ได้รับการอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว สำหรับการขอปรับย้ายหมวดธุรกิจ จากหมวดธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์ (Media & Publishing) มาเป็นหมวดธุรกิจพาณิชย์ (Commerce) โดยยังคงอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ (Services) เช่นเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับสัดส่วนโครงสร้างรายได้ และนโยบายในการดำเนินธุรกิจ สำหรับ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หลังทำผลประกอบการปีล่าสุดเติบโตได้ทั้งรายได้และกำไร รวมทั้งยังสร้าง New Hi ให้กับธุรกิจในรอบ 37 ปี โดยเฉพาะการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากกลุ่มธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ MPC (Multi-platform Commerce) และสร้างรายได้ในสัดส่วนถึง 60% ของรายได้รวมของอาร์เอส โดยทำรายได้แตะ 2,126.8 ล้านบาท จากรายได้รวมที่ 3,826.7 ล้านบาท และนำมาซึ่งเหตุผลในการขอย้ายหมวดธุรกิจดังกล่าว
จากทดลองขายสู่รายได้หลักของพอร์ต
เรียกได้ว่าที่ผ่านมา อาร์เอสเป็นหนึ่งองค์กรที่ต้องฝ่าฟันกับกระแสการถูก Disruption มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นยุคที่ขาสำคัญยังอยู่ในธุรกิจเพลง ก็มีปัญหาเรื่องของการละเมิดลิขสิทธิ์ จนขยับมาในธุรกิจสื่อ โดยมีเสาหลักสำคัญอยู่ที่ช่อง 8 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ประกอบธุรกิจทีวีดิจิทัลแต่ละรายต่างก็บาดเจ็บกันไปตามๆกัน จากเม็ดเงินโฆษณาที่ถูกแชร์ทั้งจำนวนผู้เล่นในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน รวมทั้งการเติบโตของสื่อดิจิทัลที่กลายมาเป้น New Normal และสำคัญไม่ต่างจากสื่อแมส ทำให้เม็ดเงินเริ่มเทไปให้กับฟากสื่อดิจิทัลมากขึ้น
ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในธุรกิจต่างตั้งรับ และฮึดสู้ ด้วยการปั้นหรือหาคอนเทนต์ที่ดีและโดน เพื่อช่วยดึงให้ช่องมีเรตติ้งที่ดีขึ้น และหวังว่าจะสร้างฐานคนดูได้มากขึ้น บางรายที่อาการเริ่มร่อแร่ เลือดไหลไม่หยุดก็ต้องหาทุนก้อนใหม่มาช่วยต่อชีวิตหรือบางรายที่ถอดใจก็ถอนตัวลาจากธุรกิจไปเลยก็มีให้เห็นกันมาครบกันหมดทุกกรณี
ส่วนการสู้ของอาร์เอส ฟากของคอนเทนต์ก็ทำไปตามครรลองวิถี จนทำให้ช่อง 8 กลายเป็นหนึ่งในช่องที่มีเรตติ้งเกาะกลุ่มช่องอันดับต้นๆ ได้เช่นเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสใหม่ๆ ที่คนอื่นอาจจะยังนึกไม่ถึง หรือไม่ได้ผลักดันแบบจริงจังมากนัก ทำให้ช่อง 8 มีภาพที่หลายๆ คนมองอยู่ในฐานะ “ช่องขายของ” แต่สิ่งนี้กลับเริ่มสร้างความแตกต่างและทำให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากรอแต่รายได้จากแค่การขายเวลาหรือจากเม็ดเงินโฆษณาอย่างเดียวก็ไม่รู้ว่าป่านนี้อาการของช่อง 8 ในตอนนี้จะเป็นอย่างไร
จะเห็นได้ว่าอาร์เอสใช้ช่อง 8 มาเป็นฐานในการต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ และมองเห็นประโยชน์จากการมีสื่อที่แข็งแรงอยู่ในมือ ทั้งจากธุรกิจทีวีดิจิทัลอย่าง ช่อง 8 แซทเทิลไลท์อย่าง ช่อง 2 ช่องสบายดีทีวี เลข 141 ช่องเพลินทีวี รวมทั้งสื่อวิทยุอย่างคูลฟาเรนไฮต์ 93 ยังรวมไปถึงสื่อบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้สามารถเข้าถึงคนได้หลายสิบล้านคน ประกอบกับมองเห็นทิศทางการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มสุขภาพและความงามที่เป็นกลุ่มธุรกิจหลักในการเข้ามาใช้สื่อในเครือ โดยที่ธุรกิจแต่ละรายก็สามารถเติบโตได้ดี และยังคงกลับมาซื้อสื่ออย่างต่อเนื่อง ทำให้อาร์เอสมองเห็นโอกาส และขยับบทบาทจากฐานะสื่อที่เป็นช่องทางในการสนับสนุนการขายให้กับแบรนด์ความงามต่างๆ เหล่านี้ มาสู่การเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ความงามของตัวเองในที่สุด เรียกได้ว่า หลังจากช่วยให้คนอื่นขายดีจนรวยไปมากแล้ว ก็ลองมาทำสินค้าขายเองดูบ้างว่าจะเป็นอย่างไร
นำมาซึ่งการก่อตั้ง บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ในปี 2559 หรือราวในปีที่ 3 หลังจากการเข้ามาเป็นผู้เล่นในธุรกิจทีวีดิจิทัลของช่อง 8 เพื่อเป็นทัพหน้าสำคัญของอาร์เอสในสมรภูมิ Health & Beauty พร้อมเปิดตัวแบรนด์ “มาจีค” (Magique) โดยมีช่อง 8 เป็นสื่อหลักในการช่วยโปรโมทแบรนด์ ควบคู่ไปกับสื่ออื่นๆ ในเครือ เพื่อขายในรูปแบบของเทเลเซล หรือกลุ่มเดียวกับธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง รวมทั้งยังปูพรมไปในช่องทางขายผ่านร้านความงามต่างๆ เช่น อีฟแอนด์บอย วัตสัน รวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างท็อปส์ และกูร์เมต์มาร์เก็ต ซึ่งมีทิศทางการเติบโตที่ดี และได้เพิ่มแบรนด์ใหม่ๆ ให้หลากหลายมากขึ้น พร้อมตั้งเป็นอีกหนึ่ง Business Unit สำคัญของอาร์เอสอย่าง กลุ่มธุรกิจพาณิชย์หลายช่องทาง หรือ MPC (Multi-platform Commerce)
ทำความรู้จัก “ไลฟ์สตาร์” แหล่งพลังงานใหม่ RS
วันนี้กลุ่มธุรกิจ MPC กลายเป็นรายได้พอร์ตใหญ่ถึง 60% ของอาร์เอส ซึ่งนอกจากแกนนำหลักอย่าง “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้วางนโยบายและทิศทางในการขับเคลื่อนองค์กรแล้ว ยังมีอีกหนึ่งกำลังหลักสำคัญที่เรียกได้ว่ามี “ดีเอ็นเอเดียวกัน” กับเฮียฮ้อ ที่ชอบความท้าทาย และสนุกกับการปรับเปลี่ยนตัวเองอยู่เสมอ รวมทั้งยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการเติบโตของไลฟ์สตาร์ ธุรกิจสำคัญในกลุ่ม MPC อย่าง ดร.ชาคริต พิชญางกูร รองประธานฝ่ายบริหาร- ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และการตลาด บมจ. อาร์เอส และ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา ไลฟ์สตาร์เติบโตได้ปีละหลายเท่าตัว หลังจากเริ่มเซ็ตธุรกิจจนสร้างรายได้หลักสิบล้าน มาสู่ร้อยล้าน จนแตะสองพันกว่าล้านในปัจจุบัน เรียกได้ว่า ไม่ใช่แค่อยู่รอด เลี้ยงตัวเองได้ แต่ตอนนี้ไลฟ์สตาร์มาช่วยกู้สถานการณ์ให้บริษัทแม่อย่างอาร์เอส พลิกฟื้นจากการที่ขาดทุนกว่าร้อยล้าน เมื่อปีแรกที่ไลฟ์สตาร์เกิด หรือในปี 2559 ซึ่งแค่ในปีแรกที่ไลฟ์สตาร์ทำธุรกิจเต็มปี อาร์เอสก็ทำกำไรได้แล้ว 333 ล้านบาท รวมทั้งในปีล่าสุดที่ผ่านมา อาร์เอสมีกำไรถึง 516 ล้านบาท เลยทีเดียว
ดร. ชาคริต ให้เหตุผลถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่า นอกจากการมีผู้นำที่ดีมีวิสัยทัศน์ และเร็วต่อการปรับตัวโดยไม่ยึดติดกับความสำเร็จที่ผ่านมาอย่างเฮียฮ้อแล้ว จุดแข็งของไลฟ์สตาร์ คือ การมีผลิตภัณฑ์ที่ดี ที่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่แต่ละตัวมีผลวิจัยรับรอง และใช้ได้ผลจริง ทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญให้สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีความแข็งแรงของสื่อในเครือมาช่วยในการประชาสัมพันธ์สินค้าทำให้ไลฟ์สตาร์สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
“การมีสื่อที่แข็งแรง และเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่รับสื่อของตัวเองเป็นอย่างดี ทำให้เราสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งสินค้าต้องดีจริง ไม่อย่างนั้นคนจะซื้อครั้งเดียว แต่การเติบโตอย่างต่อเนื่องของเรามาจากการที่ลูกค้าซื้อซ้ำซึ่งสะท้อนถึงการยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า ซึ่งเราก็ไม่หยุดในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มาตอบสนองตลาดอย่างต่อเนื่อง จนตอนนี้มีสินค้ากว่า 100 รายการ กระจายไปในกลุ่ม Food Supplement, Skin Care และ Hair Care อาทิ มาจีค รีไวฟ์ และ S.O.M. เท่ากับเราสามารถต่อยอดได้ครบ ทั้งการมีโปรดักท์มาเติมในส่วนของต้นน้ำ ส่วนของกลางน้ำก็มีสื่อที่แข็งแรงและมีคุณภาพ ไปจนถึงปลายน้ำด้วยฐานของผู้ชมหลายสิบล้านคน ที่สามารถต่อยอดมาสู่การสร้างฐานลูกค้าได้กว่า 1 ล้านคน และกลายเป็น Database สำคัญเพื่อทำความเข้าใจและตอบสนองความต้องการได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต”
หนึ่งในความท้าทายของการ Cross Industry จาก Media มาสู่ Health & Beauty ในนามไลฟ์สตาร์ครั้งนี้ ดร.ชาคริต มองว่า อาจจะมีบ้างในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาอาร์เอสอยู่ในฟากของธุรกิจบริการมาตลอด ยังไม่เคยขายสินค้าแบบจริงๆ จังๆ แต่ในฐานะคนอาร์เอสที่ไม่กลัวความท้าทาย และพร้อมสำหรับการปรับเปลี่ยน ประกอบกับที่ผ่านมาเรามีประสบการณ์ในการทำผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มาก่อน และชื่นชอบธุรกิจกลุ่มนี้อยู่แล้วจึงอาสามาช่วยดูแล ทำให้เป็นการทำงานด้วย Passion ทุกอย่างเลยออกมาได้ดี
ประกอบกับในปัจจุบันมีหลายอย่างที่เอื้อให้คนทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น มีบริษัทวิจัยและพัฒนาอยู่ทั่วโลกทำให้มี Know how ให้เรียนรู้ มีคนรับจ้างผลิตที่พร้อมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ แต่สิ่งที่ยากคือ การคิดคอนเซ็ปต์ของโปรดักต์แต่ละตัวให้มีความแตกต่างและขายได้ การเข้าใจตลาด เข้าใจผู้บริโภค เพราะถ้ามีคอนเซ็ปต์ของโปรดักท์แล้ว การจะต่อยอดไปสู่งานวิจัยหรือ R&D รวมทั้งการหาคนช่วยผลิตก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากนัก
“เราให้ความสำคัญกับการสร้างความต่างและนวัตกรรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องแตกต่างแบบไม่มีใครมี เพราะ Pain Point ของผู้บริโภคในตลาดก็ไม่ต่างกันมากนัก แต่เราต้องเลือกวิธีตอบโจทย์ที่ต่างออกไป ให้เป็นแบบ Simple แต่แตกต่าง เพราะถ้าต่างมากไปก็อาจจะต้องมา Educated ตลาดใหม่หรือลูกค้าอาจจะยังไม่เข้าใจสินค้าดีพอ เช่น การเลือกใช้ส่วนผสมที่มากกว่าคนอื่น แหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ต่างออกไป หรือเป็นสายพันธุ์ที่ยังไม่มีใครใช้ คู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นและการจดจำผ่านกลยุทธ์ Artist Centric ด้วยการใช้พรีเซ็นเตอร์เป็นดาราที่มีชื่อเสียง ได้รับการยอมรับ และเหมาะกับผลิตภัณฑ์แต่ละตัว เช่น ตุ๊ก ดวงตา สำหรับหลินจือซัน พีท ทองเจือ สำหรับกาแฟถั่งเช่าผสมโสมซีแมกซ์ และ เจมส์ เรืองศักดิ์ สำหรับผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมรีไวฟ์ เป็นต้น”
ขยายน่านน้ำ ออกนอกอาณาจักรช่อง 8
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แม้ไลฟ์สตาร์จะทำยอดขายเติบโตได้หลายเท่าตัว แต่ก็ยังจำกัดการทำตลาดเฉพาะขอบเขตที่สื่อของช่อง 8 หรือสื่อในเครืออาร์เอสเข้าถึงเท่านั้น ซึ่ง ดร. ชาคริต มองว่า หากสามารถขยายการทำตลาดออกไปนอกอาณาจักรอาร์เอสได้ ก็จะสามารถสร้างการเติบโตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ไลฟ์สตาร์เริ่มเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ในการทำตลาดให้หลากหลายมากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาเริ่มปั้นโมเดลขายตรงแบบชั้นเดียว ด้วยการเปิดตัวไลฟ์สตาร์ บิส (Lifestar BIZ) และเพิ่มการเร่งเครื่องอย่างเต็มสูบในปีนี้ด้วยการมีสินค้า Exclusive Brands อย่าง “มาจีค เฮิร์บลิส” เพื่อจำหน่ายสำหรับช่องทางนี้โดยเฉพาะ พร้อมทั้งดึง “ฝ้าย- เวฬุรีย์ ดิษยบุตร” เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์ ตามกลยุทธ์ Artist Centric เช่นเดียวกับแบรนด์หลักอื่นๆ รวมทั้งใช้ความแข็งแรงจากสื่อที่มีเพื่อช่วยกระตุ้นการขายและสร้างให้เกิดตัวแทนจำหน่ายกระจายออกไปได้ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมี T Shopping ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางใหม่ล่าสุดที่เกิดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือระหว่างช่อง 8 และไทยรัฐทีวี ช่อง 32 ในฐานะ Strategic Partner ถือเป็นการขยายพันธมิตรออกไปในกลุ่มธุรกิจทีวีดิจิทัลนอกเครือเป็นครั้งแรก เริ่มออนแอร์ไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเป็นการขยายไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งตอกย้ำภาพของการเป็นธุรกิจแบบ Multi Platform Commerce ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมชูจุดเด่น “T Shopping ส่งฟรีทุกที่ เก็บเงินปลายทาง” และจากนี้น่าจะได้เห็นความร่วมมือในลักษณะเดียวกันเช่นนี้กับช่องอื่นๆ ตามมาในภายหลัง
“การเพิ่มช่องทางขายใหม่ๆ เป็นการขยายโอกาสไปในตลาดที่กว้างมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมและกระจายความเสี่ยงจากการถดถอยลงเรื่อยๆ ของสื่อทีวี และความไม่แน่นอนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ประกอบกับจะมีผู้เล่นรายใหม่ๆ โดยเฉพาะการปรับตัวของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่จะใช้โมเดลในลักษณะเดียวกันนี้เป็นทางรอดให้แก่ธุรกิจเข้ามาอีกหลายราย จึงต้องเพิ่มช่องทางในการสร้างยอดขายให้มาจากช่องทางอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไม่ได้มองจำกัดอยู่เพียงแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เรายังมองถึงการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะในแถบประเทศเพื่อนบ้านที่มองว่ามีโอกาสสูง เพราะชื่นชอบสินค้าไทยรวมทั้งรับสื่อจากประเทศไทยอยู่แล้ว ทำให้มีช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายในประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งในอนาคตจะมีรายได้ในช่องทางอื่นๆ เติบโตได้มากขึ้น จากปัจจุบันรายได้กว่า 80% มาจากช่องทางเทเลเซลล์ หรือในกลุ่มโฮมช้อปปิ้งเป็นหลัก”
นอกจากแผนในการขยายช่องทางต่างๆ ให้มากขึ้นแล้ว ทางอาร์เอสยังมองถึงการขยายสเกลการผลิตที่ใหญ่มากขึ้น โดยอยู่ระหว่างการมองหาพันธมิตรในกลุ่มโรงงานผลิตสินค้า เพื่อรองรับการขยายตัวของยอดขายที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต การมีโรงงานเป็นของตัวเองจะทำให้ช่วยลดต้นทุนจากการสั่งผลิตเป็นครั้ง และยังแก้ปัญหาสินค้าขาดตลาด โดยเฉพาะในสินค้าที่ได้รับความนิยม โดยคาดว่าความชัดเจนในเรื่องนี้จะมีมากขึ้นในไตรมาส 3 รวมทั้งยังมีแผนที่จะผลิตสินค้า Exclusive เพิ่มเข้ามากว่า 15 รายการในปีนี้ เพื่อกระจายให้กับธุรกิจไลฟ์สตาร์บิส เพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับช่องทางขายตรง และสร้างความมั่นใจให้กับตัวแทนได้ว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จในการขายได้ง่าย เพราะมีทั้งโปรดักต์ที่มีคุณภาพที่ตลาดต้องการ มีตัวช่วยจากการมีสื่อที่แข็งแรงในหลากหลายช่องทางทั้งดิจิทัลทีวี แซทเทิลไลท์ วิทยุ รวมทั้งสื่ออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งเฟสบุ๊ค ไอจี ไลน์ จึงมีโอกาสในการสร้างรายได้และกำไรที่ดีได้โดยไม่ยากนัก
การขยายแพลตฟอร์มที่เริ่มปูพรมออกนอกอาณาเขต นอกจากรายได้ที่มากขึ้นแล้ว สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมาด้วย คือ จำนวน Database จากปัจจุบันมีอยู่ที่กว่า 1 ล้านราย และเป็นกลุ่มฐานผู้ชมที่รับสื่อในเครืออาร์เอสเป็นหลัก แต่หากกลุ่มเป้าหมายขยายออกไป Database ที่เข้ามาก็จะมีจำนวนมากขึ้น รวมทั้งมีความหลากหลายกว่าเดิม เป็นประโยชน์ต่อการนำข้อมูลที่มีอยู่ไปวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาโปรดักต์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้ดีขึ้น ช่วยเพิ่มโอกาสในการขายรวมทั้งสร้างการเติบโตได้มากกว่าเดิม โดยในปีนี้ทางอาร์เอสตั้งเป้าการเติบโตให้รายได้รวมของธุรกิจเพิ่มขึ้นแตะหลัก 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจ MPC 60% กลุ่มธุรกิจสื่อ 30% และจากธุรกิจเพลง 10% ขณะที่จำนวนฐานลูกค้า คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.2 ล้านรายในปีนี้
นับได้ว่าเป็นการปรับตัวได้อย่างถูกทางของอาร์เอส เพราะปัจจุบันธุรกิจมีเดียก็ยังคงอยู่ในทิศทางที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดิม ขณะที่กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพและความงามยังคงสามารถสร้างการเติบโตได้แบบสวนทางกัน ทำให้เริ่มมองเห็นมูฟเม้นต์ของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในหลายๆ ช่องเริ่มใช้โมเดลของอาร์เอสเป็นแนวทางในการปรับตัวเพื่อให้สามารถรอดพ้นวิกฤตที่ต้องเผชิญไปให้ได้เช่นเดียวกัน
ถอดสูตรคิด วิธี “เฮียฮ้อ”
จากแผงขายเทป…สู่บริษัทที่ลุกขึ้นมาทำเทปเอง ก่อนจะเปิดค่ายเพลง จนเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี และเมื่อก้าวเข้าสู่ยุค “ทีวี” ทั้งแบบกล่อง, ดิจิทัลทีวี เฮียฮ้อ ก็นำพา RS ฝ่าวิกฤติมาได้เสมอ แถมยังสยายปีกสร้างการเติบโต และนี่คือ บทเรียนที่นักการตลาดหรือผู้นำองค์กรต้องเรียนรู้จากเขา
1. ไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิม และพร้อมปรับตัวอยู่เสมอ
2. เข้าใจธุรกิจและต่อยอดเชื่อมโยง จาก Asset “ดารา” และ “นักร้อง” ในสังกัด สู่คอนเทนต์ในช่อง ก่อนจะนำเอาพื้นที่มีเดียของตัวเองมาปั้นธุรกิจ Home Shoppingเพื่อขายเครื่องสำอาง, เครื่องราง (ซึ่งก็มาจากคอนเทนต์อินเดียที่ได้รับความนิยมนั่นเอง)
3. พลิกวิกฤติเป็นโอกาส เชื่อว่าวินาทีที่ผู้ประกอบการทั้งหลายเข้าประมูลสัมปทาน ทีวีดิจิทัล ไม่มีใครมองว่าในท้ายที่สุดแล้ว เกมจะเปลี่ยนกลายเป็นเกมที่ตอนนี้เจ้าของช่องหลายรายอยากจะคืนสัมปทาน แต่สำหรับ RS แล้วในเมื่อโฆษณาหายากนัก ก็พลิกมุมมองใหม่ ใช้พื้นที่ของตัวเองขายของของตัวเองซะเลย และสำหรับธุรกิจ Home Shopping แล้วต้นทุนค่ามีเดียเป็นหนึ่งในต้นทุนก้อนใหญ่ เมื่อ RS มีจุดแข็งด้านนี้อยู่แล้ว รวมทั้งมีเซเลบบริตี้มาเป็นตัวชูโรง
ความสำเร็จและเส้นทางของเฮียฮ้อ…ชายผู้ไม่ยึดติด พร้อมปรับตัวทุกระบวนท่า เพื่อเอาตัวรอดในยุทธจักร จึงเป็นสูตร(ไม่)สำเร็จ ที่มีสีสันและน่าศึกษาซะเหลือเกิน