นับตั้งแต่ปี 2009 กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) มีความตั้งใจในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ จึงได้จัดแคมเปญภายในบริษัท “Thailand is not enough” เพราะเชื่อว่าการจะทำให้แบรนด์ของบริษัทมีคุณค่า (Value) มากที่สุด จะต้องออกไปสร้างชื่อเสียงและสร้างแบรนด์ในต่างประเทศ แทนที่จะจำกัดตัวเองอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
หลังจากซุ่มศึกษาตลาดและมองดูโอกาสทางการตลาดนานถึง 2 ปีจึงเริ่มเข้าจัดงานเทรดแฟร์ในประเทศเมียนมาช่วงปี 2014 โดยจัดงานเมียนมาร์ บิลด์ แอนด์ เดคคอร์ (Myanmar Build & Décor) งานเมียนมาร์ฟูดเบฟ (Myanmar Food & Bev) และยังมีงานเกี่ยวกับธุรกิจการศึกษา โรงแรม และการพักผ่อนด้วย การจัดงานหลากหลายประเภท เป็นเพราะต้องการทดลองตลาดว่างานประเภทไหน จะได้รับการตอบรับและประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นอีก 2 ปียังได้จัดงานเมียนมาร์ รีเทล ซอสซิ่ง เอ็กซ์โป (Myanmar Retail Sourcing Expo) จนสุดท้ายเหลืองานที่มีศักยภาพ 2 งานหลักคือ งานเมียนมาร์ ฟูด เบฟ และงานเมียนมาร์ บิลด์ แอนด์ เดคคอร์ ที่ยังจัดอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน
แนวคิดของการขยายไปทำตลาดในต่างประเทศนั้น ประเด็นหลักต้องการ ครีเอทงานของตนเอง หรือ Own Project ขึ้นมา และใช้เป็นฐานสำคัญในการสร้างรายได้ สร้างบาลานซ์โครงสร้างธุรกิจในมือ ที่มีอยู่ด้วยกัน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่
1.กลุ่มมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส (Marketing Service)
2.กลุ่มครีเอทีฟ บิซซิเนส ดีเวลลอปเม้นท์ (Creative Business Development)
3.กลุ่มโอน-โปรเจ็กต์ (Own-Project)
คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เล่าว่า การที่ตัดสินใจเข้าไปขยายธุรกิจในเมียมาร์ เป็นเพราะเมียนมาร์เริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ปี 2011 เป็นประเทศที่มีโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ มีโอกาสทางการตลาด จากการเข้าไปศึกษาสภาพตลาด และความต้องการของผู้บริโภคชาวเมียนมาร์ โดยสภาพเศรษฐกิจของเมียนมาร์เติบโตอย่างรวดเร็วปีช่วงปี 2014-2015 หลังจากนั้นก็เติบโตแต่ไม่หวือหวา
“ช่วงเข้าไปในเมียนมาร์ เราเข้าไปเปิดประตูบ้าน เปิดห้องน้ำ เข้าห้องครัว เข้าไปบ้านคนจริงๆ เพื่อจะได้เห็นว่าคนเมียนมาเขายังขาดอะไรบ้าง เปิดดูตู้เย็นที่เจอแต่น้ำเย็น ไปครัวมีเครื่องปรุง แสดงว่าคนเมียนมาร์ทำอาหารเองแต่ไม่ซับซ้อนอะไร”
เดินหน้าต่อยอดความสำเร็จในกัมพูชา
หลังจากประสบความสำเร็จการจัดงานแสดงสินค้าในประเทศเมียนมาร์ อินเด็กซ์ฯ ก็มองหาโอกาสทางการตลาด การขยายงานที่เป็น Own Project ของตัวเองเพื่อสร้างการเติบโตไปในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งยังคงโฟกัสตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV เพราะถือว่าเป็นตลาดที่มีคู่แข่งน้อย บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนลยังไม่ค่อยเข้ามาทำตลาด หากสามารถไปยึดตลาดไว้ได้ก่อนก็จะได้เปรียบ ช่วง 5 ปีก่อนจึงได้เริ่มเข้าไปขยายการจัดงานในประเทศกัมพูชา โดยใช้บริษัทในเครือ คือ บริษัท ไอซีเว็กซ์ จำกัด จัดงาน แคมโบเดีย อาร์คิเทค แอนด์ เดคคอร์ 2016 (Cambodia Archit ect and Decore 2016) ขึ้นเป็นครั้งแรก และในปีนี้ได้จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2019 ที่กรุงพนมเปญ เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของเศรษฐกิจกัมพูชาและการ ลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง
ก่อนเข้ามาปักหมุดจัดงานเทรดแฟร์ในประเทศกัมพูชา บริษัทได้ศึกษาตลาดในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสปป.ลาว แต่ขนาดตลาดเล็กเกินไป และศึกษาตลาดประเทศเวียดนามด้วย แต่เป็นตลาดมีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะการแข่งด้านราคา ซึ่งบริษัทไม่อยากเข้าไปแข่ง เพราะจะทำให้ระบบธุรกิจเสีย จึงได้หันมาเปิดตลาดในประเทศกัมพูชาแทน
การเข้ามาลงทุนในประเทศกัมพูชา เป็นเพราะว่ากัมพูชาเป็นประเทศที่กำลังมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง มีโอกาสทางการตลาด จากกำลังซื้อที่กำลังเติบโตและเพิ่มมากขึ้น ความนิยมในสินค้าไทยของชาวกัมพูชาที่มีต่อแบรนด์สินค้าไทย ประเทศกำลังขยายตัวจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การพัฒนาเมือง และการเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ตลาดมีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“การเข้ามาเปิดตลาดในกัมพูชา เป็นการต่อยอดจากความสำเร็จ ที่ได้เข้าไปจัดงานในเมียนมาร์ ทำให้นำเอาการจัดงาน Architecture and Décor เข้ามาเปิดในกัมพูชา
เพิ่มงาน Health & Beauty ชิมลาง
ไม่เพียงแค่การมองหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ การเพิ่มรูปแบบงานที่หลากหลาย ก็เป็นอีกแนวทางเพื่อสร้างพอร์ทธุรกิจให้ขยายใหญ่มากขึ้น การจัดงานในประเทศกัมพูชาปีนี้ จึงได้ทดลองเพิ่มงาน Health and Beauty ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก เข้ามาไว้รวมกับงาน แคมโบเดีย อาคิเทค แอนด์ เดคอร์ 2019 เป็นการต่อยอดความสำเร็จของการจัดงาน Bangkok Beauty ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย เพราะมีฐานลูกค้าส่วนหนึ่งอยู่แล้ว
“สิ่งที่เห็นในตลาดกัมพูชา คือ กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ละครไทยเพิ่งกลับมาฉายเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความนิยมในสินค้าไทย รวมถึงคนไทยและกัมพูชามีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ความเชื่อคล้ายกัน และเริ่มสังเกตเห็นผู้หญิงกัมพูชา เริ่มแต่งหน้ามากขึ้น ชอบแฟชั่นเหมือนคนไทย ปีแรกจึงหวังว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมประมาณ 20 ราย และในอนาคตหวังว่าภาครัฐจะเข้ามาสนับสนุนการจัดงานด้วย”
การจัดงานเทรดแฟร์ของอินเด็กซ์ฯ เป็นรูปแบบ B2B ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมงานแล้วกว่า 80 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการคนไทยประมาณ 50 ราย โดยตั้งเป้าหมายผู้เข้าร่วมชมงานประมาณ 2,000-3,000 คน ซึ่งการจัดงานในประเทศกัมพูชาน่าจะทำรายได้ประมาณ 15-16 ล้านบาท จากเป้าหมายรายได้รวมของธุรกิจการจัดงานในต่างประเทศปีละกว่า 100 ล้านบาท
เตรียมไปต่อบุกตลาดตะวันออกกลาง
นอกจากตลาดในกลุ่มประเทศ CLMV อินเด็กซ์ฯ ยังมองหาโอกาสไปต่อกับธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสทางการตลาดในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และตะวันออกกลาง โดยภายในปีหน้าคงมีความชัดเจนในการเข้าไปบุกตลาดในกลุ่มประเทศดังกล่าว ซึ่งจะเข้าไปขยายธุรกิจด้านมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส และกลุ่มโอน-โปรเจ็กต์
โดยเป้าหมายสำคัญของอินเด็กซ์ฯ คือการเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจในกลุ่มโอน-โปรเจ็กต์ขึ้นเป็น 25% ภายใน 4-5 ปี จากปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ 5% และตั้งเป้าในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10% ส่วนกลุ่มมาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนรายได้ 70% จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 88% และกลุ่มครีเอทีฟ บิซซิเนส ดีเวลลอปเม้นท์ ปีนี้น่าจะมีสัดส่วนประมาณ 20% จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 7% โดยปีนี้น่าจะมีรายได้ 1,800 ล้านบาท