เมื่อ Search Engine ที่ดังที่สุด อาจไม่ได้สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุด โดยเฉพาะประสบการณ์สำหรับคนบนโลกโซเชียล ที่ต้องอัปเดตดราม่ากันรัว ๆ เราจึงมีโอกาสได้เห็น “Zanroo” เสิร์ชเอนจินสัญชาติไทยออกมาประกาศท้าชน Google ด้วยบริการเสิร์ชที่จะแสดงผลข้อมูลจาก Latest Information จากจักรวาลโซเชียล ทั้ง Facebook, Instagram, Twitter, YouTube, เว็บบอร์ดต่าง ๆ รวมถึงเว็บไซต์ข่าว ตบท้ายด้วยกราฟให้เห็นกันจะๆ ว่าตอนนี้ข้อความที่เรากำลังค้นหานั้น ฮอตฮิตขนาดไหน
ข้อมูลเก่า ทำตกเทรนด์
แนวคิดในการพัฒนาเสิร์ชเอนจินของ Zanroo มาจาก Pain Point ของบริการเสิร์ชเอนจินในปัจจุบัน ที่แสดงผลข้อมูลที่ใกล้เคียงที่สุด แต่บางครั้งก็เป็นข้อมูลเก่าเกินไป จนทำให้ผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ได้รับประสบการณ์แบบ #ไม่ตรงปก กลับมาแทน ยกตัวอย่างเช่น หากเสิร์ชหารีวิวร้านอาหาร บางทีเจอร้านน่าสนใจก็จริง แต่ร้านอาจปิดตัวไปแล้ว หรือรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว แต่เมื่อไปถึงจริง ๆ กลับมีสภาพเสื่อมโทรมต่างจากที่เห็นบนโลกออนไลน์
ความท้าทายของ Zanroo ในการทำเสิร์ชเอนจินที่แตกต่างจึงเกิดขึ้น ด้วยการส่งเครื่องมือตัวหนึ่งไปติดตามความเคลื่อนไหวของเว็บไซต์ต่าง ๆ และส่งข้อมูลเหล่านั้นเข้ามาในระบบ โดยข้อมูลที่ส่งกลับมายังถือเป็น Unstructured Data หรือข้อมูลที่ยังไม่ได้จัดระเบียบใดๆ เพื่อให้ระบบของ Zanroo จัดเรียงใหม่ให้ถูกต้องและเข้าถึงได้ง่าย โดย CTO ของ Zanroo อย่าง คุณอุดมศักดิ์ ดอนขำไพร ให้เหตุผลว่า หากไม่ทำการจัดระเบียบข้อมูล และทำให้อยู่ในที่เดียวกันแล้ว เวลามีดราม่า หรือมีสถานการณ์ฉุกเฉิน (Crisis) ที่ต้องติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลา จะเสิร์ชพบได้ยากมาก และอาจทำให้แบรนด์ที่เกิด Crisis แก้ไขสถานการณ์ไม่ทันได้
ปัจจุบันเสิร์ชเอนจินดังกล่าวเริ่มใช้งานได้แล้วใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ใช้ทีมพัฒนา 43 คนมาจากคนไทยทั้งหมด
กรณีศึกษา เอเจนซี – เอสเอ็มอีใช้ Zanroo อย่างไรให้เกิดยอด
การใช้งานแพลตฟอร์มเสิร์ชเอนจินของ Zanroo ไม่จำกัดเฉพาะคอนซูเมอร์ทั่วไป แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีก็สามารถใช้ Zanroo เพิ่มยอดขายได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เรามีธุรกิจขายประกัน หากใช้ Zanroo ในการเสิร์ช และพิมพ์คำว่า “อยากซื้อประกัน” ลงไป เราก็จะทราบผลทันทีว่า ณ เวลานั้น มีใครกำลังโพสต์บนโซเชียลมีเดียเพื่อหาซื้อประกันบ้าง ก็สามารถเข้าไปเสนอตัวได้ทันที
นอกจากนั้น หากลองเปรียบเทียบผลการเสิร์ชระหว่าง Zanroo กับ Google จะพบความแตกต่างกันดังนี้
ส่วนผลการเสิร์ชคำว่า “อยากซื้อประกัน” จาก Zanroo มีผลลัพธ์ดังนี้
การใช้งาน Zanroo ยังสามารถพลิกแพลงได้ในหลายทาง เช่น เอสเอ็มอีอยากทราบว่าเบอร์หนึ่งในธุรกิจของตนเองคือใคร ร้านคู่แข่งขายดีไหม ใช้อินฟลูเอนเซอร์คนไหน ในไมโครอินฟลูเอนเซอร์คนไหน แม่ค้าที่ขายให้คือใคร ฯลฯ ก็สามารถเสิร์ชได้จาก Zanroo ได้เช่นกัน
“เราไม่ได้อยากจะไปแข่งกับเขา เราแค่อยากนำเสนอ Latest Information เท่านั้น ไม่ใช่เข้าไปแล้ว เจอข้อมูลเก่าเมื่อ 2 – 3 ปีที่แล้ว” คุณอุดมศักดิ์กล่าว
สำหรับโมเดลธุรกิจของเสิร์ชเอนจิน Zanroo นี้ ปัจจุบันมีสองโมเดล หนึ่งคือใช้ฟรี สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป กับแพกเกจพรีเมียมที่จะมีค่าใช้จ่าย สำหรับแบรนด์หรือเอเจนซีที่ต้องการข้อมูลเชิงลึก และการวิเคราะห์เพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งบริษัทตั้งเป้าไว้ว่า ภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้งานเสิร์ชเอนจินของทางค่ายอย่างน้อย 1 ล้าน Active Users จาก ในปัจจุบันที่มีผู้ใช้ราว 1,000 Active Users