ลงทุนกันสนั่นเมืองเลยทีเดียว สำหรับกลุ่มเซ็นทรัล (Central Group) ที่ประกาศควักเงิน 6,000 ล้านบาท (200 ล้านเหรียญสหรัฐ) เข้าถือหุ้นใน “แกร็บ ประเทศไทย” (Grab Thailand) แบบไม่มีอำนาจควบคุม นัยว่าเพื่อต้องการส่งสัญญาณไปยังทุกภาคส่วนว่า ทั้งกลุ่มเซ็นทรัล และแกร็บ ต่างมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัลตามนโยบาย Thailand 4.0
โดยสิ่งที่คุณทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ได้กล่าวถึงการลงทุนครั้งนี้ว่า จากเดิมที่กลุ่มเซ็นทรัลอาจโดดเด่นแค่บน Physical Platform มาโดยตลอด การลงทุนครั้งนี้เป็นการลงทุนเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยง Digital Platform ของ Grab และกลุ่มเซ็นทรัลเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้กลุ่มเซ็นทรัลทรานสฟอร์มตัวเองกลายเป็น “Central On Demand” และสร้าง Online Traffic มาเติมเต็มธุรกิจ แทนการฝากความหวังเอาไว้กับการดึงลูกค้าเข้าหาตัวห้างแต่เพียงอย่างเดียว
ขณะที่คุณญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ได้ยกตัวอย่างบริการที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ว่า มีใน 3 รูปแบบ นั่นคือ
- บริการส่งอาหารจากร้านอาหารและแบรนด์ในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ผ่านบริการ GrabFood ที่ปัจจุบันเริ่มให้บริการแล้วในแอปพลิเคชันของ Grab โดยสามารถคลิกเข้าไปในแอปพลิเคชัน และเลือกร้านอาหารจากกลุ่ม CRG ได้เลย
- บริการลอจิสติกส์ เช่น การจัดส่งพัสดุออนดีมานด์และส่งพัสดุด่วนสำหรับธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัลและพาร์ทเนอร์ ผ่านบริการ GrabExpress (คาดว่าจะเริ่มได้ในไตรมาสแรกของปีนี้)
- บริการเดินทาง สำหรับ ลูกค้า แขกที่เข้าพัก และนักท่องเที่ยว ในศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมในเครือบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งเริ่มใช้บริการได้แล้วเช่นกัน
โดยคุณณนน์ให้ความเห็นในส่วนนี้ว่า มันคือเกมการแข่งขันในโลกแห่งการเชื่อมต่อ (Hyper-connected) ที่แบรนด์ต้องหาทางเข้าถึงลูกค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ให้มากที่สุดที่จะทำได้ และผู้ที่จะชนะในการแข่งขันนี้ก็คือผู้ที่สามารถสร้างประสบการณ์ Online to Offline ได้อย่างไร้รอยต่อนั่นเอง
ที่สำคัญ ดีลครั้งนี้ ไม่เพียงสร้าง Online Traffic ให้กับกลุ่มเซ็นทรัล แต่ยังทำให้ทางกลุ่มเขยิบฐานะขึ้นไปเป็นผู้เล่นในตลาด Delivery on Demand ด้วย เพราะมีการตั้งเป้าในการจัดส่งไว้ที่ 30 นาที ไม่ว่าจะเป็นสินค้ากลุ่ม Food หรือ Non-Food ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากสำหรับธุรกิจค้าปลีก และที่มาของเป้าหมายนี้มาจากข้อมูลอินไซต์ที่ว่า ลูกค้าของห้างเซ็นทรัลสามารถเดินทางมาถึงห้างได้ภายใน 30 นาที ดังนั้น หากทางห้างฯ จะออกไปหาลูกค้า ก็ควรจะไปให้ได้ในระยะเวลาไม่เกิน 30 นาทีเช่นกัน
3 ความท้าทายสู่ Central on Demand
แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ง่าย เพราะถึงจะจับมือกับ Grab และหวังว่าการจัดส่งจะเร็วขึ้น แต่ในอีกด้านก็มีความท้าทายรออยู่เช่นกัน นั่นคือ จำนวนสาขาของธุรกิจในเครือเซ็นทรัล กับจำนวนจังหวัดที่ Grab เปิดให้บริการมีความเหลื่อมล้ำกันค่อนข้างสูง
โดยปัจจุบัน กลุ่มเซ็นทรัลมีธุรกิจในเครือทั้งห้างค้าปลีก และธุรกิจโรงแรม กระจายอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศไทย ขณะที่ Grab นั้น เปิดให้บริการแค่ใน 16 หัวเมืองใหญ่ของไทยเท่านั้น และตามการเปิดเผยของคุณธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ก็ระบุว่า Grab ยังไม่มีแผนจะขยายจังหวัดที่ให้บริการเพิ่มในตอนนี้แต่อย่างใด แต่จะโฟกัสการให้บริการในจังหวัดที่เปิดตัวแล้วให้เข้มข้นขึ้นมากกว่า
หรือในส่วนของการจัดส่งอาหารผ่าน GrabFood ก็มีความท้าทายเช่นกัน โดยหากจะจัดส่งภายในเวลา 30 นาทีจริง ๆ ทาง Grab และห้างเซ็นทรัลต้องมีการออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ เช่น การจัดพื้นที่พิเศษขึ้นภายในห้าง เพื่อให้ทีมแกร็บเบอร์มารับอาหารจากทางห้างสรรพสินค้า และส่งให้ถึงมือผู้รับได้แบบ Seamless ไม่ใช่การผลักให้ไปจอดรวมกับรถมอเตอร์ไซค์ทั่วไปที่ไม่ใช่จุดรับส่งสินค้าที่สะดวกสบายนัก
ความท้าทายประการสุดท้าย อาจตกอยู่ที่ JD Central ธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กลุ่มเซ็นทรัลลงทุนร่วมกับทาง JD.com ไปเมื่อสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากการลงทุนใน Grab และการ Synergy บริการเข้าด้วยกันทำให้ห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัลสามารถจัดส่งสินค้าได้แบบออนดีมานด์ (ภายใน 30 นาที) ซึ่งรวดเร็วกว่าการจัดส่งของ JD Central และผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายอื่น ๆ อีกทั้งไม่จำกัดเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร แต่ยังรวมถึงสินค้าในหมวด Non-Food ตามที่คุณทศ จิราธิวัฒน์ได้ระบุไว้ในงานแถลงข่าวด้วย ดังนั้น หากสามารถสั่งซื้อสินค้าจากห้างเซ็นทรัลได้โดยตรง และจัดส่งแบบออนดีมานด์ ก็อาจเป็นไปได้ที่กลุ่มเซ็นทรัลจะกลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซบ้านเราเลยทีเดียว