หลังมีข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริการะบุว่า ในแต่ละปี ชาวอเมริกันเสียเวลาไปกับการซักผ้า ตากผ้า และเก็บผ้ามาพับมากถึง 375 ชั่วโมง หรือราว ๆ 15 วัน และการซักผ้าติด 1 ใน 5 งานบ้านที่พวกเขาไม่ชอบเอามาก ๆ ล่าสุด แบรนด์ผงซักฟอก Tide ของค่าย P&G ก็ตัดสินใจเปิดตัวธุรกิจซักผ้าแบบฟูลเซอร์วิส (ซัก-อบ-พับ) ที่เรียกใช้ได้แบบออนดีมานด์เพื่อมาตอบโจทย์ความต้องการของชาวอเมริกันแล้ว
โดยแผนรุกธุรกิจซักผ้าของ P&G คือการเปิดตัว “Tide Cleaners” ที่ไม่ได้เป็นแค่ร้านซักผ้าธรรมดา แต่ปรากฏตัวออกมาใน 4 รูปแบบ ได้แก่ ตั้งตู้ Drop-Boxed ตามพื้นที่สำคัญใจกลางเมือง เช่น คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน เพื่อให้คนนำผ้ามาฝากซัก และรับผ้ากลับไปได้โดยสะดวก
การใช้งานตู้ Drop-Boxed เหล่านี้สั่งการได้ผ่านแอปพลิเคชัน Tide Cleaners โดยให้ผู้ใช้งานระบุหมายเลขตู้ที่นำผ้ามาฝากซัก และเมื่อผ้าซักเสร็จแล้ว แอปพลิเคชันก็จะแจ้งเตือนให้เราไปรับผ้ากลับได้เลย ซึ่ง Drop-Boxed นี้ถือเป็นโมเดลที่เติบโตเร็วที่สุดจากทั้งหมด 4 โมเดล (เนื่องจากบริษัทสามารถติดตั้งได้ประมาณ 350 จุดต่อเดือน) ปัจจุบันกระจายอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ เช่น ชิคาโก นิวยอร์ก ในสหรัฐอเมริกาแล้วเรียบร้อย
โมเดลที่สองคือการเปิดตัวร้านรับซักผ้าแบบ Standalone ที่เปิด 24 ชั่วโมง โดยร้านในลักษณะนี้อาจมีบริการพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น รับทำความสะอาดชุดเจ้าสาว รับซ่อมชุดที่เสียหาย หรือรับซักผ้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีร้านแบบ Standalone นี้แล้ว 125 แห่งใน 22 รัฐ
โมเดลที่สามเป็นการเจาะกลุ่มนักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ด้วยการส่งรถตู้เข้าไปรับผ้ามาซัก โดยรถตู้จะมีจุดจอดชัดเจน แต่โมเดลนี้จะคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน โดยมีให้บริการแล้วกว่า 20 มหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยอลาบามา, มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ฯลฯ เป็นต้น
ส่วนโมเดลสุดท้ายคือการนำตู้ Drop-Boxed ไปตั้งไว้ตามร้านค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือย่านที่มีคนเดินพลุกพล่าน เนื่องจากมองว่า ในย่านเหล่านั้น ผู้บริโภคก็สามารถนำผ้ามาฝากซักได้อย่างสะดวกเช่นกัน
การเปิดธุรกิจ Tide Cleaners ถือเป็นความท้าทายทั้งในฝั่งของ P&G และผู้บริโภค จากเดิมที่ P&G ต้องส่งน้ำยาซักผ้า – น้ำยาปรับผ้านุ่มไปยังร้านค้าต่าง ๆ และทำโปรโมชันเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อไปใช้ แต่ Tide Cleanners กำลังเปลี่ยนเป็นการรับผ้าจากบ้านผู้บริโภค แล้วมาซักแทนให้ การขับเคลื่อนของ Tide ในครั้งนี้ถือว่าเป็นกำลังสำคัญในแง่ที่ว่า แบรนด์ไม่ได้มองแค่ “ขายสินค้า” เท่านั้น แต่ก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นกับผู้บริโภคแล้วนั่นเอง