แม้ภาพรวมตลาดไอทีในทุกๆ ผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ยังอยู่ในภาวะทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อยในระดับ -3% เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว แต่เอปสัน ประเทศไทย ยังคงทำผลงานได้ดี สามารถรักษาการเติบโตต่อเนื่องสวนทางกับตลาดได้ โดยคาดว่าเมื่อปิดปีงบประมาณ 2018 (เม.ย. 2018 – มี.ค. 2019) เอปสันจะสามารถรักษาระดับการเติบโตทางธุรกิจไว้ได้อยู่ที่ 5%
การเติบโตของเอปสันเมื่อจบปีงบประมาณ 2018 นั้น จะมาจากการที่โปรดักต์หลักๆ สามารถสร้างการเติบโตได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์โปรเจคเตอร์ที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่า 10% โดยมีโปรเจคเตอร์ความสว่างสูงเป็นกลุ่มที่เติบโตมากที่สุด ขณะที่พรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมจะเติบโตขึ้น 6% โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มโฟโต้ มินิแล็บ และอุตสาหกรรมสิ่งทอต่างๆ ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ขณะที่กลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ครองสัดส่วนรายได้มากที่สุดของเอปสัน ประเทศไทย ก็ยังคงเติบโตได้เช่นกัน โดยคาดว่าจะขยายตัวขึ้น 5% จากพรินเตอร์แท็งค์แท้ หรือ EcoTank เป็นหลัก เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสแกนเนอร์ที่คาดว่าจะเติบโตได้ถึง 15%
เป้าหมายคือ ต้องสร้าง S Curve ได้อีกครั้ง
คุณยรรยง มุนีมงคลทร ผู้อำนวยการ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของเอปสันในตลาดประเทศไทย มาจากความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ให้มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนที่ดีกว่าของลูกค้า รวมถึงความต่อเนื่องในการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาทำตลาดและการเข้าถึงตลาดใหม่ๆ มากขึ้น ทำให้ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา เอปสัน สามารถสร้างการเติบโตและรักษาความเป็นผู้นำในตลาดมาได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดหรือการเติบโตแบบ S Curve มาได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากแบ่งเฟสการเติบโตของเอปสันในช่วงที่ผ่านมา และสามารถสร้าง S Curve ได้ จะแบ่งได้เป็น 3 เฟส ซึ่งในแต่ละเฟสจะมี Hero Product ทำหน้าที่เป็นหัวหอกในการบุกตลาด เริ่มตั้งแต่การสร้างความสำเร็จขึ้นมาจากดอทเมทริกซ์พรินเตอร์เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้วหรือในราวปี 1990 จนกลายเป็นแบรนด์เดียวที่มีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 90%
ต่อมาในเฟสที่ 2 ช่วงปี 2000 เอปสันได้นำผลิตภัณฑ์อิงค์เจ็ทพรินเตอร์และโปรเจคเตอร์ 3LCD เข้ามาทำตลาดจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และครั้งล่าสุดกับเฟสที่ 3 เมื่อปี 2010 หรือราว 9 ปีก่อน เอปสันก็สามารถสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการพรินเตอร์ได้อีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวพรินเตอร์แท็งค์แท้รุ่นแรกของโลก ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก จนสามารถเข้าไปแทนที่อิงค์เจ็ทพรินเตอร์แบบที่ใช้ตลับหมึกและเลเซอร์พรินเตอร์ได้ในหลายตลาด
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในเฟสที่ 3 ทำให้เอปสันได้กลายเป็นเจ้าตลาดมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในช่วงเฟสที่ 3 นอกจากความสำเร็จจากกลุ่มพรินเตอร์แล้ว เอปสันยังได้เปิดตัวโปรเจคเตอร์ความสว่างสูง (High Brightness Projector) ออกมาทำตลาดอีกหลายรุ่น โดยเน้นจุดขายที่คุณภาพของภาพฉาย ความทนทาน ความประหยัด และฟังก์ชั่นที่ครบครัน จนสามารถคว้าตำแหน่งโปรเจคเตอร์ที่มียอดขายสูงสุดในโลกติดต่อกันถึง 17 ปีซ้อน
สำหรับเป้าหมายต่อไปของเอปสัน คือ การสร้าง S Curve ครั้งใหม่ให้กับธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการสร้าง New S Curve ในเฟสที่ 4 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปีงบประมาณ 2019 หรือในเดือนเมษายน 2019 ที่จะถึงนี้ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องให้กับธุรกิจ ซึ่งในครั้งนี้เอปสันวาง Hero Product ที่เชื่อว่าจะสามารถสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดและรักษาความเป็นผู้นำในตลาดประเทศไทยไว้ได้อย่างต่อเนื่องถึง 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ อิงค์เจ็ทพรินเตอร์ความเร็วสูง พรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เลเซอร์โปรเจคเตอร์ความสว่างสูง และหุ่นยนต์แขนกล ซึ่งล้วน แต่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง มีแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว และเป็นที่ต้องการอย่างมากในกลุ่มลูกค้า องค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยเชื่อว่าจะสามารถผลักดันให้เอปสัน ประเทศไทยสร้าง Growth ให้กับธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 ปี
“ในช่วงแรกของการสร้าง S-Curve ใหม่ บริษัทตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 5% สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย และ 10% สำหรับตลาดต่างประเทศ ขณะที่ในปีงบประมาณหน้ายังมีปัจจัยอีกมากที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว หรือปัจจัยภายนอกอื่นๆ อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐจีนและเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ค่าเงินเกิดความผันผวน”
ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายตัวของธุรกิจอยู่เช่นกัน ทั้งการผลักดันให้เกิดการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจตามยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ของรัฐบาล กระแสการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีด้านการผลิตและการปฏิบัติงานสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเพิ่มดีมานด์ในกลุ่ม Robot ซึ่งเป็นหนึ่งใน Strategic Product ที่เอปสันจะผลักดันเช่นกัน รวมไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น นอกจากนี้ ในหลายวงการธุรกิจและอุตสาหกรรม ยังเกิดกระแสความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ
“การสร้าง S-Curve ใหม่ทางธุรกิจในปีนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีของบริษัทฯ เพราะเอปสันมีผลิตภัณฑ์ครบทุกไลน์ และมี จำนวนรุ่นมากเพียงพอที่จะทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเอปสันยังเป็นบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีเอง จึงสามารถ พัฒนาเทคโนโลยีในแต่ละด้านให้ทันสมัย นำหน้าความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ และมีสินค้าใหม่ๆ ป้อนเข้าสู่ ตลาดอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง ที่สำคัญผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 กลุ่มใน S-Curve ใหม่นี้ล้วนแต่เป็นที่รู้จักคุ้นเคยและได้รับ ความมั่นใจจากลูกค้าในหลากหลายวงการธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยอยู่แล้ว เอปสัน ประเทศไทยจึง เชื่อมั่นว่า S-Curve ใหม่นี้จะไม่เพียงแต่จะสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 5 ปีได้ แต่ยังจะทำให้มิติทาง ธุรกิจของเอปสันในประเทศไทยกว้างออกไป และแบรนด์ของเอปสันจะเติบโตมากยิ่งขึ้นด้วย”
วาง 4 กลยุทธ์ ผลักดัน New S Curve
เมื่อพิจารณาโอกาสและปัจจัยประกอบต่างๆ ทางเอปสันค่อนข้างมีความมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโตแบบ S Curve ในครั้งที่ 4 นี้ได้อย่างแน่นอน และเชื่อว่าจะทำให้บริษัทสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปี พร้อมทั้งได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อผลักดัน S Curve ครั้งใหม่นี้ไว้ถึง 4 ด้าน ซึ่งครอบคลุมทุกองค์ประกอบสำคัญในการทำตลาด ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์ การบริการ ช่องทางจัดจำหน่าย และการสื่อสารการตลาด
1. กลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ เอปสัน ประเทศไทย มีแผนนำผลิตภัณฑ์ใหม่ใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสำหรับตลาดประเทศไทยเข้ามาทำตลาดมากขึ้น ประกอบด้วย
กลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ความเร็วสูง จะทยอยเปิดตัวสินค้าใหม่ครบทั้งไลน์อัพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการขององค์กรธุรกิจทุกขนาด ตั้งแต่เอสเอ็มอี โซโห ไปจนถึงองค์กรขนาดใหญ่ โดยวางเป้าหมายที่จะเข้าไปแทนที่การใช้งานเลเซอร์พรินเตอร์
“เทคโนโลยีเครื่องอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ความเร็วสูงของเอปสันในปัจจุบันถูกพัฒนาให้ก้าวข้ามเลเซอร์พรินเตอร์ไปแล้ว ทั้งด้านคุณภาพงานพิมพ์ที่ดีเยี่ยม การใช้พลังงานที่น้อยกว่า การดูแลรักษาที่ง่ายและประหยัดกว่า และทั้งยังเป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
ส่วนกลุ่มพรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม จะมีการทยอยเปิดตัวสินค้าใหม่อีกหลายรุ่นเช่นกัน ทั้งในกลุ่มโฟโต้ มินิแล็บ อุตสาหกรรมสิ่งทอ หรืองานพิมพ์ป้ายโฆษณาทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำและเติมเต็มความต้องการของตลาดที่ยังมีโอกาสอยู่อีกมาก เช่น เครื่องพิมพ์อุตสาหกรรมความเร็วสูง ที่สามารถพิมพ์ตรงลงบนผ้าม้วนได้ (Direct to Fabric หรือ DTF) ซึ่งเป็นเครื่องพิมพ์สิ่งทอระบบดิจิทัลที่รองรับการพิมพ์แบบออนดีมานด์ ทั้งยังใช้หมึกพิมพ์ที่สามารถพิมพ์ผ้าได้หลายชนิด และยังช่วยลดการใช้สารเคมีและของเสียในการผลิตลายผ้าได้อย่างมาก เมื่อเทียบกับการผลิตลายผ้าแบบเดิม
กลุ่มเลเซอร์โปรเจคเตอร์ ยังคงเป็นตลาดที่เอปสันให้ความสำคัญ เพราะต้องการรักษาตลาดและฐานะผู้นำอันดับหนึ่ง ของตลาดนี้ไว้ โดยล่าสุด ได้มีการเปิดตัวเลเซอร์โปรเจคเตอร์ความสว่างสูง 20,000 ลูเมน และเลเซอร์โปรเจคเตอร์ ความละเอียดระดับ 4K
กลุ่มหุ่นยนต์แขนกล (Robot Technology) โดยเฉพาะในกลุ่ม Lowcost Robot โดยผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะนำเข้ามาจะมีราคาถูกลงถึง 35% ในราคาราวๆ 5 แสนบาท จากเดิมที่จะมีราคาเฉลี่ยที่ 8 แสนบาท (เฉพาะหุ่นยนต์ไม่รวมระบบ) เพื่อรองรับตลาดการศึกษาและเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็กสามารถนำหุ่นยนต์แขนกลเข้าไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพ ในการผลิต รวมทั้งจะมีการเปิดตัวหุ่นยนต์รุ่นใหม่ที่สามารถยกวัตถุหรือชิ้นงานที่มีน้ำหนักมากขึ้นได้
2. กลยุทธ์ด้านการบริการ ความสำคัญของการให้บริการหลังการขายเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่แยกจากการ ขายสินค้าไม่ได้ เอปสันจึงได้วางกลยุทธ์ Service Excellence หรือความเป็นเลิศในการบริการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความพึงพอใจในระดับสูงและประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า โดยได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเพื่อตรวจสอบและพัฒนาการให้บริการ พร้อมติดตามผลการทำงานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการซ่อมสินค้า โดยตั้งเป้า 90% จะซ่อมเสร็จภายใน 1-3 วัน
นอกจากนี้ ยังมีแผนลงทุนขยายศูนย์บริการเพิ่มขึ้นจาก 154 แห่ง เป็น 170 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ในการให้บริการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดหัวเมืองรองต่างๆ ให้เข้าถึงการให้บริการได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มจำนวนจุดรับสินค้า (Drop Point) ในบางจังหวัด โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ รวมถึงพัฒนาระบบการบริหารจัดการและจัดส่งชิ้นส่วนอะไหล่ให้มีความรวดเร็วมากขึ้นด้วย
“นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มบริการสำหรับลูกค้าองค์กรที่ซื้อผลิตภัณฑ์ใน 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอิงค์เจ็ท พรินเตอร์ความเร็วสูง พรินเตอร์เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม เลเซอร์โปรเจคเตอร์ความสว่างสูง และหุ่นยนต์
แขนกล ในการเพิ่มบริการแบบ On Site ดูแลเครื่องถึงสำนักงานของลูกค้าทุกแห่งทั่วประเทศ รวมถึงยังมีทีมงานพิเศษ เพื่อมอนิเตอร์การทำงานของเครื่อง หรือมีเครื่องสำรองให้ใช้งานแทนในกรณีที่เครื่องลูกค้าที่ใช้งานอยู่เกิดปัญหาขึ้น”
เอปสันยังมีการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนระบบการวิเคราะห์ประมวลผล สำหรับงานด้าน CRM ซึ่งจะสามารถนำข้อมูลและ ความรู้ด้านต่างๆ จากลูกค้ามาช่วยพัฒนาระบบการให้บริการ ตั้งแต่ Call Center การจัดการฐานข้อมูลสินค้าและ การใช้งาน การบริหารศูนย์บริการและทีมงานบริการนอกสถานที่ รวมถึงฐานข้อมูลการรับประกันสินค้า เพื่อสร้าง ประสบการณ์การใช้งานสินค้าและการบริการหลังการขายที่ดีให้มากขึ้นสำหรับลูกค้า
3. กลยุทธ์ช่องทางจำหน่ายสินค้า ในปีนี้เอปสันจะทำการเพิ่มจำนวน Epson Authorized Partner (EAP) สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์และโปรเจคเตอร์เป็น 170 รายทั่วประเทศ กลุ่มพรินเตอร์เชิงพาณิชย์และ อุตสาหกรรมเป็น 13 ราย และกลุ่มหุ่นยนต์แขนกลเป็น 10 ราย ซึ่งจะเป็นโอกาสให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น และสามารถเจาะเข้าไปในตลาดใหม่ๆ ได้มากขึ้น
4. กลยุทธ์ทางการสื่อสารการตลาด จะมุ่งเน้นด้านการผสมผสานเครื่องมือการตลาดทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด รวมทั้งจะเดินหน้าทำ Technology Showcase เพื่อแสดงศักยภาพของเทคโนโลยีในกลุ่มต่างๆ ผ่านอีเวนท์ที่สามารถสร้างประสบการณ์พิเศษให้กับลูกค้า โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในภาคธุรกิจและภาครัฐ ซึ่งเป็นการใช้กลยุธ์ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยหนึ่งผลงานในปีที่ผ่านมา คือกาารที่เอปสันร่วมกับจังหวัดสุโขทัย จัดแสดงแสงเสียงงานประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ โดยนำเลเซอร์โปรเจคเตอร์รุ่น EB-L25000U ที่มีความสว่างสูงถึง 25,000 ลูเมน ไปจัดแสดงเทคนิค Projection Mapping ซึ่งได้รับการตอบรับและความสนใจเป็นอย่างมาก
ตอกย้ำจุดแข็งผู้นำเทคโนโลยี
เห็นได้ว่าการเติบโตท่ีผ่านมาของเอปสัน จะเน้นการใช้จุดแข็งทางด้านเทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญด้านการผลิตทำให้สามารถ Innovative Product นำมาซึ่งการเติบโตและเป็นผู้นำในตลาด แม้ว่าภาพรวมตลาดหรือเศรษฐกิจจะอยู่ในภาวะอ่อนไหว แต่เอปสันก็ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอิงค์เจ็ทที่ทำยอดขายได้สูงที่สุดในภูมิภาคมาตลอด 3 ไตรมาสติดต่อกัน หรือในกลุ่มโปรเจ็กเตอร์ที่สามารถทำยอดขายสูงสุดทั่วโลกมาตลอด 17 ปี ขณะที่ยอดขายของเอปสัน ประเทศไทย ยังสามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับ 2 ของทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉี่ยงใต้ โดยมียอดขาย 1 ใน 4 หรือราวๆ 25% รองจากอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ด้วยจำนวนประชากรที่มีมากถึงราวๆ 200 ล้านคน
เช่นเดียวกับปี 2018 ที่ภาพรวมทั้งตลาดสินค้าไอทีตกลงจากเดิมในระดับ -3% โดยเฉพาะหากพิจารณาในรายกลุ่มผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ติดลบลงแทบจะทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น Desktop, PC ที่ตลาดหดตัวลงมากที่สุดในระดับ -20% เช่นเดียวกับพรินเตอร์และในกลุ่มโฟโต้ก็ติดลบเช่นกัน มีเพียงตลาดโน้ตบุ๊คเท่านั้นที่เติบโตได้เล็กน้อย
ขณะที่การเติบโตของเอปสันยังคงรักษาการเติบโตได้ต่อเนื่องโดยตลาดในประเทศไทยซึ่งคิดเป็น 90% ของรายได้ทั้งหมด มียอดขายเติบโต 5% ตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่อีก 10% มาจากตลาดต่างประเทศที่เอปสัน ประเทศไทย ดูแลประกอบด้วยพม่า ลาว กัมพูชา และปากีสถาน เติบโตได้ที่ 6% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งเป้่าไว้ว่าตลาดต่างประเทศจะเติบโตได้ที่ 15% เนื่องจาก ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะใน 2 ไตรมาสล่าสุดที่ผ่านมา ทำให้รายได้ต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้เล็กน้อย
ทั้งนี้ การเติบโตของตลาดในประเทศ มาจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเอสเอ็มอี ทั้งพรินเตอร์ความเร็วสูงเพื่อรองรับงานพิมพ์สิ่งทอระดับโรงงานอุตสาหกรรม อย่าง SureColor F9330 หรือเลเซอร์โปรเจคเตอร์ความสว่างสูงในระดับ 6,000-15,000 ลูเมน ที่เน้นเจาะกลุ่มธุรกิจบันเทิงและการจัดงานอีเวนท์เอาท์ดอร์ รวมทั้งกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ ความเร็วสูงรุ่น WF-C869R สำหรับเอสเอ็มอีที่ใช้เทคโนโลยีหัวพิมพ์รุ่นล่าสุดของเอปสัน PrecisionCore และระบบ หมึก RIPs (Replaceable Ink Pack) ชุดหมึกที่ถอดเปลี่ยนได้สามารถรองรับการพิมพ์ปริมาณสูงถึง 86,000 แผ่น
เช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศที่มีการป้อนผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อาทิ ในกลุ่มอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ EcoTank ทั้ง L-Series และ M-Series เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจโซโหและเอสเอ็มอี รวมถึงทำการ ตลาดเชิงรุกมากยิ่งขึ้น เพื่อแย่งมาร์เก็ตแชร์จากเลเซอร์พรินเตอร์ นอกจากนี้ ยังได้นำโปรเจคเตอร์ความสว่างสูง เข้าไปทำตลาดกับกลุ่มลูกค้าในธุรกิจบันเทิงและสถาบันศึกษาที่กำลังขยายตัวอย่างมาก โดยชูจุดเด่นด้านความ ทนทานและคุณภาพที่ดีกว่าคู่แข่ง ซึ่งทำให้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี