งกลุ่มที่ต้องการทดลองรับประทานตามกระแสนิยม หรือเป็นกลุ่มที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอยู่แล้ว
ผลสำรวจดังกล่าว สอดคล้องกับงานวิจัยล่าสุดของ Madre Brava[1] ซึ่งทำการสำรวจแนวโน้มและทิศทางการบริโภคอาหารของผู้บริโภคชาวไทยกว่า 1,500 คน ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2023 ซึ่งพบว่า 67% ของกลุ่มตัวอย่างมีความตั้งใจที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงภายใน 2 ปี โดยจะหันไปบริโภคโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงโปรตีนจากพืชทดแทน แนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวเป็นผลจากการหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสวัสดิภาพสัตว์มากยิ่งขึ้น รวมถึงการตระหนักถึงปัญหาความมั่นคงด้านอาหาร (Food security) นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคชาวไทยเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ และตระหนักว่าการลด/หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์และหันไปบริโภคโปรตีนจากพืชจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นปัญหาร่วมทั่วโลกในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของ The Good Food Institute (GFI) และ EarthShift Global ยังพบอีกว่า กระบวนการผลิตโปรตีนจากพืชสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หรือ Traditional animal-based protein มากถึง 89% ซึ่งการประเมินผลกระทบดังกล่าวได้คิดรวมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในมิติ ต่าง ๆ ตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต เช่น ที่ดิน น้ำ และพลังงาน ของการผลิตโปรตีนจากพืชที่น้อยกว่าการผลิตโปรตีนจากเนื้อสัตว์ อีกทั้งยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกในปริมาณที่น้อยกว่าอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นอย่างมากอีกด้วย
SCB EIC มองว่าไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นฐานการผลิตโปรตีนจากพืชที่ยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์กระแสรักษ์โลกและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและศักยภาพในการเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกอาหารอันดับต้น ๆ ของโลกมาอย่างยาวนาน รวมทั้งชื่อเสียงและมาตรฐานการผลิตซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มาผนวกเข้ากับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งเรื่องคน ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของวัตถุดิบในประเทศ[1] รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ครบวงจรเพื่อวิจัยและพัฒนาต่อยอดไปสู่การเป็นฐานการผลิตโปรตีนจากพืช ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความยั่งยืนด้านอุปทานและลดการนำเข้าวัตถุดิบ[2] จากต่างประเทศแล้ว ยังมีส่วนช่วยยกระดับรายได้เกษตรกรและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพืชเกษตรไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
[1] วัตถุดิบในประเทศที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตเป็นโปรตีนจากพืช ได้แก่ พืชผักใบเขียวชนิดต่าง ๆ ข้าวกล้อง ข้าวหอมมะลิ งาดำ ลูกเดือย สาหร่าย ฟักทอง แครอท ถั่วเขียว ต้นอ่อนทานตะวัน เมล็ดกัญชง รวมถึงพืชตระกูลเห็ดต่าง ๆ เป็นต้น
[2] ปัจจุบันวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตโปรตีนจากพืช (Plant-based protein) ในตลาดโลก ส่วนใหญ่จะเป็นพืชตระกูลถั่ว เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุสำคัญที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยวัตถุดิบหลักอย่าง “ถั่วเหลือง” นั้น ไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าในสัดส่วนที่สูงราว 99% ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมดในประเทศ นอกจากนี้ ถั่วเหลืองยังจัดเป็นสินค้า Commodity ซึ่งแนวโน้มราคาจะมีความผันผวนตามราคาธัญพืชในตลาดโลก
ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยทั้งรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก รวมถึงกลุ่มสตาร์ตอัปหลายราย ต่างกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้เพื่อคว้าโอกาสที่กำลังเติบโต ตัวอย่างเช่น ไทยยูเนี่ยนที่มุ่งขยายธุรกิจสู่สินค้าโปรตีนจากพืชด้วยการออกผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ตัวเอง รวมทั้งยังมีการร่วมลงทุนในสตาร์ตอัปกับกลุ่มไทยเบฟอีกด้วย หรือแม้แต่ผู้เล่นซึ่งอยู่นอกอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอย่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ตัดสินใจจับมือกับ NRF หรือ บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนเปิดบริษัท Plant-Based เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตโปรตีนทางเลือกจากพืชและรองรับการพัฒนาธุรกิจอาหารแห่งโลกอนาคต โดยตั้งเป้าผลักดันให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารโปรตีนทางเลือกในระดับโลก
อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมโปรตีนจากพืชในไทยเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังมีความท้าทายอีกหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ Plant-based ที่สามารถตอบโจทย์ทั้งในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ รสชาติ กลิ่น สีสัน และเนื้อสัมผัสที่ใกล้เคียงกับโปรตีนจากสัตว์มากที่สุด หรือแม้แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่และหลากหลายเพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งรวมไปถึงตอบโจทย์การดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล (Personalized therapy) และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีความทันสมัยและประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและทำให้ราคาสินค้าจับต้องได้และเข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือทางการตลาดเพื่อสร้างความน่าสนใจและมูลค่าเพิ่มของสินค้าผ่านกลยุทธ์ Content marketing ร่วมด้วย อาทิ การบอกเล่าเรื่องราวหรือที่มาของผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชนั้น ๆ (Storytelling) รวมทั้งมีการสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องและชัดเจน
ขณะเดียวกัน การส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความพร้อมของระบบนิเวศทางธุรกิจ คือจิกซอว์ชิ้นสำคัญที่จะช่วยหนุนและผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืชในไทย สอดคล้องกับงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “Plant-based Meat เทรนด์อาหารโลก ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารภูมิภาค” ซึ่งเปิดเผยว่า สิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนเพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืชทั้งในระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มี 4 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1) สนับสนุนเงินทุนด้าน R&D ในรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนอย่างเหมาะสม 2) สร้าง Ecosystem ที่พร้อมเพื่อสร้างแรงจูงใจและเอื้อต่อธุรกิจ อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษี ความร่วมมือด้านการตลาด การเข้าถึงสินเชื่อในกรอบ Sustainable finance เป็นต้น 3) พัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรมีความรู้ด้านเทคโนโลยี (Smart farmer) เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในระยะยาว และ 4) มีหน่วยงานกำกับดูแลที่ชัดเจน เป็นระบบ และต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน
Say good-bye to food waste … ก้าวสู่โลกใบใหม่ ที่ไร้ขยะอาหาร
ขยะอาหาร (Food waste) … เรื่องใหญ่ใกล้ตัวที่กลายเป็นวิกฤติระดับโลก ในแต่ละปีมีปริมาณอาหารกว่า 1,300 ล้านตัน หรือมากถึงราว 1 ใน 3 ของปริมาณอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก ต้องกลายเป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งจากห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ และก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงราว 8-10% หรือคิดเป็นต้นทุนที่ต้องสูญเสียไปราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยพบว่าภาคครัวเรือนเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดขยะอาหารมากที่สุด ในขณะที่คนอีกกว่า 830 ล้านคนทั่วโลกกลับต้องเผชิญกับภาวะอดอยากและขาดแคลนอาหาร ดังนั้น การสูญเสียอาหาร หรือ Food loss จึงเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดให้การลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 12.3 โดยตั้งเป้าหมายให้ทุกประเทศลดปริมาณขยะอาหารลงให้ได้ 50% ภายในปี 2030 และสอดรับกับข้อตกลงปารีสในการควบคุมอุณหภูมิของโลกอีกด้วย
คนไทยสร้างขยะอาหารสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ข้อมูล Food Waste Index ล่าสุดในปี 2024 (รูปที่ 6) เปิดเผยว่าค่าเฉลี่ยของปริมาณขยะอาหารของโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี จาก 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ในการประเมินครั้งก่อนหน้า (ปี 2021) ในขณะที่คนไทยสร้างขยะอาหารเฉลี่ยอยู่ที่ 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และสูงเป็นอันดับที่ 77 ของโลก ซึ่งถือเป็นปริมาณที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกค่อนข้างมาก อีกทั้งยังสูงเป็นอันดับ 2 ของกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศที่มีการเก็บข้อมูลอีกด้วย สวนทางกับสถานการณ์ขยะอาหารของประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มอาเซียนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการสำรวจครั้งก่อนหน้า ดังนั้น สถานการณ์ขยะอาหารในไทยจึงเป็นวิกฤติที่ต้องเร่งจัดการเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ UN วางไว้ภายในปี 2030 ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องลดปริมาณขยะอาหารลงประมาณ 3 ล้านตันต่อปี หรือเฉลี่ยคนละ 43 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
นอกจากนี้ ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษยังเปิดเผยอีกว่า ปริมาณขยะอาหารในภาคครัวเรือนไทยมีสัดส่วนสูงถึงราว 38% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั่วไป ซึ่งสะท้อนว่าครัวเรือนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักถึงแนวทางป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางคือในบ้านเรือน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการสูญเสียของอาหาร การคัดแยก รวมไปถึงการจัดการหรือสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะอาหารที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ปัญหาขยะอาหารกลายเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของไทย ซึ่งหนึ่งในกลไกการแก้ปัญหาของภาครัฐ คือการผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และนำไปสู่เป้าหมาย Zero waste ขณะที่ภาคเอกชนเองก็จำเป็นต้องปรับแนวคิดด้วยการเปลี่ยนให้วิกฤติขยะอาหารกลายเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่สร้างรายได้เพิ่มเติมจากธุรกิจหลัก และ/หรือ ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการนำขยะอาหารไปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือนำน้ำมันประกอบอาหารที่ใช้แล้ว (Used cooking oil) ไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) รวมไปถึงการแปรรูปขยะอาหารเป็นอาหารสัตว์หรือปุ๋ยหมัก เป็นต้น
ปัจจุบันหลายประเทศได้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยจัดการปัญหาเพื่อลดปริมาณขยะอาหาร รวมทั้งยังเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มกลางในการเชื่อมโยงผู้ที่มีอาหารส่วนเกินกับผู้ที่ต้องการอาหารส่วนนี้ให้มาเจอกัน เช่น แพลตฟอร์มการบริจาคอาหารส่วนเกินให้แก่ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส หรือพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับจำหน่ายอาหารส่วนเกินจากโรงแรมและร้านอาหารให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกลงจากราคาปกติเกินกว่าครึ่ง[1]
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อนำมาช่วยแก้ปัญหาวิกฤติขยะอาหารอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Winnow ซึ่งเป็น AI ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและวิเคราะห์ขยะอาหารในร้านค้า โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดปริมาณขยะอาหารและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย AI ดังกล่าวจะแสดงข้อมูลเชิงลึกและรายงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์รูปแบบของขยะอาหารที่เกิดขึ้นเพื่อให้ร้านอาหารเข้าใจถึงประเภทของอาหารที่เหลือทิ้ง รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดขยะอาหารเหล่านั้น ซึ่งข้อมูลที่ได้สามารถนำมาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานและการตัดสินใจ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การเตรียมอาหาร และการวางแผนเมนูให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรือแม้แต่ AI ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลการขายสินค้าและคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้ซูเปอร์มาร์เก็ตลดการสั่งซื้อสินค้าที่มากเกินความจำเป็นและบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเป็นการช่วยลดการสูญเสียของอาหารได้อีกทางหนึ่งด้วย
ภายใต้บริบทแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคทั้งในตลาดโลกและไทยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อนาคตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มยังเต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทายอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเปลี่ยนแนวคิดและโมเดลการทำธุรกิจเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์กระแสหลักของโลกในเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ดังนั้น กระบวนการผลิตสินค้าในทุกขั้นตอนตลอดห่วงโซ่การผลิต จะต้องมีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) รวมทั้งจะต้องมีการบริหารจัดการซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตั้งแต่การผลิต การขนส่ง และการจัดเก็บ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ภาคธุรกิจยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกฎระเบียบการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงมาตรการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการเรื่องคาร์บอนเครดิต หรือแม้แต่การจัดการในเรื่องการใช้เชื้อเพลิงในการขนส่งที่เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากการเข้ามาของสินค้านวัตกรรมทางเลือกใหม่ ๆ ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เช่น โปรตีนจากพืช โปรตีนจากแหล่งอาหารใหม่ ๆ หรือเนื้อสัตว์เทียม (Lab-grown meat) ซึ่งปัจจุบันเริ่มเข้ามาตีตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
[1] โดยในไทยมีแอปพลิเคชันยินดี (Yindii) และแอปพลิเคชัน OHO! ที่เป็น Partner กับทั้งร้านอาหาร โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ในการจำหน่ายอาหารส่วนเกินให้กับลูกค้า
ขณะเดียวกัน การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาปรับใช้ก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและสนับสนุนให้เกิดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ลดของเสียจากกระบวนการผลิต ลดขยะอาหาร รวมทั้งยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจจากการนำของเหลือทิ้ง (By-products) จากกระบวนการผลิตเหล่านี้กลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกด้วย SCB EIC มองว่าภาครัฐควรมีบทบาทสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ สร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการภาครัฐ หรือแม้แต่การให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน
เพื่อสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเกษตรกรซึ่งอยู่ในระดับต้นน้ำของห่วงโซ่การผลิตอาหารและเครื่องดื่มและผู้ประกอบการในกลุ่ม SMEs ซึ่งอาจจะมีความพร้อมน้อยกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อส่งเสริมให้ระบบนิเวศทางการเกษตรและระบบการผลิตอาหารของไทยมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง