เป็นผู้นำในตลาดสแน็คกลุ่มสาหร่ายแทบจะเบ็ดเสร็จด้วยส่วนแบ่งในตลาดเกือบ 70% จากมูลค่าตลาดสาหร่ายในปีที่ผ่านมาเกือบ 3 พันล้านบาท พร้อมทั้งส่งออกไปทำตลาดในอีกกว่า 50 ประเทศ โดยเฉพาะความสำเร็จในตลาดประเทศจีน ที่สร้างยอดขายได้สูสีกับประเทศไทย รวมทั้งความนิยมของสินค้าที่มีสูงมากจนมีสินค้า Copy Cat ออกมา เรียกได้ว่า ถ้าไม่ดังจริง ไม่เป็นที่นิยมจริง ไม่มีของเลียนแบบออกมาขายแน่นอน
ที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามของเถ้าแก่น้อยในการ Diversify ธุรกิจ ไปสู่กลุ่มที่หลากหลายทั้งในกลุ่มสแน็คที่เป็น Non Seaweed รวมทั้งกลุ่มที่ไม่ใช่สแน็คอย่างเถ้าแก่น้อยแลนด์ ในการขยายธุรกิจในกลุ่มร้านขายของฝาก เมื่อปี 2553 หรือราว 9 ปีก่อน ก่อนจะปรับคอนเซ็ปต์ให้ครอบคลุมและมีความเป็น One Stop Shopping สำหรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นในคอนเซ็ปต์เถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัส เพิ่มบทบาทในฐานะผู้บริหารพื้นที่ค้าปลีก ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งการเข้าสู่ตลาดเครื่องดื่มเวย์โปรตีนในชื่อ MY WHEY เมื่อราวกลางปีที่ผ่านมา
กระโดดสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าเดิมถึง 4 เท่า
และครั้งล่าสุดกับการกระโดดเข้าสู่ธุรกิจ QSR (Quick Service Restaurant) เป็นครั้งแรก เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์ของเถ้าแก่น้อยที่ต้องการตอกย้ำภาพของความเป็น Food Innovation Company ที่มากกว่าแค่การเป็น Only Snack โดยดีกรีของแบรนด์ที่เถ้าแก่น้อยเลือกมาเพื่อใช้ในการลุยสนามรบใหม่นี้ คือ ฮิโนยะ เคอรี่ (Hinoya Curry) ข้าวแกงกะหรี่ระดับพรีเมี่ยม ดีกรีแชมป์กรังด์ปรีซ์ระดับประเทศ ประจำปี 2013 (Kanda Curry Grand Prix 2013) ที่ส่งตรงมาจากประเทศญี่ปุ่น และถือเป็นการขยายธุรกิจออกมานอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของฮิโนยะ เคอรี่ เช่นกัน
การข้ามสมรภูมิของเถ้าแก่น้อยในครั้งนี้ นับว่าเป็นการขยับมาสู่ตลาดที่ใหญ่กว่าเดิมอย่างมาก เพราะเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดรวมของตลาดสแน็คมูลค่าจะอยู่ที่ราว 30,000 -35,000 ล้านบาท แต่หากโฟกัสไปเพียงแค่ตลาดสาหร่ายจะมีมูลคาเหลืออยู่ที่ราวๆ 3 พันกว่าล้านบาทเท่านั้น โดยที่มูลค่าตลาดสแน็ครวมๆ ยังคิดเป็นเพียงแค่ 1 ใน 4 ของมูลค่าธุรกิจร้านอาหารในกลุ่ม QSA หรือ Food Chain ที่มีมูลค่ากว่า 140,000 ล้านบาท โดยทั้งสองตลาดมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยใกล้กันที่ราวๆ 5% แต่หากเทียบกับภาพตลาดรวมของธุรกิจร้านอาหารทั้งประเทศในทุกประเภท ตลาดจะใหญ่ขึ้นอีกราว 3 เท่า โดยมูลค่าจะขยับไปถึง 410,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
ดังนั้น การกระโจนมาสู่ตลาดที่ใหญ่กว่า ย่อมหมายถึงโอกาสที่จะสามารถสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจในน่านน้ำใหม่ๆ ก็มีสูงมากขึ้นเช่นกัน และเถ้าแก่น้อยเลือกที่จะเข้ามาในตลาดที่ยังไม่ใหญ่มาก คู่แข่งยังมีอยู่เพียงไม่กี่ราย การนำแบรนด์ที่มีดีกรีเป็นถึงแชมเปี้ยนระดับประเทศ และเป็นการออกนอกญี่ปุ่นครั้งแรก ย่อมทำให้คนอยากทดลองและมีโอกาสที่จะเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งในตลาดก็ไม่น่ายากเกินไป
สำหรับ Hinoya Curry นับเป็นร้านคลื่นลูกใหม่ ที่คว้ารางวัลชนะเลิศในงานจัดประกวดการแข่งขันพื่อหาสุดยอดร้านข้าวแกงกะหรี่ ที่จะจัดขึ้นเป็นประจำในญี่ปุ่นทุกปี และด้วยรสชาติที่เข้มข้น กลมกล่อม ผ่านการพัฒนาใน 3 อายุคนของตระกูล ทำให้สามารถค้วารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันแกงกะหรี่ระดับประเทศ Kanda Curry Grand Prix ปี 2013 ซึ่งมีร้านข้าวแกงกะหรี่ร่วมแข่งขันกว่า 300 ร้าน ก่อนที่จะเฟ้นหาผู้ผ่านเข้ารอบจำนวน 23 ร้าน เพื่อแข่งขันในรอบสุดท้าย โดยให้ผู้ที่เข้าร่วมงานเกือบ 50,000 คน ได้ชิมและลงคะแนนให้กับร้านที่มีรสชาติถูกปากและโดนใจมากที่สุด โดยมีเมนูข้าวแกงกะหรี่ไข่ดิบ และข้าวแกงกะหรี่หมูทอดทงคัตสึ เป็นเมนูไฮไลท์ หลังจากเปิดร้านได้เพียง 1 ปี 10 เดือน ท่ามกลางคู่แข่งขันที่เปิดร้านเก่าแก่กว่า 30 ปี และยังได้รับคะแนนโหวตสูงสุดอันดับ 1 พร้อมยอดขาย 2,500 จาน ในระยะเวลาเพียง 3 วันอีกด้วย
จับช่องว่างตลาด และเทรนด์ที่กำลังโต
คุณต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนก์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ฮิโนยะ เคอรี่ ถือเป็นการเข้ามาในธุรกิจ QSR ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเครือเถ้าแก่น้อย จึงได้ให้สิทธิ์บริษัทในเครืออย่าง บริษัท เถ้าแก่น้อย เรสเตอรองท์ แอนด์ แฟรนไชส์ จำกัด เป็นผู้ดูแล เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญในการดูแลธุรกิจรีเทลที่เข้าถึงคอนซูเมอร์โดยตรงมาก่อน อย่างเถ้าแก่น้อยแลนด์ และเถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัส และมีแผนที่จะขยายสาขาใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในปีนี้ โดยอยู่ระหว่างศึกษาโลเกชั่นที่เหมาะสม มีทราฟฟิกที่ดี โดยเฉพาะในโซน CBD ที่มีคนทำงานค่อนข้างมาก โดยมีแผนขยายทั้งในศูนย์การค้าทั่วไป และในรูปแบบสแตนอะโลน เนื่องจากเชื่อว่าแบรนด์มีศักยภาพที่ดีในการดึงดูดให้คนเข้ามาใช้บริการได้
“ฮิโนยะ เคอรี่ เป็นหนึ่งในช่องว่างของตลาด QSR ที่ผสมผสานความเป็น Dining เข้าไปด้วย รวมทั้งความน่าสนใจของแบรนด์ และรสชาติอาหารที่ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการทำธุรกิจอาหาร ซึ่งเชื่อว่าจะถูกใจคนไทยที่ได้ทดลองรับประทาน โดยขณะนี้เปิดให้บริการสาขาแรกแล้ว ที่ชั้น 3 ศูนย์การค้าเดอะมาร์เก็ต แบงคอก ซึ่งผลตอบรับในช่วงเดือนแรกนี้ ซึ่งได้รับผลตอบรับดีเกินคาด มีคนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก แม้ว่าทางศูนย์จะยังไม่ได้เปิดให้บริการได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ชฮิโนยะ เคอรี่ กลายเป็นหนึ่งใน Magnet สำคัญของเดอะ มาร์เก็ต ก็ว่าได้ โดยทำยอดขายในแต่ละวันได้ที่ราว 120,000 -130,000 บาท”
ที่สำคัญ เถ้าแก่น้อยยังมองโอกาสจากเทรนด์ที่กำลังเติบโตได้ดีในกลุ่มธุรกิจอาหาร จากกลุ่มผู้ให้บริการ Aggregator หรือผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริการจัดส่งอาหาร Food Delivery เช่น แกร็บ หรือไลน์แมนที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในปัจจุบัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับแบรนด์ฮิโนยะ เคอรี่ ด้วยลักษณะอาหารที่อยู่ในกลุ่มที่เป็นอาหารจานเดียว สามารถรับประทานได้ง่ายๆ และสะดวก โดยแพลตฟอร์มนี้อยู่ในเทรนด์ที่กำลังเติบโตในแต่ละปีได้สูงถึง 15% ซึ่งเติบโตได้มากกว่าการเติบโตของธุรกิจอาหารในภาพรวมที่โตได้ที่ราว 5-6% เท่านั้น
และแน่นอนว่า เถ้าแก่น้อยคงไม่หยุดอยู่แค่แบรนด์เดียว เชื่อว่า นอกจากการขยายสาขาใหม่ๆ ของฮิโนยะ เคอรี่แล้ว ฝ่าย Business Development น่าจะมองหาโอกาสในการนำแบรนด์ใหม่ๆ เข้ามาเติมในพอร์ตอาหารให้กับเครือเพิ่มเติมในอนาคตอย่างแน่นอน