มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้สำหรับศูนย์การค้า DONKI Mall Thonglor และ Discount Store ที่คนไทยมักแวะไปช้อปในประเทศญี่ปุ่นอย่าง Don Quijote (ทำตลาดบ้านเราในชื่อ Don Don Donki) แต่ก่อนจะเปิดม่านอย่างเป็นทางการ ทางศูนย์การค้าได้จัดให้มีการแถลงข่าว และพาเยี่ยมชมพื้นที่ของ DONKI Mall Thonglor เราจึงขอรวบรวม 10 ประเด็นไม่ควรพลาดสำหรับแฟน ๆ ที่ตั้งใจมาเยือนร้านค้าปลีกจากญี่ปุ่นรายนี้
1. อย่าสับสนระหว่างห้าง DONKI Mall Thonglor และร้าน Don Don Donki
DONKI Mall Thonglor คือชื่อของ “ศูนย์การค้า” ที่ภายในประกอบด้วยร้านค้าต่าง ๆ กว่า 30 แบรนด์ ทั้งสปอร์ต เอนเทอร์เทนเมนต์, ร้านอาหาร, คาราโอเกะสัญชาติญี่ปุ่น, พื้นที่จัดกิจกรรมภายนอก ฯลฯ บริหารงานโดยบริษัทร่วมทุนอย่าง เจซีอี-ทีโอเอ จำกัด
ส่วน Don Don Donki เป็นร้านค้าหลักภายในโครงการที่ส่งตรงมาจากญี่ปุ่น โดยทางบริษัทเลือกใช้ชื่อนี้ในการทำตลาดในประเทศไทยแทนชื่อ Don Quijote ที่คนไทยคุ้นเคยกัน
Don Don Donki บริหารงานโดย บริษัท แพน แปซิฟิก รีเทล แมเนจเมนท์ (สิงคโปร์) จำกัด หรือ PPRM ซึ่งเป็นบริษัทลูกของแพน แปซิฟิก อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้งคอร์ป (PPIH) อีกที
2. Don Don Donki เป็นน้องคนที่ 4 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แม้ Don Don Donki สาขาทองหล่อนี้ จะเป็นร้านค้าสาขาแรกในประเทศไทย แต่ก็ถือว่าเป็นสาขาที่ 4 แล้วในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ก่อนหน้านี้ Don Quijote มีการเปิดมาแล้ว 3 สาขา ในสิงคโปร์) โดยจะให้บริการภายใต้แนวคิด “Japan Brand Specialty Store” เน้นสินค้าหลากหลายประเภท ทั้งสินค้าในชีวิตประจำวัน, อาหารสด-อาหารแปรรูป, ขนม, เครื่องใช้ไฟฟ้า, สินค้าแฟชั่น
สำหรับจุดเด่นของ Donki สาขาแรกในประเทศไทยนี้ คือการเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และตั้งเป้าลูกค้าในปีแรกไว้ที่ 2 ล้านคน
3. ถึงจะชื่อ DONKI Mall Thonglor แต่มาทางเอกมัยใกล้กว่านะ
หากเปิด Google Maps จะพบว่า การเดินทางจากสถานีรถไฟฟ้า BTS เอกมัยมายัง DONKI Mall Thonglor คิดเป็นระยะทาง 1.4 กิโลเมตร ซึ่งสามารถเดินได้ถ้าไม่หวั่นต่อสภาพอากาศของประเทศไทย หรือถ้านั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที สนนราคาอยู่ระหว่าง 20 – 30 บาท ส่วนถ้าจะมาจากสถานี BTS ทองหล่อ ระยะทางจะไกลกว่าสักหน่อย ประมาณ 1.7 กิโลเมตร และอาจต้องเสี่ยงกับปัญหาจราจรในย่านทองหล่อได้
4. ผู้อยู่เบื้องหลัง DONKI Mall Thonglor คือบริษัทร่วมทุน เจซีอี-ทีโอเอ
DONKI Mall Thonglor ศูนย์การค้ามูลค่า 700 ล้านบาทนี้ มีผู้พัฒนาคือบริษัท เจซีอี-ทีโอเอ จำกัด ที่เกิดจากการร่วมทุนกันของ 3 บริษัท ได้แก่ แพน แปซิฟิก อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิงส์ จำกัด (PPIH) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มดองกิโฮเต้ (Don Quijote) ที่สิงคโปร์ โดยถือหุ้น 49% ตามมาด้วยบริษัท ทีโอเอ เวนเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสีรายใหญ่ของไทย ถือหุ้น 40% สุดท้ายคือบริษัท พี พี ไอ จำกัด (PPI) ถือหุ้นอีก 11%
5. การบริหารพื้นที่ใน DONKI Mall Thonglor
DONKI Mall Thonglor มีพื้นที่ 27,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 3 ไร่ เป็นอาคารสูง 6 ชั้น และอาคารจอดรถชั้นใต้ดินอีก 3 ชั้น สามารถรองรับรถได้ 311 คัน โดยมีบริษัท นิปปอน พาร์คกิ้ง ดีเวลลอปเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารและพัฒนาพื้นที่จอดรถที่มีสำนักงานใหญ่ในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ดูแลระบบจอดรถภายในศูนย์การค้าทั้งหมด
สำหรับชั้นแรกและชั้นที่ 2 ภายใน DONKI Mall Thonglor จะเป็นที่ตั้งของ Don Don Donki และร้านค้าเช่น ร้านขายยาซูรูฮะ, คาเฟ่อเมซอน, Daiso ส่วนชั้นที่ 3 – 4 จะเป็นพื้นที่ของร้านอาหาร คาราโอเกะแมวเหมียว Manekineko และชั้นที่ 5 เป็นพื้นที่ของ D-Sport Stadium สถานออกกำลังกายในร่ม รวมถึง @Thonglor Hall สำหรับรองรับการจัดอีเวนท์ต่าง ๆ
6. กลุ่มเป้าหมายของ DONKI Mall Thonglor และ Don Don Donki
กลุ่มเป้าหมายของ DONKI Mall Thonglor และ Don Don Donki คือคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงคนไทยและชาวต่างชาติที่อาศัยในย่านเอกมัย – ทองหล่อ โดยเน้นไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มผู้หญิงที่สนใจด้านความสวยความงาม ชอบชิมขนมอร่อย ๆ เป็นชีวิตจิตใจ
7. มีอะไรขายบ้างใน Don Don Donki
ผู้บริหาร Don Don Donki สาขาแรกในประเทศไทยบอกว่า
Don Don Donki เน้นสินค้าถูกและดี โดยมีสินค้าหลายหมวดให้เลือกซื้อ แต่หมวดที่จัดวางไว้หน้าประตูทางเข้าเลยก็คือ หมวดเครื่องสำอาง (ชั้น 2) และหมวดขนม (ชั้น 1) ซึ่งการจัดวางนี้อาจพิจารณาจาก 3 อันดับสินค้าที่คนไทยนิยมไปช้อปปิ้งจาก Don Quijote แดนปลาดิบอย่าง เครื่องสำอาง, ขนม และวิตามิน เป็นหลัก
นอกจากสองหมวดสินค้าที่นำมาดักนักช้อปจากหน้าประตูแล้ว Don Don Donki ยังมีวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารญี่ปุ่น, อาหารทะเลสด, อาหารแห้ง, ผลไม้ และเสื้อผ้าด้วย
8. Don Don Donki มีสินค้าประมาณ 10,000 SKU ให้เลือกช้อป
โดยรายการสินค้าใน Don Don Donki มีประมาณ 10,000 รายการและ 70% มาจากญี่ปุ่น ส่วนราคานั้น บางชนิดยังมีราคาแพงกว่าที่ขายในประเทศญี่ปุ่น แต่ทางบริษัทเผยว่าอยู่ระหว่างการบริหารจัดการต้นทุน และเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถลดราคาลงได้มากกว่านี้แน่นอน
9. พิธีเปิดจัดเต็มตามธรรมเนียมญี่ปุ่น
ภายในงานแถลงข่าวพบว่ามีกิจกรรมเพื่อความโชคดีตามธรรมเนียมญี่ปุ่นแทรกอยู่ เช่น พิธีตอกถังสาเก (Kagami-Biraki) ซึ่งมักจะจัดขึ้นในพิธีที่มีความสำคัญจริง ๆ และมีการแจกจ่ายสาเกแห่งความโชคดีให้กับผู้ร่วมงานด้วย นอกจากนั้นยังมีการนำมาสคอตเพนกวิน “ดองเปง” ออกมาร้องเพลง Miracle Shopping Song ในเวอร์ชันภาษาไทยเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกัน
10. Don Don Donki เป็นหนึ่งใน Vision 2020 ของ Don Quijote Group
ความสำเร็จของ Don Quijote นอกจากจำนวนสาขา และลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายตลอดเวลาแล้ว ยังสะท้อนได้จากตัวเลขผลประกอบการของ Don Quijote Group ในรอบปีการเงินระหว่างกรกฎาคม 2016 – มิถุนายน 2017 ทำยอดขายได้สูงถึง 828,800 ล้านเยน และมี Operating Income 46,200 ล้านบาท แต่เหนือไปกว่านั้น บริษัทยังมีการตั้งเป้าหมายในปี 2020 (Vision 2020) ว่า จะทำยอดขายให้แตะ 1 ล้านล้านเยน และมีจำนวนสาขาแตะ 500 สาขาทั่วโลก ซึ่งสาขาในประเทศไทยจึงอยู่ใน Vision 2020 นี้อย่างไม่ต้องสงสัย
ข้อ 11 แถมให้… ใครที่หวังว่าจะมีโปรดักท์เหมือนญี่ปุ่นเป๊ะ! โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สินค้าสำหรับผู้ใหญ่” ที่เราต้องแหวกม่านเข้าไปซื้อ ต้องขอแสดงความเสียใจด้วย ไปสั่งออนไลน์เอานะจ๊ะ! ไม่มีจ้าาาาา