เปิดตัวเลขประชากรชาวเน็ตไทยใกล้แตะเพดาน โดยมีผู้ใช้งานในปี 2018 เท่ากับ 47.45 ล้านคน เพิ่มจากปี 2017 ถึง 5.01% คาดปี 2019 จะมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 50.08 ล้านคน หรือเพิ่มจากเดิมอีก 5.55% ส่วน 5G ยังไม่เห็นในอนาคตอันใกล้ คาดเริ่มเร็วสุดปี 2020
โดยตัวเลขการเติบโตดังกล่าวเป็นการเปิดเผยของสำนักงาน กสทช. ร่วมกับที่ปรึกษาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศระหว่างประเทศ ซึ่งพบว่าในหลาย ๆ ส่วนมีความสอดคล้องกับภาพรวมด้านการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล
ยกตัวอย่างเช่น ตลาดสื่อสาร ที่ในปี 2018 มีมูลค่า 613,920 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2017 มา 2.23% ส่วนในปี 2019 นั้นคาดว่าจะยังเติบโตต่อไป และมีมูลค่าตลาดประมาณ 629,673 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.57%
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมจะมีการเติบโตก็จริง แต่หากมองในแต่ละเซกเมนต์จะพบว่ามีบางส่วนที่หดตัวด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
- ตลาดบริการโทรศัพท์แบบประจำที่ หรือเบอร์ 02 แบบที่เราเคยใช้งานตามบ้านกันเมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดยการใช้งานจากภาคครัวเรือนลดลงอย่างต่อเนื่อง และผู้ใช้หลัก ๆ คือกลุ่มองค์กร และหน่วยงานภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2019 จะมีมูลค่าอยู่ที่ 8,458 ล้านบาท ลดลงจากปี 2018 ที่ 9,516 ล้านบาท
- ตลาดบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จากที่เมื่อก่อนเราต้องกดเบอร์ยาว ๆ เพื่อโทรศัพท์ไปต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้ การมาถึงของบริการประเภท OTT ทำให้บริการดังกล่าวมีการใช้งานลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดย กสทช. คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดดังกล่าวจะลดลงเหลือ 4,817 ล้านบาท จาก 5,413 ล้านบาทในปี 2018
ส่วนในตลาดเครื่องรับโทรศัพท์ พบว่ามูลค่าตลาดรวมปี 2018 อยู่ที่ 118,976 ล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดเครื่องรับโทรศัพท์แบบเคลื่อนที่ 117,714 ล้านบาท (มีผู้ใช้งานหลักคือกลุ่มครัวเรือน 85%) และตลาดเครื่องรับโทรศัพท์แบบประจำที่อีก 1,262 ล้านบาท ผู้ใช้งานหลัก ๆ คือกลุ่มองค์กร และหน่วยงานภาครัฐ 99%
ทั้งนี้ การเติบโตของตลาดขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจเป็นหลัก หากปีใดเศรษฐกิจไม่ดี ก็มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะชะลอการ อัพเกรดโทรศัพท์ออกไป
งานวิจัยยังได้คาดการณ์มูลค่าตลาดเครื่องรับโทรศัพท์ในปี 2019 ว่าจะมีมูลค่าที่ 123,692 ล้านบาท (แบ่งเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ 122,404 ล้านบาท และโทรศัพท์แบบประจำที่อีก 1,288 ล้านบาท) เนื่องจากโครงการภาครัฐเช่น เน็ตชายขอบ เน็ตประชารัฐ เริ่มให้บริการแล้ว ทำให้มีความต้องการใช้งานตัวเครื่องรับมากขึ้น
ส่วนอุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคมหลัก เช่น ท่อร้อยสาย เคเบิลใต้น้ำ และการลงทุนด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเครือข่ายโทรคมนาคม ข้อมูลจาก กสทช. พบว่าบางส่วนมีการลงทุนลดลง เช่น ธุรกิจเคเบิล เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการลงทุนไปแล้วค่อนข้างมาก ตัวเลขมูลค่าตลาดในปี 2018 จึงมีการลดลงเหลือ 73,780 ล้านบาท จากปี 2017 เคยใช้จ่ายไปมากถึง 75,315 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าปี 2019 จะเพิ่มขึ้นเป็น 74,723 ล้านบาท
ด้านอุปกรณ์สื่อสารแบบใช้สาย กลับตรงข้ามเพราะพบการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากเปิดให้บริการเน็ตประชารัฐ และเน็ตชายขอบ เนื่องจากประชาชนเริ่มอยากลากสายจากบริการภาครัฐเข้าบ้านตัวเองมากขึ้น ทำให้มูลค่าตลาดในปี 2018 อยู่ที่ 18,468 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าปี 2019 จะเพิ่มขึ้นเป็น 18,992 ล้านบาทด้วย
จับตาสถานการณ์ประเทศไทย ในวันที่ 5G ยังไร้อนาคต
นอกจากเปิดตัวเลขมูลค่าของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในตลาดสื่อสารแล้ว สิ่งที่น่าสนใจตามมาอีกข้อก็คือ สถานการณ์เช่นนี้มีข้อเด่นข้อด้อยอะไรซ่อนอยู่บ้างเพื่อให้ฝั่งของธุรกิจได้นำไปใช้ประโยชน์
โดยในฝั่งของข้อดีนั้น หลัก ๆ คือเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง ทั้งการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพร้อมจะทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ทำให้เรามีโอกาสเห็นการเติบโตของตลาด IoT, VDO On Demand มากขึ้นในปีนี้
ส่วนข้อเสียหรือที่หลายคนเรียกว่าความท้าทายนั้น งานวิจัยดังกล่าวชี้ว่ามีมากกว่าข้อดี หลัก ๆ เป็นเรื่องของการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การแข่งขันด้านราคาค่าใช้บริการได้
นอกจากนี้ รายงานของ กสทช. ยังพบว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ลดลง ส่วนการจะหวังว่าเทคโนโลยีการสื่อสารยุคหน้าอย่าง 5G จะเข้ามาช่วยขยายการเติบโตของเศรษฐกิจก็พบว่ายังไม่มีความพร้อมในด้านต่าง ๆ มากนัก
ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องของกฎหมาย ที่ยังไม่รองรับเทคโนโลยีในอนาคตได้เท่าที่ควร ยกตัวอย่างเช่น การบินโดรน ที่ปัจจุบันกว่าจะขึ้นบินได้อย่างถูกต้องนั้นมีขั้นตอนมากมาย ฯลฯ และทั้งหมดนี้ จึงเป็นความท้าทายให้ธุรกิจไทยต้องก้าวข้ามไปพลาง ๆ ก่อนที่จะเจอกับโจทย์ใหญ่อย่าง 5G ในปี 2020 นั่นเอง