สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT ร่วมกับ คันทาร์ (ประเทศไทย) บริษัทวิจัยการตลาดและที่ปรึกษากลยุทธ์ด้านแบรนด์ชั้นนำของโลก สรุปผลสำรวจรายงานมูลค่าโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2567 และคาดการณ์ปี 2568 ดังนี้
สรุปปี2564
– งบโฆษณาสื่อดิจิทัล ปี 2567 มีมูลค่า 31,544 ล้านบาท เติบโต 8% ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำจากเดิมคาดการณ์เติบโต 16% จากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมและการจำกัดงบการโฆษณาของกลุ่มแบรนด์ต่าง ๆ ในช่วงครึ่งปีหลังของ 2567 มีผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
– ท็อป 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใช้งบโฆษณาสื่อดิจิทัล ปี 2567 สูงสุด
1. สกินแคร์ มูลค่า 5,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46%
2. ยานยนต์ มูลค่า 3,016 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1%
3. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มูลค่า 2,513 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5%
4. โทรคมนาคม มูลค่า 2,035 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9%
5. ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม มูลค่า 2,014 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9%
– ประเภทสื่อดิจิทัลครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดปี 2567
1. Meta (Facebook & Instagram) มูลค่า 8,731 ล้านบาท (สัดส่วน 28%)
2. YouTube มูลค่า 4,346 ล้านบาท (สัดส่วน 14%)
3. TikTok มูลค่า 4,167 ล้านบาท (สัดส่วน 13%)
4. Social มูลค่า 2,942 ล้านบาท (สัดส่วน 9%)
5. Creative มูลค่า 2,287 ล้านบาท (สัดส่วน 7%)
คาดการณ์ปี2568
DAAT คาดการณ์เม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัล ปี 2568 มีมูลค่า 34,556 ล้านบาท เติบโต 10% เป็นการกลับมาเติบโตเป็นตัวเลขสองหลักอีกครั้ง
– ท็อป 5 กลุ่มอุตสาหกรรมคาดใช้งบโฆษณาสื่อดิจิทัล ปี 2568 สูงสุด
1. สกินแคร์ มูลค่า 6,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21%
2. ยานยนต์ มูลค่า 2,981 ล้านบาท ลงลง 1%
3. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มูลค่า 2,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17%
4. ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม มูลค่า 2,525 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%
5. โทรคมนาคม มูลค่า 2,104 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%
ดร.อาภาภัทร บุญรอด กรรมการผู้จัดการฝ่ายลูกค้าและประธานฝ่ายการเจริญเติบโตแห่งเอเชียอาคเนย์ คันทาร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปี 2567 สกินแคร์ใช้งบโฆษณาดิจิทัลเพิ่มขึ้น 46% ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตอีก 21% มาจากไลฟ์สไตล์การทำงานและการเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมมากขึ้น รวมถึงเทรนด์ของเรื่องสุขภาพและความงามที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญและใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามมากขึ้น
ขณะที่กลุ่มยานยนต์ ปี 2568 มีแนวโน้มใช้งบโฆษณาดิจิทัลลดลง มาจากการแข่งขันในตลาด EV ที่เน้นใช้กลยุทธ์ราคาเป็นหลัก
– ประเภทสื่อดิจิทัล คาดการณ์ครองเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดปี 2568
1. Meta (Facebook & Instagram) มูลค่า 9,088 ล้านบาท (สัดส่วน 26%)
2. TikTok มูลค่า 5,500 ล้านบาท (สัดส่วน 16%)
3. YouTube มูลค่า 5,155 ล้านบาท (สัดส่วน 15%)
4. Creative มูลค่า 2,714 ล้านบาท (สัดส่วน 8%)
5. Online Video มูลค่า 2,463 ล้านบาท (สัดส่วน 7%)
ทิศทางการใช้งบโฆษณดิจิทัลตามประเภทสื่อ พบว่า Meta ยังคงเป็นแพลตฟอร์มหลักที่นักการตลาดเลือกใช้ แม้ว่าส่วนแบ่งการตลาดจะลดลงเล็กน้อยจาก 28% ในปี 2567 เป็น 26% ในปี 2568
TikTok โตแรง
– ปี 2566 มูลค่าอยู่ที่ 2,130 ล้านบาท (เติบโต 103%) สัดส่วน 7% ของเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัล
– ปี 2567 มูลค่าอยู่ที่ 4,167 ล้านบาท (เติบโต 96%) สัดส่วน 13%
– ปี 2568 คาดมูลค่า 5,510 ล้านบาท (เติบโต 32%) สัดส่วน 16%
การเติบโตอย่างรวดเร็วของ TikTok ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2568 จะขึ้นแท่นเป็นแพลตฟอร์มที่มีเม็ดเงินโฆษณาสูงสุดเป็นอันดับ 2 แซง YouTube ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มาตั้งแต่มีการสำรวจเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลในปี 2555
ปัจจัยเม็ดเงินโฆษณาสื่อดิจิทัลของ TikTok เติบโตมาจากพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคไทย “ทุกวัย” ชื่นชอบวิดีโอสั้น คอนเทนต์สนุกสนาน TikTok มีคอนเทนต์หลากหลายทั้งบันเทิงและความรู้ มีครีเอเตอร์จำนวนมาก ทำให้เข้าถึงผู้ชมทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะ Gen Z เท่านั้น
นอกจากนี้ TikTok Shop ที่ใช้งานสะดวกในการซื้อสินค้า ทำให้แบรนด์ต่างๆ ใช้เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัล ทั้งการสื่อสารแบรนด์ การทำอีคอมเมิร์ซกับ TikTok เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสกินแคร์ ใช้งบโฆษณาดิจิทัลช่องทาง TikTok สูงสุด มูลค่า 1,799 ล้านบาทในปี 2567
รวมทั้งการเข้ามาทำตลาดอีคอมเมิร์ซและสินค้าจากจีน ที่มีจำนวนมากในขณะนี้ ใช้แพลตฟอร์ม TikTok เป็นช่องทางหลักในการทำตลาด
ทั้งนี้เครื่องมือสื่อดิจิทัลที่นักโฆษณาและนักการตลาดให้ความสนใจและจะใช้งานมากขึ้นในปี 2568 คือ AI 75% Real-time Media 69% E-commerce Marketing 63% Social Listening 56% Data Analytic Platform 56%
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE