เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับ Hertz หนึ่งในแบรนด์รถเช่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในเครือ Hertz Global Holdings ซึ่งต้องบอกว่าธุรกิจของแบรนด์นี้ครอบคลุมทั้งในอเมริกาเหนือ, ยุโรป, ละตินอเมริกา, แอฟริกา, ตะวันออกกลาง, เอเชีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ รวมถึงคาบสมุทรแคริบเบียนกันเลยทีเดียว โดยล่าสุดทาง Hertz ได้เปิดตัวแอปเวอร์ชันใหม่ออกมาแล้ว พร้อมชี้ว่าผลงานการพัฒนาครั้งนี้ช่วยให้บริษัทให้บริการลูกค้านักเดินทางได้เร็วขึ้น แถมยังสร้างประสบการณ์การเช่ารถได้แบบ Personalized ด้วย
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เบื้องหลังของมันคือคดีความมูลค่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐที่ Hertz ต้องหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐอเมริกาช่วยตัดสิน โดยมีคู่ความเป็นบริษัท Accenture อดีตที่ปรึกษา และเป็นผู้รับพัฒนาโปรเจ็คแอปพลิเคชันนั่นเอง
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน เมื่อ Hertz ตัดสินใจออกแบบเว็บไซต์และแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์โมบายล์ใหม่ เพื่ออัปเกรดประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าทั่วโลก ซึ่งเป้าหมายของ Hertz นั้นไม่ได้ต้องการพัฒนาแค่ระบบของตัวเอง แต่ยังรวมถึงแบรนด์ของบริษัทในเครือเดียวกันอย่าง Dollar และ Thrifty ด้วย บริษัทจึงได้ตัดสินใจว่าจ้าง Accenture เข้ามาช่วยพัฒนาระบบในเดือนสิงหาคม 2016
โดยความต้องการของ Hertz ก็คืออยากให้ระบบใหม่รองรับการแสดงผลได้บนอุปกรณ์ทุกประเภท (Responsive Design) ทั้งคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต และ Hertz ตั้งเป้าไว้ว่า ระบบใหม่ควรจะพร้อมให้บริการได้ในเดือนธันวาคม 2017
อย่างไรก็ดี Accenture ไม่สามารถส่งมอบผลงานได้ทัน จึงมีการเลื่อนออกไปเป็นเดือนมกราคม 2018 แทน แต่ Accenture ก็ยังไม่สามารถส่งมอบงานได้อีก จนฟางเส้นสุดท้ายมาขาดผึง เมื่อเดือนเมษายน 2018 ที่ Accenture ก็ยังส่งมอบผลงานไม่ได้
ผลก็คือ Hertz ตัดสินใจเลิกจ้าง Accenture ในเดือนพฤษภาคม 2018 ซึ่งในเวลานั้น บริษัทต้องจ่ายเงินค่าพัฒนาระบบทั้งสิ้น 32 ล้านเหรียญสหรัฐให้แก่ Accenture หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 1,020 ล้านบาทตามสัญญาด้วย
แต่ที่น่าตกใจก็คือ Hertz ระบุว่า ระบบที่ Accenture พัฒนาให้นั้นไม่สามารถใช้งานได้ตามที่ว่าจ้าง เนื่องจากมีการพัฒนาให้แสดงผลได้แค่บนคอมพิวเตอร์เดสก์ทอป และสมาร์ทโฟนเท่านั้น ส่วนแท็บเล็ตไม่มีการออกแบบเอาไว้แต่อย่างใด ซึ่ง Hertz ระบุว่า Accenture เรียกเงินค่าพัฒนาเพิ่มหลักแสนเหรียญสหรัฐ หากต้องการเวอร์ชันแท็บเล็ต
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะไซต์ที่ Accenture ส่งมอบมานั้น เป็นไซต์สำหรับ Hertz ในอเมริกาเหนือเท่านั้น ในจุดนี้ Hertz เคยชี้แจงว่าต้องการให้มีการวางโครงสร้างของไซต์ให้รองรับธุรกิจของบริษัททั่วโลก รวมถึงแบรนด์ของบริษัทในเครืออย่าง Dollar และ Thrifty ด้วย การส่งมอบแค่ไซต์ Hertz ในอเมริกาเหนือ จึงเท่ากับว่า Hertz ในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น สหภาพยุโรป รวมถึงแบรนด์ Dollar และ Thrifty ไม่มีตัวตนในการอัปเกรดนี้แต่อย่างใด
นั่นจึงนำไปสู่การเดินหน้าขอเงินค่าจ้าง 32 ล้านเหรียญสหรัฐคืน รวมถึงการเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการที่ Hertz ต้องมานั่งแก้ไขระบบ และออกแบบใหม่นั่นเอง