ถือเป็นการขยับครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 38 ปี สำหรับเดอะมอลล์กรุ๊ป หนึ่งใน Big 3 ธุรกิจ Retail ของไทย กับการเปลี่ยนภาพธุรกิจให้ Beyond Local Experience ไปสู่ Multinational Company ด้วยการเติมเหล่าขุนพลผู้บริหารชุดใหม่ ที่ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจรีเทลด้านต่างๆ จากทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
ซึ่งงานนี้แม่ทัพหญิงคนเก่งอย่าง “คุณแอ๊ว” ศุภลักษณ์ อัมพุช ประกาศว่า การขับเคลื่อนครั้งนี้ เดิมพันมากกว่าแค่การสร้างความแข็งแกร่งหรือเติบโตให้กับองค์กร แต่เป็นการสร้าง Game Changing หรือสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับประเทศไทย ผ่านการยกระดับธุรกิจรีเทลของประเทศให้แข่งขันได้ในระดับโกลบอล พร้อมผลักดันให้ “มหานครกรุงเทพฯ” ผงาดขึ้นเป็นหนึ่งในเมืองชั้นนำของโลก และสามารถเทียบชั้นกับเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศได้อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่ว่าจะเป็น มหานครลอนดอน มหานครปารีส หรือแม้แต่ในเอเชียอย่าง สิงคโปร์ เชี่ยงไฮ้ ฮ่องกง ปักกิ่ง เป็นต้น
โดย Big Move ในรอบเกือบ 4 ทศวรรษ ของเดอะมอลล์กรุ๊ปครั้งนี้ ขับเคลื่อนผ่านการวางยุทธศาสตร์ 5 ปี (2562 – 2565) เพื่อผลักดันเดอะมอลล์กรุ๊ปสู่ World Class Shopping Destination พร้อมประกาศเดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์ และโครงการอื่นๆ ที่อยู่ใน Pipeline ภายใต้งบลงทุนตลอด 5 ปีข้างหน้านี้ เป็นเงินหลักแสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินลงทุนที่สูงที่สุดตั้งแต่การก่อตั้งธุรกิจมาของกลุ่มเดอะมอลล์เลยทีเดียว
โดยรายละเอียดในการขับเคลื่อนธุรกิจในครั้งนี้เพื่อเปลี่ยนภาพจำจาก “ธุรกิจครอบครัว” มาสู่การเป็นธุรกิจที่บริหารอย่าง “มืออาชีพ” ภายใต้แนวคิด M Transformation ซึ่งถือเป็นก้าวกระโดดครั้งสำคัญของเดอะมอลล์กรุ๊ป ไปสู่ The Mall 4.0 เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจในทศวรรษที่ 4 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. สำหรับเม็ดเงินลงทุนกว่าแสนล้านบาท ที่จะถูกใส่ลงไปในโปรเจ็กต์ต่างๆ ตลอด 5-6 ปี ข้างหน้า ประกอบไปด้วย
– แบงค็อก มอลล์ (BANGKOK MALL) โครงการ Mega Mixed Used Complex ที่ใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท อีกหนึ่งแฟลกชิพโปรเจ็กต์เนื้อที่กว่า 100 ไร่ พื้นที่โครงการกว่า 1.2 ล้านตารางเมตร บนสุดยอด Prime Location ในฐานะศูนย์กลางคมนาคมในอนาคต เพราะอยู่บนจุดตัดถนนบางนา-ตราดกับสุขุมวิท เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอุดมสุขและบางนา และในอนาคตจะมีรถไฟฟ้าไลท์เรลจากสี่แยกบางนาถึงสุวรรณภูมิ โดยคาดว่าจะเป็นอาณาจักรศูนย์การค้าและที่อยู่อาศัย รวมถึงออฟฟิศแบบครบวงจรที่ยิ่งใหญ่ ทันสมัยและสมบูรณ์แบบที่สุดในเอเซีย ภายใต้คอนเซ็ปต์ City Within The City คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มเปิดโครงการได้ในปี 2565
– ดิ เอ็มสเฟียร์ (THE EMSPHERE) ภายใต้งบลงทุน 1 หมื่นล้านบาท สำหรบจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายที่จะมาเติมเต็มให้ THE EM DISTRIC เป็นย่านการค้าที่ดีที่สุดบนถนสุขุมวิทอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (The Epicenter of Sukhumvit) ด้วยพื้นที่โครงการกว่า 2 แสนตารางเมตร และเมื่อรวมกับ ดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ แล้ว จะมีพื้นที่รวมกันทั้งหมดกว่า 6.5 แสนตารางเมตร
โดยหลังจากดิ เอ็มสเฟียร์ เปิดให้บริการตามกำหนดในปี 2565 ย่านการค้าสำคัญแห่งนี้จะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครที่ทั่วโลกจะต้องจับตามอง เพราะจะเป็นโครงการที่เพียบพร้อมไปด้วยย่านธุรกิจ การค้า ศูนย์รวมแฟชั่น ลักซ์ชัวรี่ เทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์ ลิฟวิ่ง และ ไดนิ่งจากแบรนด์เนมชั้นนำระดับโลกและชั้นนำของไทยกว่า 1,000 แบรนด์
– เดอะมอลล์ รามคำแหง (THE MALL RAMKHAMHAENG) กับการใช้งบกว่า 1 หมื่นล้านบาท พลิกโฉมครั้งใหญ่ ก่อสร้างโครงการอาคารสรรพสินค้าเดอะมอลล์ รามคำแหง 2 ในรูปแบบ “Mixed use Complex” บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 2.3 แสนตารางเมตร โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2564
-ส่วนงบอีก 1หมื่นล้านบาท จะใช้ในการ Renovate เพื่อพลิกโฉมทั้งในส่วนของห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ทุกสาขา ได้แก่ เดอะมอลล์ ท่าพระ, งามวงศ์วาน, บางแค และบางกะปิ ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Mall Lifestore, A Happy Place to Live Life เพื่อรองรับการแข่งขันและการเติบโตในอนาคต โดยคาดว่าเดอะมอลล์ งามวงศ์วานจะเป็นสาขาแรกที่ปรับปรุงแล้วเสร็จ และพร้อมสำหรับการเผยโฉมใหม่ในปี 2563
นอกจากนี้ กลุ่มเดอะมอลล์ยังมีโปรเจ็กต์ที่อยู่ระหว่างการศึกษา และเตรียมพร้อมสำหรับการลงทุนอยู่ใน Pipeline อีกราว 1-2 โครงการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โครงการ Blu Pearl ในจังหวัดภูเก็ต ที่เคยให้รายละเอียดโครงการมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทางคุณแอ๊วมองว่า อาจจะยังเร็วเกินไปสำหรับการลงทุน เนื่องจาก ตลาดยังไม่พร้อมมากนัก รวมทั้งสถานการณ์เงินบาทที่ค่อนข้างแข็งตัว ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวชะลอตัวลง จึงยังไม่จำเป็นต้องเร่งการลงทุนในตอนนี้ แต่คาดว่าจะสามารถเดินหน้าโครงการได้ในช่วง 5-6 ปีข้างหน้านี้
“นอกจากโปรเจ็กต์ใหม่ๆ แล้ว กลุ่มเดอะมอลล์ยังร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อเพิ่ม Attractionใหม่ๆ ให้กับธุรกิจ และเป็นการเพิ่ม Magnet ในการดึงให้กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม Entertainment ที่มีศักยภาพในการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง และเป็นการเริ่มต้น Repositioning ภาพลักษณ์ของประเทศในฐานะ Destination ของกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งหากรวมการลงทุนทั้งหมดในช่วง 5-6 ปีนี้ คาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินในการลงทุนทั้งหมดไม่ต่ำกว่าแสนล้านบาท”
2. ไม่ใช่แค่เพียงเม็ดเงินในการลงทุนเท่านั้น แต่ในส่วนการเติบโตของรายได้ กลุ่มเดอะมอลล์ก็ตั้งเป้าสร้าง Double Growth ภายใน 5 ปี หรือมีรายได้แตะหลักแสนล้านบาทได้เช่นกัน จากปัจจุบันมีรายได้ต่อปีราว 5-6 หมื่นล้านบาท โดยแต่ละปีมีลูกค้าทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เข้ามาใช้บริการศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้าในเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป มากถึงปีละ 500 ล้านคน
ส่วนรายได้ที่มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวนั้น คุณแอ๊วอธิบายให้ฟังว่า มาจากการเริ่มทยอยหมดสัญญาของร้านค้าเช่าภายในศูนย์ต่างๆ ในเครือเดอะมอลล์ ซึ่งก่อนหน้านี้เดอะมอลล์ใช้วิธีการ “เซ้ง” หรือการให้เช่าในระยะยาว 30 ปี ทำให้ที่ผ่านมา ทางเดอะมอลล์กรุ๊ป ไม่มีรายได้จากการให้ร้านค้าเช่าพื้นที่ แต่ในปีนี้รูปแบบสัญญาเช่าระยะยาวเริ่มทยอยหมดลงแล้ว ทำให้จากนี้ทางเดอะมอลล์จะมีรายได้จากการให้ร้านค้าต่างๆ เช่าพื้นที่ภายในศูนย์การค้าเข้ามาเติมในพอร์ต และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทางกลุ่มเดอะมอลล์จะมีรายได้เพิ่มเข้ามามากขึ้น ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นนั่นเอง
3. ในส่วนแผนสร้างการเติบโตในอนาคตของกลุ่มเดอะมอลล์ เมื่อต้องการทุนจำนวนมากขึ้น แนวทางเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นอีกหนึ่ง Option ที่ทางคุณแอ๊วให้ความสนใจเช่นกัน
“ถ้ามีโอกาสเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ เราก็สนใจ ตอนนี้ก็เริ่มดู เริ่มศึกษาบ้าง ดูไปแต่งตัวไป เพราะเราก็ทำธุรกิจบนพื้นฐานของ Good Governance อยู่แล้ว เราก็มีความเป็นสถาบัน ทำให้โอกาสที่จะเข้าไประดมทุนได้ไม่ยากนัก รวมทั้งเราก็จำเป็นต้องวางแผนสำหรับอนาคตไว้ด้วย เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ แต่ในอนาคตอาจต้องมองหาทุนมาสำรองไว้เหมือนกัน ดังนั้น Option ในการเข้าไประดมทุนในตลาดจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าเราจะเข้าไปหรือไม่ แต่ก็ต้องศึกษาไว้สำหรับอนาคตด้วยเหมือนกัน”
4. การเติบโตในทศวรรษท่ี 4 ของกลุ่มเดอะมอลล์ สู่การเป็น The mall 4.0 นั้น ภาพที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือ การเปลี่ยนนโยบายจาก Centralize มาเป็น Decentralize หรือการกระจายอำนาจการบริหารและตัดสินใจไปให้แต่ละ BU มากขึ้น จากที่ผ่านมาการขับเคลื่อนของเดอะมอลล์ จะรวมศูนย์อยู่ที่คุณแอ๊ว แต่ด้วยความเร็วในเรื่องของเทคโนโลยี การมีสายบริหารแบบ Centralize อาจจะทำให้ตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงทั้งของตลาดและคู่แข่ง รวมทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้ความรู้ ความสามารถที่เป็น Specialist มีความจำเป็น เพราะคุณแอ๊วเองก็ยอมรับว่า ตนเองไม่ได้มีความสามารถที่จะรู้ หรือเชี่ยวชาญในทุกเรื่อง อาทิ เรื่องเทคโนโลยีด้าน FinTech, Cashless, Payment หรือการนำประโยชน์จาก Data ต่างๆ มาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ หรือการเพิ่ม Online Service ต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดูแล
“เราพยายามกระจายงานให้แต่ละส่วนดูแลกันเองมากขึ้น เพื่อไม่ให้ทุกอย่างมากองที่เรา เราให้สิทธิ์แต่ละ BU รับผิดชอบและดูแลงานกันเอง เพื่อให้แต่ละส่วนรู้สึกถึงความเป็น Ownership ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเอง นามสกุล ณ เดอะมอลล์ และแต่ละคนแต่ละฝ่ายกำลังดูแลบ้านของตัวเอง แม้อาจจะเกิดความผิดพลาดขึ้นบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะแก้ไขและเริ่มต้นใหม่ได้ แม้แต่เราเองก็เริ่มมาจากความผิดพลาดเหมือนกัน เราก็ทำเดอะมอลล์สาขาแรก (สาขาราชดำริ) ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เรียนรู้และเริ่มต้นใหม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ ประกอบกับผู้บริหารทุกคนต่างก็มีประสบการณ์กับสายงานที่แต่ละคนเข้ามาดูแลรับผิดชอบกันดีอยู่แล้ว”
5. นอกจากการ Decentralize ไปให้แต่ละ BU มากขึ้นแล้ว เดอะมอลล์กรุ๊ปยังวางเป้าหมายสู่การเป็นบริษัท Multinational Company ด้วยการเพิ่มผู้บริหารระดับสูงในระดับ Chief Level ท่ีมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจค้าปลีกทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจากหลากหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ยุโรป อเมริกา ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์ในสายงานมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี และยังมาจากสถาบันที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นจากวอลมาร์ท แกลเลอรี ลาฟาแย ลาซาด้า ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง หรือ แมคคินซีย์ เป็นต้น โดยเริ่มขับเคลื่อนองค์กรเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านมาได้แล้ว 1-2 ปี
ส่วนทีมผู้บริหารชุดใหม่ที่เป็นขุนพลหลักในการขับเคลื่อนเดอะมอลล์กรุ๊ป อาทิ คุณเกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม กรุ๊ป จำกัด, มร.โรเบิร์ต เจมส์ซิสเซล CEO, Retail Group of The Mall Group, คุณวรลักษณ์ ตุลาภรณ์ Chief Marketing officer at The Mall Group, คุณกัญญารัตน์ โชคอุ่นกิจ Chief of Business Development Officer at The Mall Group, ดร.โอลิเวอร์ ก็อตซัลล์ Chief Strategy Officer at The Mall Group และ มร. สก็อต คาเมรอน Chief Officer at The Mall Group เป็นต้น
“ข้อได้เปรียบของการเป็น Multinational Company คือ การมีองค์ความรู้ หรือการพัฒนาเทคโนโลยีที่หลากหลายและแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งการได้ผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนองค์กร ส่วนความท้าทายคือ การหาจุดสมดุลย์ของคัลเจอร์ที่แตกต่างและหลากหลายภายในองค์กร โดยเชื่อว่าภายใน1 ปี การทำงานทุกอย่างจะเริ่มเข้าที่ ทุกฝ่ายจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้และพร้อมในการก้าวไปข้างหน้าภายใต้จุดหมายเดียวกัน”
6. ส่วนแนวทางในการผสมผสานกลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร โดยเฉพาะกลุ่ม Middle Management จะพยายามผสมผสานทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ให้เหมาะสม และเลือกให้เหมาะสมกับสายงาน เช่น งานในกลุ่ม Front Row เช่น Marketing, Business Development, Project Development, Merchandise หรือ Leasing จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของเทรนด์ หรือองค์ความรู้ใหม่ๆ รู้ว่าแบรนด์ใดมาแรง แบรนด์ใดมีศักยภาพสูง ก็จำเป็นต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนจากพลังของคนรุ่นใหม่
ส่วนงาน Back Office อย่าง Operation, HR หรือบัญชีการเงิน คนเก่าๆ อาจจะมีความชำนาญ คุ้นเคย และคล่องตัวมากกว่า ก็อาจจะให้น้ำหนักกับคนรุ่นเก่าก่อน หรือแม้แต่งานไอทีก็จำเป็นต้องมีทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นเก่าก็ยังมีองค์ความรู้เรื่องของระบบ Backbone Engineering ต่างๆ รวมทั้งคนรุ่นเก่าจะมีความอดทนสูงมากกว่าคนรุ่นใหม่ ซึ่งเราจำเป็นต้องผสมผสานให้มีความลงตัว ไม่ใช่จะให้ความสำคัญแค่กับคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว เพราะคนรุ่นเก่าก็จะมีจุดเด่นเรื่องประสบการณ์ หรือมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในบางเรื่องมากกว่าคนรุ่นใหม่ แต่อาจจะช้าไปบ้าง ส่วนคนรุ่นใหม่ก็อาจจะมีความสามารถในเรื่องของความรวดเร็ว คล่องแคล่ว และความสามารถในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ เป็นต้น
คุณแอ๊ว ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า “เชื่อว่ายุทธศาสตร์ที่วางไว้และการมีทีมงานที่แข็งแกร่ง จะมีศักยภาพมากพอที่จะสร้าง Game Changing ให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นในวงการค้าปลีก ช่วยสร้างความสำเร็จให้กับประเทศไทยบนเวทีการค้าระดับโลกอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่สิ่งสำคัญคือการสร้างความแข็งแรงในแต่ละบียู ซึ่งเหมือนอิฐแต่ละก้อนที่นำมาต่อกันและต่างมีความสำคัญต่อธุรกิจอย่างเท่าเทียมกัน เดอะมอลล์กรุ๊ป จึงให้ความสำคัญกับการสร้างทีม พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถเพื่อเติบโตไปพร้อมองค์กร ด้วยความเชื่อว่าทีมที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพจะเป็นรากฐานสำคัญของทุกๆ ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้”