HomeBrand Move !!เกาหลีไม่ใช่ ‘แฟชั่น’ Food Passion ซุ่มเทคโอเวอร์ RED SUN ขยายอาณาจักรบาร์บีกอน

เกาหลีไม่ใช่ ‘แฟชั่น’ Food Passion ซุ่มเทคโอเวอร์ RED SUN ขยายอาณาจักรบาร์บีกอน

แชร์ :

 

ปีที่ผ่านมาศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินว่าธุรกิจร้านอาหารน่าจะมีมูลค่าตลาดมากกว่า 415,000 ล้านบาท เติบโตในอัตรา 4-5% ปัจจัยการเติบโตส่วนหนึ่งมาจากการขยายสาขาใหม่ ของผู้ประกอบการรายเดิม ส่วนหนึ่งมาจากการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่ เข้ามาช่วยกระตุ้นดีมานด์ของผู้บริโภค จึงเห็นร้านอาหารหลากหลายประเภทเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าไปลิ้มลอง ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน และเครื่องดื่มสารพัด สำคัญกว่าซัพพลายที่มีมากมาย คือ ฝั่งดีมานด์ของผู้บริโภคที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น จากไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันนิยมออกไปกินข้าวนอกบ้าน ใช้ช่วงเวลาของมื้ออาหารเพื่อสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ถือเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาดขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั่นเอง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การผลักดันธุรกิจอาหารให้เติบโตจึงต้องจับดีมานด์ของลูกค้าให้ทัน และสนองตอบดีมานด์นั้นได้อย่างตรงจุด เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีความต้องการหลากหลาย และมองหาอาหารที่มากกว่าแค่ความอร่อย และมีคุณภาพ ซึ่งถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่ธุรกิจอาหารต้องมีอยู่แล้ว แต่คนยุคนี้มองหาอะไรมากกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของประสบการณ์ การได้สัมผัสกับเรื่องราวต่างๆ ที่ส่งผ่านมาทางของอาหาร เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคนี้ต้องการแถบจะขาดไม่ได้ อย่างเรื่องง่ายๆ คือ อาหารต้องถูกจัดจานมาให้สวยงาม เพื่อใช้ถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย

กลุ่มฟู้ดแพชชั่น หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจอาหารเจ้าของแบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซบฮัท, Charna  (ฌานา) ร้านอาหารสุขภาพกับคอนเซ็ปต์ “Full Flavor Healthy Meal”และ SPACE Q (สเปช คิว)  ร้านอาหารปิ้งย่างชาบูภายใต้คอนเซ็ปต์ “SOCIAL GRILL” มีขนาดความใหญ่ของธุรกิจ วัดด้วยยอดขายได้ประมาณ 3,800 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมาเติบโตอัตรา 3% ตามสภาพตลาด ก็มองเห็นถึงสภาพการแข่งขันที่รุนแรง พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่ก็มีดีมานด์ขนาดใหญ่ สามารถสร้างการเติบโตให้กับบริษัทได้ หากสามารถเติมเต็มประสบการณ์และความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงใจพวกเขา

เร่งสปีดการโตด้วยกลยุทธ์ M&A

การสร้างการเติบโตได้รวดเร็ว เรียกได้ว่าเป็นทางลัดสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจได้อย่างหนึ่ง คือ การใช้กลยุทธ์ M&A (Mergers and Acquisitions) หรือ การควบรวมและเข้าซื้อกิจการ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากว่าได้แบรนด์ซื้อเข้ามากำลังเติบโต มียอดขายมากมาย ฐานลูกค้าเหนียวแน่นเข้ามาเติมเต็มพอร์ต การซื้อกิจการหรือควบรวมแบรนด์นั้นมาอยู่ในพอร์ทธุรกิจเลย จึงเป็นทางเลือกยอดนิยมกลยุทธ์หนึ่งเลยทีเดียว

ล่าสุด กลุ่มฟู้ดแพชชั่น ก็ได้ซื้อแบรนด์ร้านอาหารเกาหลี เรด ซัน (Red Sun) เข้ามาเติมเต็มพอร์ท โดยเข้าไปถือหุ้นสัดส่วน 74% ผู้ถือหุ้นเดิมสัดส่วน 26% พร้อมกับจัดตั้งบริษัทใหม่ คือ บริษัท ฟู้ดซัน จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 7 ล้านบาท  เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ Brand Portfolio หนึ่งในกลยุทธ์สร้างการเติบโตให้กับกลุ่มฟู้ดแพชชั่น

คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด  เล่าว่า ที่ผ่านมา ฟู้ดแพชชั่น มองหาโอกาสที่จะขยายธุรกิจทั้งแนวลึกและแนวกว้าง  ซึ่งการเพิ่มแบรนด์ใหม่เข้ามาใน Portfolio ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ที่ต้องการเติมเต็มโอกาสในการกินที่หลากหลาย ให้กับผู้คนจำนวนมากผ่านแบรนด์และช่องทางต่างๆ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในเชิงรายได้ แต่ยังหมายถึงการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ตลาดใหม่ สู่เป้าหมายสำคัญในการสร้างอาณาจักรความสุขผ่านมื้ออาหารให้กับคนไทย โดยที่ผ่านมาได้มีการศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การประกาศความสำเร็จ

โดยกลยุทธ์ Brand Portfolio เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ธุรกิจของฟู้ดแพชชั่นเพื่อสร้างการเติบโต ซึ่งกลยุทธ์ทั้งหมดประกอบด้วย

1.การขยายธุรกิจด้วยแบรนด์เดิมที่อยู่ในพอร์ทของบริษัท

2.การขยายธุรกิจใหม่ที่พัฒนาขึ้นเอง โดยในช่วงหลัง Food Passion เพิ่มแบรนด์เข้ามาเป็นทางเลือกในตลาด ไม่ว่าจะเป็น Charna(ฌานา) ร้านอาหารสุขภาพกับคอนเซ็ปต์ “Full Flavor Healthy Meal” หรือ SPACE Q (สเปช คิว)

3. การขยายธุรกิจหรือแบรนด์ที่ซื้อเพิ่มเข้ามาในพอร์ท โดยมีหลักเกณฑ์การเลือกซื้อมี 3 ประการ ประกอบด้วย 1.จะต้องอยู่ในตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโต 2. ศักยภาพของแบรนด์ที่จะเติบโตเป็นเบอร์ 1ในตลาด 3. มีคุณค่าและแนวทางการดำเนินธุรกิจไปในทางเดียวกัน ซึ่งเมื่อนำมาผสานกับความเชี่ยวชาญในการทำตลาดของฟู้ดแพชชั่นจะเกิดเป็นสูตรลับความสำเร็จที่จะสร้างการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในระยะยาว

4. การขยายธุรกิจในตลาดต่างประเทศภายใต้แบรนด์ในเครือ Food Passion ซึ่งแบรนด์ Red Sun สามารถขยายไปยังต่างประเทศได้ หลังจากที่แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า ก็ไปบุกตลาดต่างประเทศแล้วเช่นกัน

ทำไมต้องร้านอาหารเกาหลี แล้วทำไมต้องเรดซัน

การเลือกแบรนด์ร้านเกาหลีเข้ามาเติมเต็มพอร์ทนั้น เป็นเพราะต้องการมีแบรนด์ร้านอาหารเกาหลีเข้ามาเติมเต็มพอร์ท  เนื่องจากภาพรวมตลาดร้านอาหารเกาหลีมีอัตราการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จากปี 2556 ที่มีมูลค่าตลาด 1,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาทในปัจจุบัน

“ช่วง 3 ปีที่เริ่มมองตลาดร้านอาหารเกาหลี เราค้นพบว่า ตลาดอาหารเกาหลีไม่ใช่ตลาดแฟชั่นที่ฉาบฉวย มันเข้ามาเกือบจะ 10 ปีแล้ว และมีเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความสวยความงาม วัฒนธรรม เพลง ที่เป็นพื้นฐานสำคัญส่งผลให้ธุรกิจเติบโตไปในอนาคตได้อีกมาก”

ไม่เพียงเรื่องมูลค่าตลาดขยายตัว เป็นปัจจัยให้ฟู้ดแพชชั่นเลือกร้านเรด ซันเข้ามาอยู่ในมือ เพื่อทำให้สปีดธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังมีหลายเหตุผลสำคัญ คือ

1.ร้านเรด ซัน มีส่วนแบ่งทางการตลาดในแบรนด์ร้านอาหารเกาหลี 5% ทำยอดขายได้ประมาณ 100 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ปีนี้น่าจะเติบโตได้อีก 40% หรือทำยอดขายได้กว่า 150 ล้านบาท ซึ่งในอีก 2-3 ปีข้างหน้าร้านเรด ซัน น่าจะทำรายได้ให้กับกลุ่มฟู้ดแพชชั่นคิดเป็นสัดส่วน 5-10%

2.เป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพียง 4 ปีขยายสาขาได้ถึง 12 แห่ง และในปีนี้ยังจะเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่องอีก 4-6 สาขา

3.กลุ่มฟู้ดแพชชั่น ยังได้รับสิทธิ์ในการขยายสาขาในรูปแฟรนไชส์ในต่างประเทศทั่วโลก ยกเว้น 3 ประเทศ ได้แก่ เกาหลี จีน และกัมพูชา

4.การได้ฐานลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นจนถึงคนทำงานตอนต้นอายุ 18-35 ปี เข้ามาเติมเต็มพอร์ทธุรกิจของกลุ่มฟู้ดแพชชั่น เพราะกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ใช้บริการร้านเรด ซันอย่างเหนียวแน่น ปัจจุบันร้านเรด ซันมีฐานลูกค้ากลุ่มนี้กว่า 10,000 ราย

5.การได้เรียนรู้ การบริหารจัดการธุรกิจาหารเกาหลี และโอกาสในธุรกิจเกี่ยวข้องของอาหารเกหลี เพราะแต่ละปีจะมีการคิดค้นเมนูใหม่ออกมาปีละ 2 ครั้งๆ ละ 5-6 เมนู ต่อยอดจากอาหารเกาหลีที่เป็นออริจินัล ปัจจุบันมีเมนูรวมกันกว่า 80 เมนู ในอนาคตคุณฮาจินฮา ซีอีโอของบริษัท เจเคฟู้ด จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์แบรนด์ร้านอาหารเรด ซัน จากประเทศเกาหลี มีแผนเข้ามาเปิดโรงงานซอสที่ใช้ในอาหารเกาหลีในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้กลุ่มฟู้ดแพชชั่นมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย

คุณชาตยา เล่าว่า กว่าจะได้แบรนด์เรด ซันเข้ามาอยู่ในพอร์ทกลุ่มฟู้ดแพชชั่น ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปี เพราะเริ่มต้นจากการมองหาแบรนด์ร้านอาหารที่มีศักยภาพ การทดลองเข้ามากินอาหารเพื่อทดสอบคุณภาพและความอร่อย การเฝ้าดูและสังเกตการบริหารจัดการภายในร้าน ทั้งด้านการบริการ และห้องครัว รวมถึงพิจารณาว่าแบรนด์ร้านอาหารนั้นสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในศักยภาพของแบรนด์ร้านอาหารนั้นๆ และไม่เพียงเท่านั้นยังต้องศึกษาแนวคิดและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารด้วยว่า มีทิศทางเดียวกันหรือไม่

“การเลือกแบรนด์เหมือนการเลือกคู่ชีวิต ในการแต่งงาน จึงต้องหาแบรนด์ที่มีคุณค่า มีเคมีเหมือนกัน เพื่อซินเนอร์จี้กัน เพราะ 1+1 ไม่เท่ากับ 2 แต่เท่ากับ 7 (5 แบรนด์ร้านอาหาร และ 2 บริษัท)”

ส่ง 10 เมนูลุยเดลิเวอรี่

หลังจากหนุ่มสาว ตกลงแต่งงาน เข้ามาอยู่ภายใต้ชายคาธุรกิจเดียวกันแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ เริ่มต้นด้วยการทำการตลาดร่วมกัน โดยผู้ถือบัตรสมาชิกบาร์บีคิวพลาซ่ากว่า 1.9 ล้านราย สามารถนำมาใช้เป็นส่วนลด 10% ในการกินอาหารภายในร้านเรด ซันได้ทันที

คุณนพวินท์ รอดริน ผู้บริหารและผู้นำเข้าแบรนด์เรด ซัน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดซัน จำกัด เล่าว่า แผนการทำตลาดระหว่างแบรนด์ร้านเรด ซัน และกลุ่มฟู้ดแพชชั่นจะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง เป็นการซินเนอร์จี้การทำธุรกิจร่วมกัน รวมถึงการบริหารจัดการภายในที่จะมีความร่วมมือกันในอนาคต เช่น การจัดซื้อสินค้า วัตถุดิบ เพื่อทำให้ได้ต้นทุนต่ำ การใช้ศักยภาพของกลุ่มฟู้ดแพชชั่นในการเลือกทำเลและขยายสาขาเข้าไปในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เป็นต้น

ส่วนแผนธุรกิจของร้านเรด ซัน ได้เตรียมงบประมาณ​ 50 ล้านบาท นอกจากการขยายสาขาเพิ่มในปีนี้ 4-6 แห่งแล้ว ยังเตรียมลุยธุรกิจเดลิเวอรี่อย่างจริงจัง หลังจากช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้เริ่มทดลอง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีปัญหาแพ็คเกจจิ้งบรรจุอาหารไม่เหมาะสมต่อการจัดส่ง หลังจากพัฒนาและปรับปรุงแพ็คเกจจิ้งเรียบร้อยแล้ว ในช่วงกลางเดือนมีนาคมเป็นต้นไป จึงเริ่มให้บริการจัดส่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ได้แล้ว โดยมีเมนูหลัก 10 เมนู เริ่มต้นราคา 99 บาท โดยมีเมนูข้าวหน้าต่างๆ ซึ่งมีจำหน่ายเฉพาะระบบเดลิเวอรี่เท่านั้นอีก 5 เมนูด้วย

แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากกลุ่มเดลิเวอรี่จะมีเพียง 1% แต่แผนการทำตลาดและการสร้างแบรนด์ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ น่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากช่องทางเดลิเวอรี่ได้เป็น 5% ภายในปีนี้


แชร์ :

You may also like