ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) จัดสัมมนา “Mastering the game in the era of connectivity” รู้ทันความเปลี่ยนแปลงจากการเชื่อมโยง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ โดยมี ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรตินำเสนอปาฐกถาพิเศษ ดร. สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมบรรยายพิเศษ พร้อมด้วยการเสวนาจาก 3 ผู้บริหารภาคธุรกิจชั้นนำของเมืองไทย ได้แก่ นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) สรุปใจ 5 แนวทางดังนี้
1. เจาะตลาดใหม่ที่มีความเติบโตสูง โดยตลาดในต่างจังหวัดที่มีเส้นทางคมนาคมขนส่งที่ดีขึ้นเนื่องจากการลงทุนของภาครัฐจะมีความน่าสนใจทางธุรกิจมากขึ้น และธุรกิจภาคบริการจะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วเนื่องจากการพัฒนาสู่สังคมเมือง โดยภาคธุรกิจที่ได้ประโยชน์รวมถึงการค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และการท่องเที่ยว โดยประเทศไทยได้เห็นการเจริญเติบโตที่คล้ายกันมาแล้วในอดีต เช่นการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ซึ่งก่อให้เกิดการขยายตัวของภาคบริการอย่างรวดเร็ว จากการขยายตัว 2% เป็น 9% ต่อปี ในช่วงก่อน และหลังก่อสร้างในช่วง 5 ปี โดยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ จะก่อให้เกิดโอกาสสำหรับภาคธุรกิจในการขายสินค้าและบริการต่างๆ มากขึ้น นอกจากนี้ ตลาดอาเซียนจะมีความน่าสนใจมากขึ้นเนื่องจากการผ่อนปรนด้านนโยบายทางการค้าโดยความซับซ้อนของขั้นตอนทางการค้าต่างๆ ได้ลดลง และหน้าต่างศุลกากรเดียวของอาเซียน (ASEAN single window) จะสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนในการลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการส่งออก
2. เสาะหาช่องทางใหม่ในการเข้าถึงลูกค้า ประเทศไทยมีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เนทที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 6 เท่าตั้งแต่ปี 2006 และการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์มีการขยายตัว 6% ต่อปี แนวโน้มดังกล่าวก่อให้เกิดโอกาสในการค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำ นอกจากนี้สังคมออนไลน์ (social network) ยังสร้างโอกาสให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และสร้างโอกาสทางการค้าที่มากขึ้นแก่ภาคธุรกิจ
3.สร้างความแข็งแกร่งในการดึงดูดแรงงาน โดยการผ่อนคลายของกฎระเบียบด้านแรงงานต่างๆ ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากสหภาพยุโรปภายหลังการผ่อนคลายด้านนโยบายแรงงาน โดยแรงงานจากยุโรปตะวันออก มีการย้ายข้ามมายุโรปตะวันตกมากขึ้นเนื่องจากความแตกต่างของค่าจ้างแรงงาน ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อการพัฒนาประเทศของประเทศที่สูญเสียแรงงานออกไป ดังนั้นภาคเอกชนจึงควรออกแบบโครงสร้างผลตอบแทนการทำงานให้มีความน่าสนใจ ซึ่งมีความจำเป็นมากยิ่งขึ้นในการดึงดูด และรักษาฐานแรงงานที่จำเป็นต่อบริษัท
4.สร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคมีความเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการค้าขายชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระหว่างประเทศในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่นสัดส่วนการค้าขายชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิคส์ระหว่างชาติในเอเชียตะวันออกมีเพิ่มมากขึ้นจาก 28% ในปี 2000 เป็น 53% ในปี 2011 ความเชื่อมโยงที่มีมากขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในกรณีที่แหล่งผลิตประสบปัญหาจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ดังนั้น การสร้างความยืดหยุ่นเช่น การซื้อชิ้นส่วนจากแหล่งผลิตหลายแหล่ง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในกรณีที่แหล่งผลิตหนึ่งประสบปัญหา
5.ระดมทุนจากต่างประเทศด้วยต้นทุนที่เหมาะสม ตลาดทุนในอาเซียนมีความเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างของต้นทุนในการระดมทุนระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศมีลดลง สร้างโอกาสแก่ภาคเอกชนในการระดมทุนจากประเทศปลายทางที่ดำเนินการอยู่
“ภาคเอกชนที่สามารถปรับตัวเข้ากับบรรยากาศการแข่งขันที่เปลี่ยนไป จะเป็นผู้ได้เปรียบในตลาดที่มีการแข่งขันในรูปแบบใหม่ บริษัทไทยควรเร่งฉกฉวยโอกาสเพื่อครอบครองตลาดใหม่ที่เกิดขึ้น ภายใต้ความเชื่อมโยงที่มีมากยิ่งขึ้น” ดร.สุทธาภา กล่าวสรุป