ทุกวันนี้ หากเอ่ยชื่อ “Harbor Land” ในกลุ่มพ่อแม่รุ่นใหม่ที่มีลูกอยู่ในวัยซน ต้องยอมรับว่ามีน้อยคนที่จะไม่รู้จักแบรนด์สวนสนุกในร่มแบรนด์นี้ โดยเอกลักษณ์ของ Harbor Land ที่เด็กหลายคนติดใจมักหนีไม่พ้นสไลเดอร์ยาวนับ 10 เมตรที่ปลายทางสามารถโผล่ไปได้ทุกที่ที่พ่อแม่นึกไม่ถึง หรือภูเขาไฟขนาดยักษ์พร้อมให้ปีนป่าย กับบันไดเชือกที่เห็นแล้วอยากออกกำลังกายกันให้หมดพลัง
แต่กว่าจะเป็น Harbor Land ที่มีถึง 7 สาขาทั่วประเทศในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในยุคที่ผู้ประกอบการมีคู่แข่งเป็น iPad และ Netflix ในจุดนี้คุณปัญจภัทร อังคสุวรรณ อดีตคนไอทีที่ผันตัวมาเป็น “ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารความสุข” ของฮาร์เบอร์แลนด์ กรุ๊ป เผยว่า
“เมื่อมีลูก คู่ต่อสู้ของพ่อแม่ยุคใหม่ก็คือ iPad ดังนั้น ถ้าเราอยากให้ลูกได้ออกกำลังกาย เราก็ต้องมีสนามเด็กเล่นที่ดี เลยลองออกแบบขึ้นมา ปรากฏว่าลูกชอบสนามเด็กเล่นที่เราสร้างขึ้น เราก็เลยหวังว่าเพื่อน ๆ ของลูกก็น่าจะชอบด้วย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปิด Harbor Land”
สวนสนุกที่ออกแบบจากมุมของพ่อ
ในส่วนของการออกแบบ คุณปัญจภัทรเล่าว่า เครื่องเล่นใน Harbor Land ออกแบบและติดตั้งโดยทีมงานจากสวีเดน 100% โดยเน้นเรื่องวัสดุที่ต้องเป็นเกรดสำหรับเด็กโดยเฉพาะ และสีที่ใช้ต้องไม่มีโลหะหนักเป็นส่วนผสม โดยแต่ละสวนสนุกจะได้รับการออกแบบให้มีธีมที่แตกต่างกัน รวมถึงสไลเดอร์ เครื่องเล่นต่าง ๆ ที่แต่ละสาขาจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วย เช่น สไลเดอร์ความยาวกว่า 10 เมตรที่เป็นเอกลักษณ์ของ Harbor Land นั้น จะออกแบบมาเป็นพิเศษ ไม่ซ้ำแบบกันเลย ทำให้บางสาขามีสไลเดอร์ที่ม้วนไปมาหลายตลบ แต่บางสาขาก็เป็นสไลเดอร์ที่พาเด็ก ๆ ลงจากชั้น 3 มาถึงชั้น 1 ได้อย่างรวดเร็ว
หรือในส่วนของห้องน้ำที่ทีมงานเข้าใจความต้องการของพ่อแม่ จึงออกแบบให้อยู่ภายในพื้นที่สวนสนุก ไม่ต้องเดินออกไปภายนอก เช่นเดียวกับร้านอาหารที่มีบริการแซนด์วิช น้ำดื่ม รวมถึงขนมต่าง ๆ อยู่ภายในพื้นที่
จุดกระแสติด เพราะเข้าใจอินไซต์พ่อแม่
มากไปกว่านั้นคือ Harbor Land เข้าใจอินไซต์พ่อแม่คนไทยยุคใหม่ที่ไม่ชอบอากาศร้อน และมองว่าทุกวันนี้ สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป พ่อแม่ไม่สามารถปล่อยให้ลูกวิ่งเล่นตามถนน หรือกระโดดน้ำคลองได้เหมือนคนยุคก่อนอีกแล้ว รวมถึงการที่พ่อแม่ยุคใหม่มีลูกน้อยลง ทำให้สามารถทุ่มเทกับลูกแต่ละคนได้มากขึ้นในเรื่องของกิจกรรมเสริมพัฒนาการ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ทำให้กระแสสนามเด็กเล่นในร่มจุดติด ได้รับความนิยมขึ้นมานั่นเอง
สวนสนุก ธุรกิจที่ต้องเข้าใจ Seasoning
ความท้าทายอีกข้อของธุรกิจสวนสนุกคือมี “ช่วงเวลา” ในการขาย เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มครอบครัว ทำให้ช่วงเวลาที่มีการเข้าใช้บริการจะต่างออกไปจากธุรกิจอื่น ๆ โดยช่วงพีคของ Harbor Land คือวันหยุดเสาร์อาทิตย์กับปิดเทอม จึงเป็นธุรกิจที่ต้องบริหารจำนวนพนักงานให้ดี
“โชคดีที่เรามีหลายธุรกิจอยู่ในมือ เราจึงมีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการคน และสามารถ Rotate คนได้”
และเพื่อเพิ่มการเข้าใช้บริการ ทางทีมได้มีการขยายอายุของกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งเหตุผลนั้น คุณปัญจภัทรเล่าว่า
“เดิมกลุ่มเป้าหมายของเราคือเด็กอายุ 6 – 13 ปี แต่พอทำธุรกิจ เราพบว่า มีพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มีลูกเล็กมาด้วย แต่เข้ามาเล่นไม่ได้ แล้วจะให้คุณพ่อนั่งรอกับลูกเล็กข้างนอก ส่วนคุณแม่เข้ามาเล่นกับลูกโต ก็คงไม่ดี หรือเด็กบางคนที่อายุเกิน 10 ปีไปแล้วก็เริ่มไม่อยากเล่นกับพ่อแม่แล้ว ตรงนี้ก็มีการปรับตัวเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของทุกคนมากขึ้น”
การปรับตัวดังกล่าวส่งผลให้ปัจจุบัน Harbor Land ให้บริการเด็กได้ตั้งแต่ 6 เดือน – 13 ปี โดยจะมีโซนสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะ มีหนังสือนิทาน มีตุ๊กตาปูนปั้นให้เด็กระบายสีกันได้ ส่วนเด็กโตก็จะไปเล่นอีกแบบที่เน้นการพัฒนากล้ามเนื้อ เน้นปีนป่าย และเด็กที่โตมาก ๆ ก็จะมีเครื่องเล่นสำหรับเด็กโตโดยเฉพาะมาให้เช่นกัน
เจาะรูปแบบขยายสาขา “ป่าล้อมเมือง”
จาก 1 สาขาเมื่อปี 2016 จนถึงสาขาที่ 7 ในปีนี้ หากวิเคราะห์จากเส้นทางการขยายกิจการของ Harbor Land จะพบว่าหลังการเปิดตัว Harbor Land พัทยา เมื่อเมษายน 2016 หลังจากนั้นจะพบว่า ธุรกิจเน้นขยายสาขาไปกับกิจการในเครือแหลมทอง นั่นคือ “ตึกคอม” โดยจะเป็นการรีโนเวทพื้นที่ของห้างให้กลายเป็นสวนสนุกในร่ม เช่น Harbor Land ตึกคอม อุดรธานี, Harbor Land ตึกคอม ชลบุรี และ Harbor Land ตึกคอม ศรีราชา
จนกระทั่งในปี 2018 Harbor Land ก็ได้เริ่มเจาะเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ โดยประเดิมที่ห้างแฟชั่นไอซ์แลนด์เป็นพื้นที่แรก และเปิดตัวตามมาที่ห้างเกตเวย์ บางซื่อ ก่อนจะบุกเข้าสู่พื้นที่หัวเมืองย่านตะวันออก กับการเปิดตัว “Mega Harbor Land” ที่เมกาบางนา ซึ่งเป็นโปรเจ็คมูลค่า 350 ล้านบาท และมีพื้นที่ให้บริการถึง 8,500 ตารางเมตร ซึ่งทางกลุ่มเคลมว่า ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก Harbor Land พัทยา รวมถึงติดอันดับท็อปไฟว์ของสนามเด็กเล่นในร่มที่ใหญ่ที่สุดในโลก
โดยทางกลุ่มตั้งเป้าว่า Mega Harbor Land จะทำรายได้ 30 ล้านบาทต่อเดือน และในสามเดือนแรกของการเปิดตัวคาดว่าจะดึงคนเข้ามายังสาขาได้กว่า 100,000 คน ขณะที่รายได้ของปีนี้ บริษัทตั้งเป้าไว้ที่ 700 ล้านบาท
ขยายสู่หัวเมืองใหญ่
อย่างไรก็ดี Harbor Land ยังไม่หยุดโตในเขตกรุงเทพฯ โดยบริษัทมีแผนเปิดตัว Harbor Land สาขาเกตเวย์เอกมัย ในเร็ว ๆ นี้ รวมถึงมองหาโอกาสขยายตัวไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ และนครราชสีมาด้วย
ส่วนแผนการบุกตลาดต่างประเทศ คุณปัญจภัทรกล่าวว่าอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากต้องดูเงื่อนไขและข้อกฎหมายของแต่ละประเทศก่อน แต่ก็มีผู้ให้ความสนใจและติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
ความท้าทายของธุรกิจสวนสนุกในร่ม
คุณปัญจภัทรเล่าว่า แม้ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้พ่อแม่พาลูกมาเล่นในสวนสนุกยังคงเป็นเรื่องของความสนุก, ความสะอาด และความปลอดภัย แต่สำหรับการทำงานเบื้องหลังแล้ว การมีแค่ 3 ข้อนี้อาจไม่เพียงพอ
เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะการเติบโตของสวนสนุกในร่มมีปัจจัยที่ต้องควบคุมอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่คุณภาพอากาศ ความสะอาดของเครื่องเล่นที่ต้องทำความสะอาดทุกวัน คุณภาพของเครื่องเล่นที่ต้องได้มาตรฐาน และที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องของพนักงานที่ต้องหาคนที่มีใจบริการ รักเด็ก และสามารถรักษากฎ กติกา ดูแลความปลอดภัยในการเล่นเครื่องเล่นต่าง ๆ ได้ ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นต้นทุนอันดับต้น ๆ ของธุรกิจสวนสนุกในร่มที่แลนด์ลอร์ดต่าง ๆ ยากจะแบกรับ
“ธุรกิจสวนสนุกไม่ใช่เรื่องง่าย หรือมองว่าเป็นการนำของเล่นมาตั้ง แล้วก็เก็บเงิน เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น บรรดาแลนด์ลอร์ดต่าง ๆ ที่มีห้างเป็นของตัวเองคงทำสำเร็จไปแล้ว แต่ที่ผ่านมาก็พบว่า ตามห้างต่าง ๆ แม้จะมีโซนสำหรับเด็ก แต่ส่วนใหญ่ก็จะ Fail และปิดตัวลงไป”
“สำหรับเด็ก สิ่งที่พวกเขาต้องการก็คือ เวลากลับมาที่สวนสนุกแล้ว ความทรงจำยังเหมือนเดิม ของเล่นชิ้นเดิมที่เคยเล่นกับพ่อแม่ยังตั้งอยู่ให้พวกเขากลับมาเล่นสนุกได้อีก และนั่นคือเคมีสำคัญที่ทำให้ Harbor Land ในวันนี้ประสบความสำเร็จ” คุณปัญจภัทรกล่าวปิดท้าย